สงครามครั้งยิ่งใหญ่

9/45

บท 6 - ฮัสและเจอโรมี

พระกิตติคุณฝังรากในประเทศโบฮีเมียแต่แรกแล้วตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 9 พระคัมภีร์แปลออกมาแล้ว และมีการจัดประชุมนมัสการในที่สาธารณะด้วยภาษาของประชาชน แต่ในขณะที่อิทธิพลของพระสันตะปาปาแผ่ขยายมากขึ้น พระวจนะของพระเจ้าก็ยิ่งถูกบดบัง พระสันตะปาปาเกรกอรีที่ 7 ทรงลงมือเองเพื่อสยบกษัตริย์ทั้งหลายที่ทะนงตนไม่เชื่อฟัง และก็ไม่ทรงลดละความตั้งใจที่จะครอบงำประชาชนให้เป็นทาสอีกด้วย และเพื่อการนี้จึงประกาศพระราชกฤษฎีกาห้ามการประชุมนมัสการในที่สาธารณะด้วยภาษาของชาวโบฮีเมีย พระสันตะปาปาทรงประกาศว่า “พระเจ้าองค์สัพพัญญูทรงพอพระทัยกับการนมัสการพระองค์ด้วยภาษาที่คนไม่รู้จัก ความชั่วร้ายและคำสอนนอกรีตมากมายเกิดขึ้นมาเนื่องจากการไม่ถือรักษากฎระเบียบข้อนี้” Wylie เล่มที่ 3 บทที่ 1 ด้วยประการฉะนี้ โรมจึงบัญชาว่าแสงสว่างจากพระวจนะของพระเจ้าจะต้องดับไปและจะต้องกักขังประชาชนไว้ในที่มืด แต่พระเจ้าทรงจัดเตรียมตัวแทนอื่นๆ เพื่อปกป้องรักษาคริสตจักรให้คงไว้ ชาววอลเดนซิสและชาวอัลบีเจียนซิสที่ถูกกดขี่ข่มเหงให้ทิ้งบ้านของตนในประเทศฝรั่งเศสและประเทศอิตาลีได้เดินทางไปยังประเทศโบฮีเมีย แม้ว่าพวกเขาไม่กล้าที่จะสอนอย่างเปิดเผย แต่ก็ทำงานอย่างลับๆ ด้วยความกระตือรือร้น ด้วยวิธีนี้ความเชื่อที่ถูกต้องจึงถูกถนอมเก็บรักษาไว้จากศตวรรษหนึ่งไปยังอีกศตวรรษหนึ่ง {GC 97.1} GCth17 81.1

ก่อนสมัยของฮัส มีคนในประเทศโบฮีเมียลุกขึ้นประณามอย่างเปิดเผยต่อความเสื่อมทรามในคริสตจักรและความเสเพลหลงระเริงของประชาชน ผลงานของพวกเขาปลุกความสนใจไปอย่างกว้างขวาง ปลุกความวิตกของสภาปกครองสงฆ์ และเปิดฉากการกดขี่ข่มเหงสาวกของพระกิตติคุณ พวกเขาถูกกดดันให้ต้องหนีไปนมัสการในป่าและตามภูเขา พวกทหารไล่ล่าพวกเขาและมีคนมากมายถูกสังหาร เวลาผ่านไปอีกระยะหนึ่งมีคำสั่งประกาศให้เผาทุกคนที่ออกไปจากการนมัสการแบบโรมันนิยม แต่ในขณะที่คริสเตียนต่างยอมพลีชีพ พวกเขาก็เฝ้ารอคอยชัยชนะในอุดมการณ์ของพวกเขา มีคนหนึ่ง “สอนว่าความรอดจะได้มาโดยความเชื่อในพระผู้ช่วยให้รอดผู้ทรงถูกตรึงบนกางเขนเท่านั้น” เขาประกาศก่อนสิ้นใจว่า “บัดนี้ความโกรธแค้นของศัตรูแห่งความจริงโหมกระหน่ำใส่พวกเรา แต่จะไม่เป็นเช่นนี้ตลอดไป ท่ามกลางคนธรรมดาสามัญจะมีคนหนึ่งปรากฏตัวขึ้นปราศจากดาบและอำนาจ และพวกเขาจะไม่มีทางเอาชนะเขา” Ibid. เล่มที่ 3 บทที่ 1 ยุคของลูเธอร์ยังอยู่ห่างไกล แต่มีผู้หนึ่งกำลังปรากฏตัว คำพยานของเขาที่ต่อต้านโรมจะปลุกคนทั้งประเทศ {GC 97.2} GCth17 81.2

ยอห์น ฮัส [John Huss] เกิดมายากจน และกำพร้าตั้งแต่เด็กเนื่องจากพ่อตาย คุณแม่ผู้เคร่งศาสนาเชื่อมั่นว่าการศึกษาและความยำเกรงพระเจ้าเป็นสมบัติล้ำค่าที่สุด จึงแสวงหามรดกนี้ให้บุตรชายของเธอ ฮัสเรียนที่โรงเรียนท้องถิ่นแล้วจึงไปต่อที่มหาวิทยาลัยในกรุงปราก เขาเรียนด้วยทุนการศึกษาการกุศล เขาเดินทางไปกรุงปรากพร้อมกับคุณแม่ที่เป็นทั้งแม่ม่ายและยากจน เธอไม่มีของฝากที่มีคุณค่าทางฝ่ายโลกเพื่อมอบให้บุตรชายของเธอ แต่ในขณะที่เดินทางใกล้จะถึงเมืองหลวง เธอคุกเข่าลงข้างลูกน้อยไร้พ่อและทูลขอพระพรจากพระบิดาบนสวรรค์ของทั้งสอง คุณแม่คนนั้นไม่รู้เลยว่าคำอธิษฐานของเธอจะได้รับคำตอบอย่างไร {GC 98.1} GCth17 82.1

ที่มหาวิทยาลัย ฮัสก้าวขึ้นสู่ความโดดเด่นในไม่ช้าด้วยความตั้งใจเรียนอย่างไม่รู้จักเหนื่อยและเขาพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ชีวิตอย่างไม่มีที่ติและกิริยาท่าทางอันอ่อนสุภาพและชนะใจผู้อื่นนั้นทำให้เขาเป็นที่ชื่นชอบอย่างกว้างขวาง เขาฝักใฝ่ด้วยความจริงใจต่อคริสตจักรโรมันและเป็นผู้ที่แสวงหาอย่างเอาจริงเอาจังต่อพระพรทางฝ่ายวิญญาณที่คริสตจักรโรมันอ้างเป็นผู้ประทาน ในเทศกาลฉลองครบรอบห้าสิบปีครั้งหนึ่งเขาไปสารภาพบาป เขาชำระเศษเหรียญสุดท้ายจากเงินที่เขามีอยู่น้อยนิดและเข้าร่วมเดินในขบวนเพื่อหวังจะได้ส่วนแบ่งของการอภัยอย่างหมดจดตามที่สัญญา หลังจากที่เขาเรียนจบวิทยาลัย เขาบวชเป็นพระและก้าวขึ้นสู่ความโดดเด่นอย่างรวดเร็ว ไม่นานเขาไปรับใช้อยู่ในสำนักพระราชวัง เขายังได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์และต่อมาดำรงตำแหน่งเป็นอธิการบดีของมหาวิทยาลัยที่เขาเคยเรียนมาก่อน ในเวลาเพียงไม่กี่ปี นักเรียนทุนผู้ยากจนก้าวขึ้นไปสู่ตำแหน่งที่น่าภาคภูมิของประเทศและชื่อของเขาเป็นที่รู้จักกันทั่วทวีปยุโรป {GC 98.2} GCth17 82.2

แต่เป็นอีกสาขาหนึ่งที่ฮัสเริ่มงานของการปฏิรูป หลังจากที่เขารับตำแหน่งบาทหลวงมาแล้วหลายปี เขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนักเทศน์ประจำโบสถ์เล็กๆ ของเมืองเบธเลเฮม ผู้ก่อตั้งโบสถ์แห่งนี้ย้ำอย่างหนักแน่นถึงความสำคัญของการเทศนาสอนพระคัมภีร์ด้วยภาษาของประชาชน ถึงแม้จะมีคำสั่งห้ามของโรมในการปฏิบัติเรื่องนี้ก็ตาม ประเทศโบฮีเมียก็ไม่ได้เลิกไปเสียทั้งหมด แต่การขาดความรู้เรื่องพระคัมภีร์ยังมีมาก และความชั่วช้าร้ายแรงที่สุดเกิดขึ้นอย่างดาษดื่นท่ามกลางประชากรทุกชนชั้น ฮัสประณามความชั่วเหล่านี้อย่างไม่ลดละ เขาอ้อนวอนขอให้ใช้พระวจนะของพระเจ้ามาเป็นหลักการแห่งความจริงและความบริสุทธิ์ที่เขาพร่ำสอนอยู่มาใช้ {GC 99.1} GCth17 82.3

เจอโรมี [Jerome] เป็นพลเมืองคนหนึ่งของกรุงปราก ต่อมาภายหลังได้มาเป็นเพื่อนร่วมงานที่ใกล้ชิดของฮัส [Huss] เมื่อเขาเดินทางกลับจากประเทศอังกฤษ เขานำผลงานเขียนของไวคลิฟติดตัวกลับมาด้วย พระราชินีแห่งอังกฤษที่กลับใจมาเชื่อคำสอนของไวคลิฟ ทรงเป็นเจ้าหญิงชาวโบฮีเมีย และโดยอาศัยอิทธิพลส่วนหนึ่งของเธอ ผลงานของนักปฏิรูปศาสนาท่านนี้จึงกระจายไปอย่างกว้างขวางในประเทศบ้านเกิดของพระองค์ ฮัสอ่านผลงานเหล่านี้ด้วยความสนใจ เขาเชื่อว่าผู้ประพันธ์จะต้องเป็นคริสเตียนที่จริงใจและเกิดความโน้มเอียงที่จะเชื่อการปฏิรูปที่ท่านสอน ฮัสก้าวเข้าสู่เส้นทางที่จะนำเขาออกห่างจากโรมแล้วโดยไม่รู้ตัว {GC 99.2} GCth17 83.1

ในช่วงเวลานี้ มีชายแปลกหน้า 2 คน เดินทางจากประเทศอังกฤษมาถึงกรุงปราก ทั้งสองเป็นคนมีการศึกษา พวกเขาผู้ได้รับความกระจ่างแห่งสัจธรรมมาแล้วและเดินทางมาเพื่อเผยแพร่ในดินแดนที่ห่างไกลนี้ พวกเขาเริ่มงานด้วยการโจมตีความเป็นใหญ่ของพระสันตะปาปาอย่างเปิดเผย ในไม่ช้า ผู้ที่อยู่ในอำนาจก็ได้มาจัดการให้พวกเขาเงียบเสียงไป แต่พวกเขาไม่ยอมทิ้งความมุ่งมั่นไปจึงพยายามหาวิธีอื่นมาแทน ทั้งสองเป็นทั้งจิตรกรและนักเทศน์ จึงเดินหน้าเอาความสามารถที่มีอยู่ในตัวออกมาใช้ ในสถานที่สาธารณะแห่งหนึ่ง พวกเขาวาดภาพไว้สองภาพ ภาพหนึ่งแสดงให้เห็นการเดินทางของพระเยซูเข้ากรุงเยรูซาเล็ม “ด้วยความสุภาพอ่อนโยน พระองค์ทรงลา ทรงลูกลา” มัทธิว 21:5 สาวกสวมเสื้อเปื้อนฝุ่นจากการเดินทางตามพระองค์ด้วยเท้าเปล่า อีกรูปหนึ่งแสดงภาพขบวนแห่ของพระสันตะปาปา พระสันตะปาปาสวมเสื้อคลุมโอ่อ่าและสวมมงกุฎสามชั้น ขี่ม้าที่ตกแต่งอย่างงามสง่า มีคนเป่าแตรนำหน้าขบวนและตามมาด้วยพระคาร์ดินัลและพระราชาคณะแต่งกายอย่างหรูหรา {GC 99.3} GCth17 83.2

นี่คือบทเทศน์ที่ดึงดูดความสนใจของคนทุกชนชั้น ฝูงชนกรูเข้ามาดูภาพวาด ไม่มีผู้ใดมองไม่เห็นคติธรรมที่แฝงอยู่ในภาพและหลายคนประทับใจอย่างลึกซึ้งถึงความแตกต่างระหว่างความอ่อนสุภาพและความถ่อมตนของพระคริสต์ผู้ทรงเป็นพระอาจารย์กับความภูมิฐานของพระสันตะปาปาที่ประกาศว่าตนเป็นผู้รับใช้ของพระองค์ เกิดความแตกตื่นยิ่งใหญ่ขึ้นในกรุงปราก เวลาผ่านไประยะหนึ่งคนแปลกหน้าทั้งสองก็เห็นว่าจำเป็นต้องไปจากที่นี่เพื่อความปลอดภัยของตนเอง แต่ไม่มีใครลืมบทเรียนที่พวกเขาสอนไว้ ภาพวาดส่งผลอย่างแรงต่อความคิดของฮัสและผลักดันให้เขาใส่ใจศึกษาพระคัมภีร์และงานเขียนของไวคลิฟให้มากยิ่งขึ้น แม้ในเวลานั้นเขายังไม่พร้อมที่จะปฏิรูปงานทั้งหมดตามที่ไวคลิฟเสนอแนะ เขามองเห็นอุปนิสัยแท้จริงของระบอบเปปาซีได้อย่างชัดเจนแล้วและด้วยความกระตือรือร้นอย่างแรงกล้า เขาประณามความหยิ่งยโส ความทะเยอทะยานและความเสื่อมโทรมของบรรดาพระราชาคณะ {GC 100.1} GCth17 83.3

จากประเทศโบฮีเมีย แสงสว่างส่องขยายออกไปยังประเทศเยอรมนี เนื่องจากความไม่สงบเกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยปราก นักศึกษาชาวเยอรมันจำนวนนับร้อยลาออกไป นักศึกมากมายในจำนวนนั้นได้รับความรู้เรื่องพระคัมภีร์เป็นครั้งแรกจากฮัส และเมื่อพวกเขากลับไปยังประเทศของตนจึงประกาศกิตติคุณในบ้านเกิดของตน {GC 100.2} GCth17 83.4

ข่าวของงานที่กรุงปรากถูกรายงานไปถึงกรุงโรม และในไม่ช้าฮัสได้รับคำสั่งให้ไปปรากฏตัวต่อหน้าพระสันตะปาปา การทำตามคำสั่งก็เท่ากับการนำตนเองไปหาความตายอย่างแน่นอน กษัตริย์และราชินีแห่งประเทศโบฮีเมีย มหาวิทยาลัย สมาชิกสภา ขุนนางและข้าราชการของรัฐบาลเข้าร่วมถวายฎีกาต่อพระสันตะปาปาเพื่อขออนุญาตให้ฮัสยังคงอยู่กรุงปรากและตอบโรมโดยทางผู้แทน แทนที่พระสันตะปาปาจะทรงอนุมัติคำขอนี้กลับดำเนินการพิพากษาและตัดสินลงโทษประหารชีวิตฮัสและทรงประกาศให้กรุงปรากเป็นเมืองต้องห้าม {GC 100.3} GCth17 84.1

ในยุคสมัยนั้น เมื่อใดที่มีการประกาศคำตัดสินเช่นนี้จะก่อให้เกิดความตื่นตระหนกไปถ้วนทั่ว การประกอบพิธีในการประกาศคำตัดสินนี้ถูกปรับเพื่อสร้างการขู่ขวัญต่อประชาชนที่มองพระสันตะปาปาเป็นผู้แทนของพระเจ้า พระองค์ทรงเป็นผู้ถือลูกกุญแจของสวรรค์และของนรกและมีอำนาจที่จะตัดสินพิพากษาทั้งทางฝ่ายโลกและฝ่ายวิญญาณ เป็นที่เชื่อกันว่าประตูสวรรค์จะปิดให้กับอาณาบริเวณที่ถูกคำสั่งต้องห้ามอย่างนี้ จนกว่าจะทำให้พระสันตะปาปาพึงพอใจที่จะยกเลิกคำสั่งห้าม คนตายจะถูกปิดกั้นจากที่พักพิงแห่งความสุขสำราญ เพื่อเป็นเครื่องหมายแสดงถึงความหายนะที่น่ากลัวนี้ พิธีทางศาสนาทั้งหมดถูกยกเลิก โบสถ์ต่างๆ ถูกปิดลง พิธีสมรสประกอบกันในสนามหญ้าหน้าโบสถ์ ห้ามฝังคนตายในที่ดินศักดิ์สิทธิ์ แต่จะนำไปฝังในร่องสวนหรือท้องทุ่งโดยไม่มีการประกอบพิธีศาสนา ด้วยการใช้มาตรการเพื่อให้เข้าถึงจินตนาการเช่นนี้ โรมลงแรงแสดงอำนาจเพื่อเข้าควบคุมจิตสำนึกของมนุษย์ {GC 101.1} GCth17 84.2

ความโกลาหลมีอยู่ทั่วไปในกรุงปราก มีชนกลุ่มใหญ่ประณามฮัสว่าเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดความหายนะนี้และยื่นคำขาดว่าจะต้องส่งมอบเขาให้โรมชำระความแค้น นักปฏิรูปศาสนาคนนี้หลบไปอาศัยอยู่ในหมู่บ้านเกิดชั่วระยะเวลาหนึ่งเพื่อทำให้พายุสงบ เขาเขียนจดหมายถึงเพื่อนที่กรุงปรากซึ่งเขาจากมาว่า “ที่ข้าพเจ้าถอนตัวจากสังคมในหมู่พวกท่านก็เพื่อดำเนินตามคำสอนและแบบอย่างของพระเยซูคริสต์ เพื่อจะไม่เปิดโอกาสให้ผู้ไม่ประสงค์ดีทำบาปจนต้องรับโทษพินาศชั่วนิรันดร์มาสู่ตนเองและเพื่อไม่เป็นต้นเหตุให้คนเคร่งศาสนาเกิดความเจ็บปวดและรับการกดขี่ข่มเหงมากขึ้น ข้าพเจ้าถอยออกมาด้วยความกลัวเช่นกันว่าบาทหลวงที่ไม่เคร่งครัดจะคอยขัดขวางการประกาศพระวจนะของพระเจ้าในหมู่พวกท่านทั้งหลายให้เนิ่นนานต่อไป แต่ข้าพเจ้าไม่ได้ถอยออกมาเพื่อให้ท่านปฏิเสธสัจธรรมของพระเจ้าซึ่งเป็นสิ่งที่หากเป็นพระประสงค์ของพระเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าเต็มใจที่จะตาย” Bonnechose, The Reformers Before the Reformation เล่มที่ 1 หน้า 87 ฮัสไม่ได้ยุติภารกิจของเขา แต่เดินทางไปทั่วชนบทโดยรอบ เทศนาให้กับฝูงชนที่กระตือรือร้น ด้วยประการฉะนี้ มาตรการที่พระสันตะปาปาใช้เพื่อกำจัดข่าวประเสริฐกลับส่งผลให้ข่าวนี้แพร่กระจายออกไปอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น “เราไม่อาจทำสิ่งใดที่ขัดกับความจริง แต่ทำเพื่อความจริง” 2 โครินธ์ 13:8 {GC 101.2} GCth17 84.3

“ณ จุดนี้ในอาชีพของเขา สมองของฮัสดูเหมือนว่าตกอยู่ในภาพความขัดแย้งที่น่าเจ็บปวด แม้ว่าคริสตจักรใช้ความพยายามครอบงำเขาด้วยการขู่ฟ้าผ่าก็ตาม เขาก็ยังไม่ปฏิเสธอำนาจของเธอ สำหรับเขาแล้ว คริสตจักรโรมันยังเป็นเจ้าสาวของพระคริสต์และพระสันตะปาปายังทรงเป็นตัวแทนและผู้แทนของพระเจ้า สิ่งที่ฮัสกำลังทำสงครามต่อต้านอยู่นั้นคือการใช้อำนาจไปในทางที่ผิด ไม่ใช่การต่อต้านหลักการ เรื่องนี้สร้างความขัดแย้งรุนแรงที่เกิดขึ้นระหว่างความเข้าใจถูกผิดของเขากับการเรียกร้องของจิตสำนึกของเขา หากอำนาจนั้นยุติธรรมและไม่รู้พลั้ง ตามความเชื่อของเขา แล้วทำไมเขาจึงต้องรู้สึกว่าถูกบังคับให้ขัดขืนมัน หากทำตาม เขาก็จะทำบาปตามที่เขาเข้าใจ แล้วทำไมการเชื่อฟังคริสตจักรที่ไม่รู้พลั้งนี้จึงต้องนำไปสู่ประเด็นนี้ นี่เป็นปัญหาที่เขาแก้ไม่ได้ นี่เป็นความสงสัยที่คอยตามทรมานเขาชั่วโมงแล้วชั่วโมงเล่า คำตอบใกล้เคียงที่สุดที่เขาประเมินได้คือเหตุการณ์เช่นนี้ได้เกิดขึ้นอีกแล้วเหมือนก่อนหน้านั้นในสมัยของพระผู้ช่วยให้รอด เมื่อปุโรหิตของคริสตจักรกลายเป็นคนชั่วร้ายและกำลังใช้อำนาจตามกฎหมายเพื่อเป้าหมายที่ผิดกฎหมาย เรื่องนี้ทำให้เขานำหลักเกณฑ์ในคำสอนของพระคัมภีร์มาใช้เป็นแนวทางของตนเองและเทศนาสอนให้ผู้อื่นทำเช่นกัน สำหรับพวกเขาเอง จะต้องเอาความเข้าใจในพระคัมภีร์มาควบคุมจิตสำนึก กล่าวอีกนัยหนึ่ง แนวทางที่ไม่รู้พลั้งคือพระวจนะที่พระเจ้าตรัสผ่านทางพระคัมภีร์และไม่ใช่สิ่งที่คริสตจักรพูดผ่านบาทหลวงของคริสตจักร Wylie เล่มที่ 3 บทที่ 2 {GC 102.1} GCth17 85.1

เวลาผ่านไปอีกระยะหนึ่งเมื่อความตื่นเต้นในกรุงปรากเริ่มบรรเทาลง ฮัสกลับไปยังโบสถ์เล็กๆ ของเขาที่เมืองเบธเลเฮม เพื่อเทศนาพระวจนะของพระเจ้าต่อไปด้วยความกระตือรือร้นและความกล้าหาญยิ่งขึ้น ศัตรูของเขาแข็งขันและเต็มล้นด้วยอำนาจ แต่พระราชินีและขุนนางมากมายเป็นมิตรสหายของเขาและประชาชนอีกมากมายอยู่ข้างเขา เมื่อเปรียบเทียบคำสอนที่บริสุทธิ์และสูงส่งและชีวิตที่บริสุทธิ์ของเขากับหลักธรรมเสื่อมโทรมที่ลัทธิโรมันเทศนาบวกกับชีวิตที่โลภและเสเพลที่บรรดาผู้นิยมลัทธิโรมันปฏิบัติทำให้คนมากมายถือว่าเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่แสดงตนเข้าข้างเขา {GC 102.2} GCth17 85.2

จนกระทั่งบัดนี้ ฮัสยังอยู่โดดเดี่ยวในการทำงาน แต่ในเวลานี้เจอโรมีที่รับเชื่อคำสอนของไวคลิฟตั้งแต่อยู่ในประเทศอังกฤษนั้นได้เข้ามาร่วมในงานของการปฏิรูปแล้ว ตั้งแต่เวลานั้นเป็นต้นมา ทั้งสองเข้าร่วมกันทั้งในความเป็นและความตายและจะไม่พรากจากกัน ความฉลาดที่หลักแหลม วาทะศิลป์โดดเด่นดีเลิศและความรู้สูงเป็นคุณสมบัติที่ชนะใจผู้คนนั้นล้วนมีเพียบพร้อมอยู่ในตัวของเจอโรมี แต่คุณสมบัติต่างๆ ที่เป็นจุดแข็งของอุปนิสัยนั้น ฮัสจะเหนือกว่า จิตใจที่สงบนิ่งของเขาทำหน้าที่ยับยั้งความหุนหันพลันแล่นของเจอโรมีได้อย่างเหมาะสม ส่วนเจอโรมีนั้น ด้วยความถ่อมใจที่แท้จริง ตระหนักถึงคุณค่าของเพื่อนคนนี้ ยอมรับคำแนะนำของฮัสแต่โดยดี ภายใต้การทำงานร่วมกันของคนทั้งสอง งานการปฏิรูปขยายตัวไปอย่างรวดเร็ว {GC 102.3} GCth17 85.3

พระเจ้าประทานความกระจ่างอันยิ่งใหญ่ส่องมายังสมองของชายที่ได้รับการเลือกสรรเหล่านี้ พระองค์ทรงเปิดเผยให้พวกเขามองเห็นข้อผิดพลาดมากมายของโรม แต่พวกเขาไม่ได้รับความกระจ่างทั้งหมดที่จะทรงมอบให้โลก พระเจ้าทรงกำลังนำคนทั้งหลายให้ออกจากความมืดของลัทธิโรมัน โดยผ่านบุคคลเหล่านี้ซึ่งเป็นผู้รับใช้ของพระองค์ แต่ยังมีอุปสรรคมากมายและใหญ่หลวงที่พวกเขาต้องรับมือและพระองค์ทรงนำพวกเขาต่อไปทีละก้าวตามที่พวกเขาจะทนรับได้ พวกเขาไม่พร้อมที่จะรับความกระจ่างทั้งหมดในทันที ดั่งรัศมีเจิดจ้าของดวงอาทิตย์ยามเที่ยงวันสำหรับผู้ที่มีชีวิตอยู่ในความมืดเป็นเวลานาน หากนำเสนอให้แก่พวกเขาในทันทีทั้งหมดก็คงจะทำให้เขาทั้งหลายหันหนี ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงทรงเปิดเผยให้แก่ผู้นำเหล่านี้ทีละเล็กทีละน้อยตามที่ประชาชนจะรับได้ จากศตวรรษหนึ่งถึงอีกศตวรรษหนึ่ง คนงานซื่อสัตย์อื่นๆ จะเดินตามเพื่อนำประชาชนต่อไปบนเส้นทางของงานปฏิรูป {GC 103.1} GCth17 86.1

ความแตกแยกในคริสตจักรยังคงดำเนินต่อไป ตอนนี้มีพระสันตะปาปาถึงสามองค์กำลังแก่งแย่งความเป็นใหญ่และการต่อสู้ทำให้คริสตศาสนจักรเต็มไปด้วยอาชญากรรมและความวุ่นวาย พระสันตะปาปาทั้งสามองค์ไม่หนำใจกับการประณามสาดใส่กัน ยังหันไปใช้อาวุธของทางโลก แต่ละฝ่ายทุ่มทุนควานหารอบตัวเพื่อซื้ออาวุธและเกณฑ์ทหาร แน่นอนทีเดียวจะต้องใช้ทรัพย์สินเงินทองมากมาย และเพื่อให้ได้อาวุธเหล่านี้มา อสังหาริมทรัพย์ ตำแหน่งและของประทานต่างๆ ของคริสตจักรถูกประกาศขาย (โปรดดูภาคผนวกสำหรับหน้า 59) บาทหลวงทั้งหลายต่างเลียนแบบผู้บังคับบัญชาที่อยู่เหนือขึ้นไปด้วยการใช้ศาสนาหาผลประโยชน์ทางการค้าและการทำสงครามเพื่อสยบคู่แข่งและทำให้อำนาจของตนเองแข็งแกร่งขึ้น ด้วยความกล้าหาญที่เพิ่มขึ้นทุกวัน ฮัสประณามความน่ารังเกียจซึ่งยอมให้เกิดขึ้นในนามของศาสนานั้น และประชาชนพากันต่อว่าผู้นำชาวโรมอย่างเปิดเผยที่เป็นสาเหตุในการทำให้เกิดความทุกข์โศกเศร้าที่มีอย่างดาษดื่นในคริสต์ศาสนจักร {GC 103.2} GCth17 86.2

อีกครั้งหนึ่ง ดูประหนึ่งว่ากรุงปรากใกล้จะตกอยู่กลางสนามห้ำหั่นที่นองเลือด เช่นเดียวกับสมัยอดีตที่ผ่านมา ผู้รับใช้ของพระเจ้าถูกกล่าวหาว่าเป็น “ผู้ทำความลำบากให้อิสราเอล” 1 พงศ์กษัตริย์ 18:17 เมืองนี้ตกอยู่ภายใต้การควบคุมอีกครั้ง ฮัสถอนตัวกลับไปยังหมู่บ้านถิ่นเกิดของเขา คำพยานที่เขากล่าวอย่างซื่อสัตย์จากโบสถ์เล็กๆ แห่งเมืองเบธเลเฮมที่เขารักยิ่งนั้นต้องยุติลง เขาจะต้องพูดจากเวทีที่กว้างใหญ่กว่านี้ ประกาศให้แก่โลกคริสเตียนก่อนที่เขาจะสังเวยชีวิตในฐานะพยานให้กับความจริง {GC 104.1} GCth17 86.3

เพื่อแก้ไขความชั่วที่กำลังรบกวนประเทศต่างๆ ในยุโรปให้หมดไป มีคำสั่งเรียกประชุมสภานัดทั่วไปที่เมืองคอนสแตนซ์ คำสั่งนี้มีขึ้นตามดำริของจักรพรรดิซีจิสมันด์ [Sigismund] ออกโดยพระสันตะปาปายอห์นที่ 23 ซึ่งเป็นหนึ่งในสามของพระสันตะปาปาคู่แข่ง การขอให้เปิดประชุมสภาเป็นสิ่งที่พระสันตะปาปายอห์นไม่ประสงค์ให้มีขึ้น เพราะตามอุปนิสัยและนโยบายของพระองค์นั้นไม่น่าผ่านการตรวจสอบของแม้แต่พระราชาคณะผู้มีศีลธรรมหละหลวมเหลวไหลพอๆ กับนักบวชของยุคนั้น แต่พระองค์ไม่กล้าขัดขวางพระประสงค์ของจักรพรรดิซีจิสมันด์ (โปรดดูภาคผนวก) {GC 104.2} GCth17 87.1

จุดประสงค์หลักของการประชุมสภานี้คือสมานความแตกร้าวในคริสตจักรและถอนรากการสอนนอกรีตออกไป ด้วยเหตุนี้จึงมีคำสั่งให้พระสันตะปาปาสององค์ที่ค้านกันมาปรากฏตัวต่อหน้าสภารวมทั้งยอห์น ฮัสผู้นำการเผยแพร่แนวคิดใหม่ด้วย คนกลุ่มแรกที่คิดถึงความปลอดภัยของตนเองนั้นไม่ได้มาเข้าร่วมด้วยตนเอง แต่ส่งผู้แทนมาปรากฎ พระสันตะปาปายอห์นในขณะที่แสดงออกให้เห็นว่าเป็นผู้เรียกการประชุมสภานั้นได้เข้ามาด้วยความหวาดหวั่นอย่างยิ่ง ตั้งข้อสงสัยว่าจักรพรรดิมุ่งหมายอย่างลับๆ ที่จะปลดตนเองออกจากตำแหน่งทั้งยังกังวลถึงการถูกเปิดโปงเรื่องความชั่วร้ายที่ตนเองได้หลู่เกียรติตำแหน่งของพระสันตะปาปา รวมทั้งอาชญากรรมต่าง ๆ ที่พระองค์ทำเพื่อได้มาซึ่งตำแหน่งนี้ อย่างไรก็ตามพระองค์ทรงพระดำเนินเข้าเมืองคอนสแตนซ์ด้วยความโอ่อ่าตระการตา มีผู้อยู่ในตำแหน่งสูงศักดิ์ในศาสนาต่างๆ เข้าร่วมอยู่ในขบวน ตามด้วยข้าราชสำนักขบวนใหญ่ คณะสงฆ์และเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ของเมืองพร้อมด้วยประชาชนมากมายออกไปต้อนรับพระองค์ เหนือพระเศียรของพระองค์มีกลดทองคำที่หามโดยพนักงานสี่คนของศาลของพระมหากษัตริย์ ฝูงชนขนาดใหญ่เดินนำหน้าพระองค์และชุดอาภรณ์ที่สวยงามของพระคาร์ดินัลและขุนนางทั้งหลายแสดงออกถึงความสง่าโอ่โถง {GC 104.3} GCth17 87.2

ในเวลาเดียวกัน มีอีกคนหนึ่งกำลังเดินทางมุ่งหน้ามายังเมืองคอนสแตนซ์เช่นกัน ฮัสตระหนักถึงภัยอันตรายที่กำลังคุกคามเขาอยู่ เขาลามิตรสหายราวกับว่าจะไม่มีโอกาสพบกับพวกเขาอีกและออกเดินทางไปด้วยความรู้สึกว่าเป็นทางที่กำลังนำเขาไปสู่หลักเผาทั้งเป็น แม้ว่าเขาจะได้รับการคุ้มครองความปลอดภัยจากกษัตริย์แห่งประเทศโบฮีเมีย และอีกทางหนึ่งจากจักรพรรดิซีจิสมันด์สำหรับการเดินทางครั้งนี้ก็ตาม เขาเตรียมทุกอย่างด้วยแนวคิดที่จะเผชิญความตายที่มีโอกาสเกิดขึ้น {GC 104.4} GCth17 87.3

ในจดหมายฉบับหนึ่งที่เขียนถึงมิตรสหายของเขาที่กรุงปราก เขากล่าวว่า “พี่น้องของข้าพเจ้า.....ข้าพเจ้าเดินทางไปด้วยการคุ้มครองความปลอดภัยจากกษัตริย์เพื่อไปพบศัตรูที่เป็นมนุษย์และมีเป็นจำนวนมากด้วย…..ข้าพเจ้ามอบความวางใจทั้งหมดในพระเจ้าผู้ทรงพลังอำนาจยิ่งใหญ่ในพระผู้ช่วยให้รอด ข้าพเจ้าเชื่อมั่นว่าพระองค์จะทรงสดับคำอธิษฐานที่ร้อนรนของท่านทั้งหลาย พระองค์จะทรงประสาทความรอบรู้และพระปัญญาไว้ในปากของข้าพเจ้า เพื่อข้าพเจ้าจะสู้พวกเขาได้และพระองค์ทรงโปรดประทานพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระองค์แก่ข้าพเจ้าตามความเหมาะสมเพื่อเสริมข้าพเจ้าให้มั่นคงในความจริงของพระองค์ เพื่อข้าพเจ้าจะเผชิญหน้าด้วยความกล้าหาญกับการทดลอง เรือนจำและหากจำเป็นกับความตายที่โหดเหี้ยม GCth17 87.4

พระเยซูคริสต์ทรงทนทุกข์เพื่อผู้ที่พระองค์ทรงรัก และด้วยเหตุนี้เรายังต้องแปลกใจอีกหรือว่าที่พระองค์ทรงวางแบบอย่างของพระองค์ให้เราก็เพื่อให้เราทั้งหลายจะอดทนต่อความทุกข์ทั้งปวงเพื่อความรอดของเราเอง พระองค์คือพระเจ้า เราคือผู้ที่พระองค์ทรงสร้างขึ้นมา พระองค์ทรงเป็นพระอาจารย์ เราเป็นผู้รับใช้ของพระองค์ พระองค์ทรงเป็นจอมเจ้านายของโลก เราเป็นมนุษย์น่ารังเกียจที่ต้องตาย แต่ถึงกระนั้นพระองค์ทรงทนทุกข์ แล้วทำไมเราจึงไม่ร่วมทุกข์ด้วยเล่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อความทุกข์ยากนั้นเป็นการชำระเราให้บริสุทธิ์ ดังนั้น ท่านที่รัก หากความตายของข้าพเจ้าจะมีส่วนในการถวายเกียรติแด่พระสิริของพระองค์ ขอท่านอธิษฐานให้ความตายมาเร็วๆ และเพื่อให้พระองค์ประทานฤทธานุภาพแก่ข้าพเจ้าในการอดทนต่อความทุกข์ทรมานทั้งสิ้นด้วยความมั่นคง แต่จะดีกว่านี้หากข้าพเจ้าจะกลับมาอยู่ท่ามกลางท่านทั้งหลาย โปรดอธิษฐานต่อพระเจ้าเพื่อให้ข้าพเจ้าจะกลับมาอย่างไร้ตำหนิ นั่นคือเพื่อข้าพเจ้าจะไม่ปิดบังความจริงของพระกิตติคุณไปแม้สักข้อเดียว เพื่อจะวางแบบอย่างที่ดีไว้กับพี่น้องของข้าพเจ้า ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นไปได้ที่ท่านอาจไม่เห็นหน้าข้าพเจ้าที่กรุงปรากอีก แต่หากเป็นน้ำพระทัยของพระเจ้าผู้ทรงฤทธานุภาพที่จะโปรดพระกรุณาให้นำข้าพเจ้ากลับมาหาท่านแล้ว ให้เราก้าวไปข้างหน้าด้วยหัวใจที่มั่นคงกว่านี้ในความรอบรู้และความรักในพระบัญญัติของพระองค์” Bonnechose เล่มที่ 1 หน้าที่ 147, 148 {GC 105.1} GCth17 88.1

ในจดหมายอีกฉบับหนึ่งที่เขียนถึงบาทหลวงคนหนึ่งที่มาเป็นสาวกของข่าวประเสริฐ ฮัสพูดด้วยความถ่อมตนอย่างลึกซึ้งถึงความผิดของตนเอง เขากล่าวโทษตัวเอง “ที่เคยรู้สึกยินดีในการสวมใส่อาภรณ์อย่างหรูและใช้เวลาอย่างสิ้นเปลืองไปกับอาชีพการงานที่ไร้สาระ” แล้วเขาก็ให้คำตักเตือนที่น่าจับใจเพิ่มเติมว่า “ขอให้รำลึกไว้ในใจของท่านเสมอถึงพระสิริของพระเจ้าและความรอดของวิญญาณทั้งปวงแต่ไม่ใช่คำนึงแต่ผลประโยชน์และทรัพย์สมบัติ จงระวังเรื่องการตกแต่งแต่บ้านเรือนของท่านมากกว่าจิตวิญญาณ และเหนือสิ่งอื่นใด จงดูแลวิหารฝ่ายวิญญาณของท่าน จงเมตตาปรานีและนอบน้อมต่อผู้ยากจนและอย่าใช้ทรัพย์สมบัติในการเลี้ยงฉลอง หากท่านไม่ยอมแก้ไขชีวิตของท่านและหลีกเลี่ยงจากการฟุ่มเฟือย ข้าพเจ้ากลัวว่าท่านจะถูกลงโทษอย่างรุนแรงดังเช่นข้าพเจ้า.....ท่านเข้าใจคำสอนของข้าพเจ้าดีเพราะท่านได้รับการสั่งสอนจากข้าพเจ้าตั้งแต่เด็ก จึงเปล่าประโยชน์ที่ข้าพเจ้าจะเขียนถึงท่านมากไปกว่านี้ แต่ข้าพเจ้าขออ้อนวอนท่านผ่านพระคุณของพระเจ้าของเรา จงอย่าทำตามแบบอย่างของข้าพเจ้าในเรื่องไร้สาระที่ท่านเคยเห็นข้าพเจ้าล้มลงต่อสิ่งเหล่านั้น” บนซองจดหมายเขาเขียนเพิ่มเติมว่า “ข้าพเจ้าขอร้องท่าน เพื่อนรัก จงอย่าเปิดตราปิดผนึกนี้จนกว่าท่านได้รับคำยืนยันว่าข้าพเจ้าตายแล้ว” Ibid. เล่มที่ 1 หน้า 148, 149 {GC 105.2} GCth17 88.2

ในระหว่างการเดินทางของเขานั้น เขาได้รับรู้ถึงสัญญาณบ่งบอกถึงความแพร่หลายในหลักคำสอนและความนิยมชมชอบที่มีให้กับงานของเขา ประชาชนวิ่งเข้ามาพบเขา และในบางเมืองเจ้าพนักงานการปกครองเข้ามาร่วมเดินไปตามถนนกับเขา {GC 106.1} GCth17 88.3

เมื่อฮัสเดินทางมาถึงเมืองคอนสแตนซ์ ฮัสได้รับเสรีภาพอย่างเต็มที่ เขาอยู่ภายใต้การคุ้มครองของจักรพรรดิอยู่แล้วและได้รับคำรับรองการคุ้มครองเพิ่มเติมเป็นการส่วนตัวของพระสันตะปาปา แต่ด้วยการฝ่าฝืนคำสั่งห้ามที่ประกาศอย่างซ้ำซากบ่อยๆ ไม่ช้านักปฏิรูปศาสนาท่านนี้จึงถูกจับตามคำสั่งของพระสันตะปาปาและพระคาร์ดินัลและถูกโยนเข้าไปในคุกใต้ดินที่สกปรก ต่อมาเขาถูกย้ายไปยังป้อมปราการแข็งแรงแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่อีกฟากหนึ่งของแม่น้ำไรน์และถูกกักขังเป็นนักโทษอยู่ที่นั่น ไม่นานต่อมาพระสันตะปาปาผู้ไม่ได้ประโยชน์อะไรมากนักจากการทุจริตของตนก็ถูกจับเข้ามาอยู่ในเรือนจำแห่งนี้ Ibid. เล่มที่ 1 หน้า 247 สภานี้สอบสวนและพิสูจน์แล้วว่าพระสันตะปาปาองค์นี้ทำความชั่วช้าที่สุด นอกจากการฆาตกรรม การทำวิทยาคมและการผิดประเวณีแล้ว ยังมี “บาปไม่เหมาะที่จะเอ่ยถึง” ด้วยความผิดเหล่านี้สภาเองจึงประกาศและในที่สุดปลดมงกุฎประจำตำแหน่งพระสันตะปาปาออกและโยนพระองค์ใส่เรือนจำ พระสันตะปาปาคู่แข่งก็ถูกจับเช่นกันและได้เลือกพระสันตะปาปาองค์ใหม่ขึ้นมา {GC 106.2} GCth17 89.1

แม้ว่าพระสันตะปาปาเองทรงทำผิดศีลธรรมที่ร้ายแรงกว่าที่ฮัสเคยกล่าวหาพวกบาทหลวงและซึ่งเป็นความผิดที่ฮัสเรียกร้องให้มีการปฏิรูป แต่สภาแห่งเดียวกันที่ถอดถอนพระสันตะปาปากลับเลือกเดินหน้าบดขยี้นักปฏิรูปศาสนาท่านนี้ต่อไป การจับฮัสเข้าไปอยู่ในเรือนจำก่อให้เกิดความโกรธแค้นอย่างยิ่งใหญ่ในประเทศโบฮีเมีย ขุนนางที่มีอำนาจเข้าหาสภา ประท้วงด้วยความจริงใจต่อต้านการกระทำที่ก้าวร้าวนี้ จักรพรรดิผู้ไม่ทรงพอพระทัยกับการละเมิดการคุ้มครองความปลอดภัยออกมาขวางการกระทำที่ต่อต้านพระองค์ แต่ศัตรูของนักปฏิรูปอาฆาตมาดร้ายและมุ่งมั่น พวกเขาชักจูงจักรพรรดิโดยใช้ความโน้มเอียง ความกลัว และความปรารถนาแรงกล้าของพระองค์ที่มีต่อคริสตจักร พวกเขาเอาเหตุผลโต้แย้งที่ยืดยาวเพื่อพิสูจน์ว่า “ความเชื่อต้องไม่อยู่กับคนนอกรีต หรือคนที่เข้าข่ายสงสัยว่านอกรีต แม้ว่าเขาจะได้รับการคุ้มครองความปลอดภัยจากจักรพรรดิและพระมหากษัตริย์ก็ตามที” Jacques Lenfant, History of the Council of Constance เล่มที่ 1 หน้าที่ 516 ด้วยประการฉะนี้ พวกเขาจึงมีชัย {GC 107.1} GCth17 89.2

ฮัสถูกรุมเร้าด้วยอาการเจ็บป่วยและการกักขัง อากาศในคุกมืดที่อับชื้นทำให้เขาเป็นไข้จนเกือบเสียชีวิต ในที่สุดฮัสถูกนำไปปรากฏตัวต่อหน้าสภา ด้วยโซ่ตรวนที่พันธนาการอยู่รอบตัว เขายืนอยู่เบื้องพระพักตร์จักรพรรดิผู้ทรงกอปรด้วยเกียรติและความวางใจเป็นอย่างสูงในคำสัญญาว่าจะปกป้องเขา ตลอดเวลาแสนยาวนานของการต่อสู้คดีนั้น เขายึดความเชื่อไว้อย่างมั่นคงและเมื่อมาปรากฏอยู่ต่อหน้าเหล่าขุนนางของคริสตจักรและของรัฐที่มาชุมนุมกัน เขากล่าวคำประท้วงที่จริงจังและน่าเชื่อถือต่อการฉ้อราษฎร์ของสภาปกครองสงฆ์ เมื่อถูกกำหนดให้เลือกว่าจะถอนคำสอนหรือยอมรับความตายอย่างทรมาน เขายอมรับจุดจบของผู้ที่ยอมสังเวยชีพ {GC 107.2} GCth17 89.3

พระคุณของพระเจ้าทรงค้ำชูเขาไว้ ในระหว่างความทุกข์ยากหลายสัปดาห์ของการตัดสินระยะสุดท้าย จิตวิญญาณของเขาเต็มล้นด้วยสันติสุขแห่งสวรรค์ เขากล่าวกับเพื่อนคนหนึ่งว่า “ข้าพเจ้าเขียนจดหมายฉนับนี้จากห้องขังและมือที่ล่ามด้วยโซ่ คาดว่าคำสั่งประหารของข้าพเจ้าคงจะมาในวันพรุ่งนี้.....เมื่อนั้น โดยการทรงช่วยของพระเยซูคริสต์ เราจะพบกันอีกในสันติสุขที่แสนสำราญใจของชีวิตแห่งอนาคต ท่านจะเรียนรู้ว่าพระเจ้าทรงสำแดงพระเมตตาของพระองค์เองต่อข้าพเจ้ามากเพียงไร พระองค์ทรงค้ำจุนข้าพเจ้าอย่างเกิดผลท่ามกลางการล่อลวงและความทุกข์ยากลำบาก {GC 107.3} GCth17 90.1

ในความมืดของคุกใต้ดินของเขา เขามองเห็นล่วงหน้าถึงชัยชนะของความเชื่อที่แท้จริง ในความฝันเขาได้กลับไปยังโบสถ์เล็กๆ ในกรุงปรากซึ่งเขาเคยเทศนาพระกิตติคุณ เขาเห็นพระสันตะปาปาและบิชอปของเขาลบภาพของพระคริสต์ที่เขาวาดไว้บนฝาผนังทิ้งไป “ภาพนี้ทำให้เขาเป็นทุกข์ แต่ในวันต่อมาเขาเห็นจิตรกรมากมายยุ่งอยู่กับงานฟื้นฟูรูปเหล่านี้ให้กลับคืนสู่สภาพเดิมและเพิ่มจำนวนมากขึ้นรวมทั้งด้วยสีสันที่สดใสยิ่งขึ้น ในทันทีที่ภาระงานของพวกเขาเสร็จสิ้น เหล่าจิตรกรที่มีฝูงชนห้อมล้อมอยู่นั้นได้อุทานขึ้นมาว่า “บัดนี้ขอให้พระสันตะปาปาและบิชอปเข้ามาเลย พวกเขาไม่มีวันลบภาพนี้ทิ้งไปได้อีก” นักปฏิรูปศาสนาพูดต่อไปขณะที่เล่าถึงเรื่องของความฝันว่า “ข้าพเจ้ายืนยันด้วยความมั่นใจในเรื่องนี้ว่าจะไม่มีการลบภาพของพระเยซูทิ้งไปอีกแล้วอย่างแน่นอน พวกเขาหวังที่จะทำลายทิ้งไป แต่นักเทศน์ที่เหนือกว่าข้าพเจ้าจะวาดใหม่ไว้ในหัวใจของคนทั้งปวง” D’Aubigné เล่มที่ 1 บทที่ 6 {GC 108.1} GCth17 90.2

ฮัสถูกนำไปปรากฏตัวต่อหน้าสภาเป็นครั้งสุดท้าย เป็นการประชุมที่ยิ่งใหญ่และตระการตา จักรพรรดิ เจ้าชายของอาณาจักร ผู้ช่วยประจำพระราชสำนัก พระคาร์ดินัล บิชอปและบาทหลวงรวมทั้งฝูงชนขนาดใหญ่มาสังเกตการณ์ในเหตุการณ์วันนั้น คนจากทุกภาคในคริสต์ศาสนจักรได้มาร่วมเป็นพยานการสังเวยบูชาครั้งยิ่งใหญ่ครั้งแรกนี้ในการดิ้นรนต่อสู้อันยาวนานของการได้มาซึ่งเสรีภาพของจิตสำนึก {GC 108.2} GCth17 90.3

เมื่อฮัสได้รับคำสั่งให้ตัดสินใจครั้งสุดท้าย เขาปฏิเสธที่จะเพิกถอนและเพ่งด้วยสายตาที่ทะลุทะลวงไปยังเจ้าแผ่นดิน ผู้ได้ทรงละเมิดอย่างน่าอับอายต่อคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ “ข้าพเจ้าตั้งใจโดยที่ข้าพเจ้าเลือกเองที่จะปรากฏตัวอยู่หน้าสภาแห่งนี้ภายใต้การคุ้มครองจากสาธารณชนและความเชื่อมั่นในองค์จักรพรรดิผู้ทรงอยู่ร่วมกับพวกเราในที่นี้” Bonnechose เล่มที่ 2 หน้า 84 พระพักตร์ของจักรพรรดิซีจิสมันด์แดงก่ำ ขณะที่สายตาทุกคู่หันไปยังพระองค์ {GC 108.3} GCth17 90.4

เมื่อประกาศคำตัดสินไปแล้ว พิธีการถอดยศก็เริ่มขึ้น บรรดาบิชอปแต่งตัวให้นักโทษอย่างพระ และขณะที่เขาหยิบเสื้อคลุมของบาทหลวงขึ้นมานั้น เขาพูดว่า “ พวกเขาสวมเสื้อคลุมสีขาวให้แก่พระเยซูคริสต์ของเราเพื่อเป็นการลบหลู่พระองค์เมื่อตอนที่กษัตริย์เฮโรดไต่ส่วนพระองค์ต่อหน้าปีลาต” Ibid. เล่มที่ 2 ย่อหน้าที่ 86 อีกครั้งหนึ่ง เมื่อถูกเคี่ยวเข็ญให้ถอนคำพูดนั้น เขาหันหน้าไปยังประชาชนและตอบว่า “ข้าพเจ้าจะเอาใบหน้าใดแหงนขึ้นไปมองดูสวรรค์ ข้าพเจ้าจะมองดูฝูงชนที่ข้าพเจ้าเคยเทศนาสอนพระกิตติคุณที่ใสบริสุทธิ์ได้อย่างไร ไม่เลย ข้าพเจ้าถือว่าความรอดของพวกเขาสำคัญกว่าร่างกายที่แสนเวทนานี้ ซึ่งบัดนี้ถูกกำหนดให้ตาย” เขาถอดเครื่องยศไปทีละชิ้น บิชอปแต่ละองค์ประกาศคำแช่งสาปขณะที่ประกอบพิธีในส่วนของตน ในที่สุด “พวกเขาเอาหมวกทรงพีระมิดที่ทำจากกระดาษสวมลงบนศีรษะของเขา บนหมวกกระดาษนี้มีรูปวาดของปีศาจที่น่ากลัว เขียนด้วยคำบรรยายภาพว่า “คนนอกรีตผู้ยิ่งใหญ่” อย่างเด่นชัดไว้ด้านหน้า ฮัสกล่าวว่า ‘ด้วยความชื่นชมยินดีเป็นอย่างยิ่ง ข้าพเจ้าขอสวมมงกุฎอันน่าอับอายนี้เพื่อพระองค์ โอพระเยซูเจ้า พระผู้ทรงสวมมงกุฎหนามเพื่อข้าพเจ้า’” {GC 108.4} GCth17 91.1

เมื่อพวกเขาแต่งกายให้ฮัสเช่นนี้แล้ว “พระราชาคณะกล่าวว่า ‘บัดนี้เราขอมอบวิญญาณของท่านให้กับมาร’ ยอห์น ฮัสพูดขณะที่แหงนตามองไปยังสวรรค์เบื้องบน ‘และพระองค์เจ้า ข้าพระองค์ขอถวายวิญญาณของข้าพระองค์ไว้ในพระหัตถ์ของพระองค์ ข้าแต่พระเยซูเจ้า เพราะพระองค์ทรงช่วยข้าพระองค์ให้รอดแล้ว’” Wylie เล่มที่ 3 บทที่ 7 {GC 109.1} GCth17 91.2

บัดนี้เขาถูกมอบไว้กับเจ้าหน้าที่ฝ่ายโลกและนำออกไปสู่สถานที่ประหาร ขบวนใหญ่โตเดินตามเขาไป มีทั้งคนจำนวนหลายร้อยที่ถืออาวุธ บาทหลวงและบิชอปในชุดเสื้อคลุมราคาแพงและชาวเมืองคอนสแตนซ์ เมื่อพวกเขาผูกฮัสเข้ากับหลักประหารและพร้อมที่จะจุดไฟ อีกครั้งหนึ่งผู้พลีชีพได้รับการชักชวนให้ช่วยตัวเองให้รอดด้วยการประณามความผิดของตน ฮัสพูดว่า “ความผิดอะไรที่จะให้ข้าพเจ้าประณาม ข้าพเจ้าเองทราบดีว่าข้าพเจ้าไม่มีความผิดใดเลย ข้าพเจ้าร้องทูลพระเจ้าให้มาเป็นพยานว่าเรื่องที่ข้าพเจ้าเขียนและเทศนาทั้งหมดได้ทำไปเพื่อช่วยจิตวิญญาณให้พ้นจากบาปและความพินาศและด้วยเหตุนี้ข้าพเจ้าจึงขอยืนยันอย่างชื่นชมยินดีด้วยโลหิตของข้าพเจ้าถึงความจริงที่ข้าพเจ้าเขียนและเทศนาสอนไว้” Ibid. เล่มที่ 3 บทที่ 7 เมื่อเปลวไฟลุกรอบตัวเขา เขาเริ่มร้องเพลง “พระเยซู บุตรดาวิด ขอทรงโปรดเมตตาข้าพระองค์” และร้องเช่นนี้ต่อไปจนเสียงของเขาเงียบไปตลอดกาล {GC 109.2} GCth17 91.3

แม้แต่ศัตรูของเขาก็ยังตะลึงกับความกล้าหาญของเขา ผู้นิยมระบอบเปปาซีที่ร้อนรนคนหนึ่งบรรยายการสังเวยชีพของฮัสและของเจอโรมีที่ตายในเวลาอีกไม่นานต่อมาว่า “คนทั้งสองมีสติที่มั่นคงแน่วแน่เมื่อเวลาสุดท้ายของพวกเขามาถึง พวกเขาเตรียมตัวสำหรับไฟราวกับว่ากำลังจะไปงานเลี้ยงสมรส พวกเขาไม่ปริปากร้องเพราะความเจ็บปวด เมื่อเปลวไฟลุกสูงขึ้นไป พวกเขาเริ่มร้องเพลงสรรเสริญและความรุนแรงของไฟไม่อาจจะหยุดการร้องเพลงของพวกเขาได้” Ibid. เล่มที่ 3 บทที่ 7 {GC 109.3} GCth17 91.4

เมื่อร่างของฮัสถูกเผาเป็นจุณไปแล้ว เถ้าพร้อมดินที่อยู่ข้างใต้ถูกรวบรวมและนำไปโปรยในแม่น้ำไรน์และไหลไปจากที่นั่นลงสู่ทะเล ผู้กดขี่ของเขาจินตนาการอย่างไร้ผลว่าพวกเขาได้ถอนรากแห่งความจริงที่เขาเทศน์ไว้ พวกเขาไม่ได้คาดฝันแม้แต่น้อยว่าเถ้าในวันนั้นที่ไหลไปสู่ทะเลจะเป็นเมล็ดพันธุ์ที่กระจายไปยังทุกประเทศทั่วโลก ในดินแดนที่ยังไม่มีใครรู้จักจะเกิดผลอย่างอุดมจากการเป็นพยานให้กับความจริง เสียงที่ดังขึ้นในห้องประชุมสภาแห่งเมืองคอนสแตนซ์ปลุกเสียงสะท้อนที่จะได้ยินในทุกยุคต่อมา ฮัสไม่อยู่แล้ว แต่ความจริงที่เขาพลีชีพให้นั้นไม่อาจพินาศไป แบบอย่างความเชื่อและความมั่นคงของเขาจะให้กำลังใจคนอีกมากมายให้ยืนหยัดเพื่อความจริง แม้ต้องเผชิญหน้ากับการทรมานและความตาย การประหารชีวิตของเขาแสดงให้ทั่วทั้งโลกเห็นถึงความทารุณโหดเหี้ยมของโรม ศัตรูของความจริงไม่ระแคะระคายเลยว่าพวกเขากำลังสานต่ออุดมการณ์ที่ตนเองใฝ่หาที่จะทำลายอย่างไร้ผล {GC 110.1} GCth17 92.1

แต่กระนั้น หลักประหารโดยการเผาทั้งเป็นอีกต้นหนึ่งกำลังตั้งขึ้นที่เมืองคอนสแตนซ์ โลหิตของอีกคนหนึ่งจะต้องเป็นพยานให้กับความจริง ตอนที่ร่ำลาฮัสก่อนที่ฮัสจะออกเดินทางไปปรากฏตัวต่อที่ประชุมสภา เจอโรมีแนะให้เขากล้าหาญและตั้งมั่นไว้ โดยประกาศว่าหากฮัสตกอยู่ในภัยอันตรายใดๆ ตัวเขาเองจะบินไปช่วย เมื่อเขาได้รับข่าวว่านักปฏิรูปถูกนำเข้าห้องขังแล้ว สาวกผู้ซื่อสัตย์ท่านนี้เตรียมตัวทันทีเพื่อทำตามที่สัญญาไว้ เขาออกเดินทางพร้อมด้วยเพื่อนร่วมทางเพียงคนเดียวโดยไม่มีการคุ้มครองความปลอดภัยจากผู้มีอำนาจผู้ใด เมื่อเดินทางถึงเขาจึงรู้ตัวว่าตนเองไม่มีหนทางช่วยปลดปล่อยฮัสเลยนอกจากนำตัวเองเข้าหาภัยอันตรายเสียเอง เขาหนีออกจากเมืองแต่ถูกจับได้ในระหว่างเดินทางกลับบ้านเกิดและถูกนำตัวกลับพร้อมด้วยโซ่ตรวนภายใต้การควบคุมของทหารอย่างแน่นหนา เมื่อเขาปรากฏต่อหน้าสภาเป็นครั้งแรก ความพยายามในการโต้ข้อกล่าวหาที่นำมาใส่ร้ายเขาต้องพบกับเสียงตะโกนร้องว่า “นำเขาไปเผา นำเขาไปเผา” Bonnechose เล่มที่ 1 หน้าที่ 234 เขาถูกโยนเข้าไปในคุกใต้ดิน ถูกล่ามโซ่ในท่าที่ทรมานมากและเลี้ยงด้วยขนมปังและน้ำ หลายเดือนผ่านไป ความทารุณโหดร้ายจากการกักขังนำความเจ็บป่วยที่คุกคามชีวิตมาสู่เจอโรมีและศัตรูของเขาซึ่งตอนแรกกลัวว่าเขาจะหลบหนีไปนั้น ยอมปฏิบัติต่อเขาด้วยความรุนแรงน้อยลง แต่ว่าเขายังคงถูกขังอยู่ในคุกต่อเป็นเวลาหนึ่งปี {GC 110.2} GCth17 92.2

การตายของฮัสไม่ประสบผลตามที่เหล่าผู้นิยมระบอบเปปาซีคาดหวังไว้ การละเมิดการคุ้มครองความปลอดภัยของเขาก่อให้เกิดกระแสความโกรธแค้นและเพื่อเป็นแนวทางที่ปลอดภัยกว่า สภาจึงตัดสินใจบังคับเจอโรมีให้ถอนความเชื่อแทนที่จะนำเขาไปเผา เจอโรมีถูกนำมาปรากฏตัวต่อที่ประชุมสภาและเสนอทางเลือกให้เขากลับความเชื่อหรือตายที่หลักเผาทั้งเป็น ความตายตั้งแต่เริ่มแรกของการกักขังน่าจะเป็นความเมตตาเมื่อเปรียบเทียบกับความทุกข์ทรมานอันน่ากลัวที่เขาได้รับ แต่บัดนี้เขาอ่อนแอลงไปมากจากโรคภัยไข้เจ็บ ความโหดของสภาพห้องขังและการทรมานจากความกังวลและความตื่นตระหนก การเหินห่างจากมิตรสหายและท้อแท้จากเรื่องความตายของฮัส ความแข็งแกร่งของเจอโรมีจำต้องหลีกทางให้เขายินยอมเข้ามอบตัวต่อสภา ปฏิญาณตัวเองที่จะยึดความเชื่อของคาทอลิกไว้และยอมรับมติของสภาที่ประณามคำสอนของไวคลิฟและฮัส คัดค้าน “ความจริงบริสุทธิ์” ที่พวกเขาเคยสอน Ibid. เล่มที่ 2 หน้า 141 {GC 111.1} GCth17 93.1

ด้วยการกระทำเช่นนี้ เจอโรมียอมให้เสียงของจิตสำนึกเงียบไปและหลุดพ้นจากวาระสุดท้ายของเขา แต่ในความโดดเดี่ยวของคุกใต้ดิน เขามองเห็นสิ่งที่เขาทำลงไปได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น เขาคิดถึงความกล้าหาญและความซื่อสัตย์ของฮัสและใคร่ครวญเปรียบเทียบกับการปฏิเสธความจริงของตนเอง เขานึกตรึกตรองถึงพระอาจารย์ที่เขาเองปฏิญาณว่าจะรับใช้และพระผู้ทรงทนทุกข์ต่อความมรณาบนกางเขนเพื่อเขา ก่อนที่เขาจะถอนความเชื่อ เขาพบแรงปลอบประโลมหนุนใจท่ามกลางความทุกข์ยากทั้งหมดของเขาภายใต้ความคุ้มครองของพระเจ้า แต่บัดนี้ความเศร้าเสียใจและความสงสัยทรมานจิตวิญญาณของเขา เขารู้ดีว่าเขาจะต้องถูกบังคับให้ถอนความเชื่ออื่นๆ อีกก่อนที่เขาจะบรรลุสันติภาพกับโรม เส้นทางที่เขากำลังเดินไปนี้จะสิ้นสุดลงที่การละทิ้งความเชื่ออย่างสิ้นเชิง เขาจึงตัดสินใจอย่างแน่วแน่ว่าเพียงเพื่อหลบหนีความทุกข์ทรมานชั่วระยะเวลาสั้นๆ เขาไม่ควรปฏิเสธพระเจ้าของเขา {GC 111.2} GCth17 93.2

ไม่นานต่อมา เขาก็ถูกนำมาปรากฏตัวต่อสภา การยอมจำนนของเขาไม่ได้สร้างความพึงพอใจแก่คณะผู้พิพากษา ความกระหายเลือดที่เพิ่มขึ้นอย่างแรงจากการตายของฮัสนั้นร้องถามหาเหยื่อรายใหม่ เจอโรมีจะรักษาชีวิตของเขาได้ด้วยการสละทิ้งความจริงทั้งหมดเท่านั้น แต่เขาตัดสินใจแล้วว่าจะยืนยันความเชื่อของเขาและยอมพลีชีพตามพี่ชายของเขาเข้าสู่เปลวเพลิง {GC 112.1} GCth17 93.3

เขาประกาศยกเลิกการถอนความเชื่อครั้งก่อนและในขณะที่เป็นคนใกล้ตาย เขาเรียกร้องอย่างขึงขังขอโอกาสต่อสู้แก้ข้อกล่าวหา พระราชาคณะกลัวผลกระทบจากคำแก้ต่างของเขาจึงยืนกรานว่าเขาควรรับรองหรือปฏิเสธความจริงของข้อกล่าวหาเขาเท่านั้น เจอโรมีประท้วงความโหดร้ายและความอยุติธรรมเช่นนี้ เขากล่าวว่า “เป็นเวลาสามร้อยสี่สิบวันที่ท่านได้กักขังข้าพเจ้าไว้ในคุกมืดอันน่ากลัว ท่ามกลางความสกปรก เหม็นคลุ้ง สาบคาวและขาดแคลนแทบทุกสิ่ง แล้วท่านก็นำข้าพเจ้าออกมาให้ยืนอยู่ต่อหน้าท่าน ท่านยอมฟังแต่ศัตรูแห่งความตายของข้าพเจ้าเพียงฝ่ายเดียว ท่านปฏิเสธที่จะฟังข้าพเจ้า.....หากท่านเป็นคนฉลาดอย่างแท้จริงและเป็นแสงสว่างของโลก จงระวังตัวอย่าทำบาปต่อความยุติธรรม สำหรับตัวข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าเป็นเพียงคนอ่อนแอที่ต้องตาย ชีวิตของข้าพเจ้านั้นมีความสำคัญเพียงน้อยนิด และที่ข้าพเจ้าร้องขอท่านอย่าทำการตัดสินอย่างไม่ยุติธรรมนั้น ข้าพเจ้าพูดเพื่อท่านมากกว่าพูดเพื่อตนเอง” Ibid. เล่มที่ 2 หน้าที่ 146, 147 {GC 112.2} GCth17 93.4

ในที่สุด เขาก็ได้ตามที่ขอ ต่อหน้าผู้พิพากษาทั้งหลาย เจอโรมีคุกเข่าลงและอธิษฐานทูลขอพระวิญญาณของพระเจ้าทรงควบคุมความคิดและคำพูดของเขาเพื่อเขาจะไม่พูดสิ่งอื่นใดที่ตรงข้ามกับความจริงหรือไม่คู่ควรกับพระอาจารย์ของเขา สำหรับเขาแล้วพระสัญญาของพระเจ้าที่ประทานแก่สาวกยุคแรกนั้นได้สำเร็จแล้ว คนเขา “จะมอบพวกท่านให้เจ้าเมืองและกษัตริย์เพราะเรา……อย่ากังวลว่าจะพูดอะไรหรืออย่างไร เพราะเมื่อถึงเวลานั้น คำที่พวกท่านจะพูดนั้น พระเจ้าจะประทานแก่พวกท่าน เพราะว่าผู้ที่พูดไม่ใช่ตัวท่านเอง แต่เป็นพระวิญญาณแห่งพระบิดาของพวกท่านผู้ตรัสผ่านท่าน” มัทธิว 10:18-20 {GC 112.3} GCth17 94.1

คำพูดของเจอโรมีสร้างความประหลาดใจและความชื่นชมแม้ในหมู่ศัตรูของเขา เขาถูกกักขังไว้ในคุกใต้ดินที่มืดทั้งปี ไม่มีโอกาสอ่านหรือแม้แต่เห็น ในสภาพที่ทุกข์ระทมทางกายและหวั่นวิตกทางจิตใจ แต่ถึงกระนั้นเขายังนำเสนอคำโต้แย้งของเขาได้อย่างชัดเจนและด้วยพลังราวกับว่าเขามีโอกาสศึกษาอย่างไม่ว่างเว้น เขาชี้ให้ผู้ฟังมองดูคนบริสุทธิ์ของพระเจ้าเรียงรายเป็นแถวยาวที่ถูกผู้พิพากษาไร้ความยุติธรรมตัดสินประหาร ในคนแทบทุกรุ่น ผู้ที่แสวงหาการยกระดับจิตวิญญาณของประชาชนในรุ่นของตนต้องถูกประณามและถูกกำจัดออกไป แต่ในเวลาต่อมากลับพิสูจน์ให้เห็นว่าสมควรได้รับเกียรติ พระคริสต์เองทรงถูกตัดสินเป็นผู้ร้าย ณ บัลลังก์ศาลที่ไม่ชอบธรรม {GC 112.4} GCth17 94.2

ในการถอนความเชื่อของเขาครั้งนั้น เจอโรมีเห็นชอบกับความยุติธรรมของการตัดสินประหารฮัส บัดนี้ เขาประกาศการสำนึกผิดในการกระทำของเขาและเป็นพยานให้กับความบริสุทธิ์และความเป็นคนศักดิ์สิทธิ์ของผู้ที่ยอมสังเวยชีพเพื่อพระเจ้าท่านนั้น เขาพูดว่า “ข้าพเจ้ารู้จักท่านเป็นอย่างดีตั้งแต่เด็ก ท่านเป็นบุคคลที่ประเสริฐคนหนึ่ง เป็นคนเที่ยงธรรมและคนบริสุทธิ์ ท่านถูกตัดสินประหารทั้งๆ ที่ไม่มีความผิด……..ข้าพเจ้าเองก็เช่นกัน พร้อมที่จะตาย ข้าพเจ้าจะไม่หดหัวถอยกลับไปต่อหน้าความทรมานที่ศัตรูและพยานเท็จจัดเตรียมไว้ให้ข้าพเจ้า ซึ่งสักวันหนึ่งคนเหล่านี้จะต้องรายงานการกระทำของตนเองต่อเบื้องพระพักตร์ของพระเจ้ายิ่งใหญ่ ผู้ซึ่งไม่มีสิ่งใดสามารถลวงได้” Bonnechose เล่มที่ 2 หน้าที่ 151 {GC 113.1} GCth17 94.3

เจอโรมีกล่าวต่อในการตำหนิตนเองที่ปฏิเสธความจริงว่า “ในบรรดาความบาปผิดที่ข้าพเจ้าทำไปตั้งแต่วัยเยาว์เป็นต้นมา ไม่มีความผิดใดที่สร้างความทุกข์ใจมากและทำให้ข้าพเจ้าเสียใจอย่างแสนสาหัสเท่ากับสิ่งที่ข้าพเจ้าทำไปในสถานที่เลวร้ายแห่งนี้เมื่อข้าพเจ้าเห็นชอบด้วยกับคำพิพากษาโทษแสนชั่วช้าที่ตัดสินต่อไวคลิฟและยอห์น ฮัสผู้พลีชีพอันศักดิ์สิทธิ์ผู้เป็นทั้งอาจารย์และมิตรของข้าพเจ้า ถูกแล้วครับ ข้าพเจ้าขอสารภาพจากใจและขอประกาศด้วยความรู้สึกขยะแขยงว่าข้าพเจ้าหวาดกลัวต่อความตายอย่างน่าอับอายจนได้ประณามคำสอนของพวกเขา ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงทูลขอวิงวอน……พระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ขอทรงโปรดเมตตาอภัยบาปของข้าพเจ้าผู้ไม่คู่ควรจะได้รับโดยเฉพาะแก่บาปครั้งนี้ซึ่งเป็นบาปเลวร้ายที่สุด” เขาชี้ไปยังผู้พิพากษาทั้งหลายและพูดอย่างหนักแน่นว่า “ท่านตัดสินประหารไวคลิฟและยอห์น ฮัสไม่ใช่เพราะท่านทั้งสองสั่นคลอนหลักคำสอนของคริสตจักรแต่เพียงเพราะท่านทั้งสองประณามเรื่องอื้อฉาวของพฤติกรรมที่กระทำออกมาจากคณะสงฆ์ ในความหรูหราฟุ่มเฟือย ความยโสและความชั่วของบรรดาพระราชาคณะและบาทหลวงทั้งหลาย สิ่งที่พวกเขายืนยันเห็นพ้องต้องกันและไม่อาจกลบเกลื่อนได้ ข้าพเจ้าก็ขอคิดและประณามเช่นเดียวกับพวกเขาด้วย” {GC 113.2} GCth17 95.1

คำพูดของเขาถูกขัดจังหวะ พระราชาคณะทั้งหลายโกรธจนตัวสั่นร้องขึ้นมาว่า “ เราต้องการข้อพิสูจน์อื่นใดอีก เราเห็นกับตาแล้วว่าคนนอกรีตนี้ดื้อรั้นที่สุด” {GC 114.1} GCth17 95.2

โดยไม่สะทกสะท้านต่อความโผงผางรุนแรง เจอโรมีเปล่งเสียงต่อไปว่า “อะไรกันนะ ท่านคิดว่าข้าพเจ้ากลัวความตายหรือ ท่านกักขังข้าพเจ้ามาหนึ่งปีในคุกมืดที่น่ากลัว น่าขยะแขยงกว่าความตายเสียอีก ท่านปฏิบัติอย่างทารุณโหดร้ายต่อข้าพเจ้ามากกว่าที่ทำกับคนชาวเติร์ก คนยิวหรือคนนอกศาสนาและเนื้อหนังของข้าพเจ้าเปื่อยเน่าหลุดออกจากกระดูกทั้งเป็นและกระนั้นข้าพเจ้าไม่เคยบ่นเพราะความยุ่งยากที่โศกเศร้ากลายเป็นคนเข้มแข็งทางใจและทางจิตวิญญาณ แต่ข้าพเจ้าอดไม่ได้ที่ต้องแสดงความประหลาดใจต่อระดับความป่าเถื่อนที่ท่านกระทำต่อคริสเตียนคนหนึ่ง” Ibid. เล่มที่ 2 หน้า 151-153 {GC 114.2} GCth17 95.3

อารมณ์โกรธแค้นฉุนเฉียวปะทุขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง แล้วพวกเขาก็นำเจอโรมีกลับไปยังห้องขังอย่างเร่งด่วน แต่ถึงกระนั้น คำพูดของเขาส่งผลอย่างแรงต่อความคิดของบางคนที่อยู่ในที่ประชุมในวันนั้น และปรารถนาที่จะช่วยชีวิตของเจอโรมี เจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ของคริสตจักรมาเยี่ยมเขาและขอให้เขามอบตัวยอมต่อสภา เสนอโอกาสสดใสที่สุดให้แก่เขาเพื่อเป็นรางวัลของการประกาศเลิกต่อต้านโรม แต่เช่นเดียวกับพระอาจารย์ของเขาเมื่อทรงได้รับข้อเสนอความเกรียงไกรฝ่ายโลก เจอโรมียังคงยืนหยัดมั่นคงอย่างไม่สั่นคลอน {GC 114.3} GCth17 95.4

เขาพูดว่า “พิสูจน์ให้ข้าพเจ้าเห็นจากพระคำอันศักดิ์สิทธิ์ว่าข้าพเจ้าผิด แล้วข้าพเจ้าก็จะบอกเลิก” {GC 114.4} GCth17 95.5

ผู้ล่อลวงคนหนึ่งพูดว่า “ พระคำศักดิ์สิทธิ์ทำได้ทุกอย่างนอกจากที่จะเอามาพิพากษาคน ใครจะเข้าใจข้อเขียนได้จนกว่าคริสตจักรจะแปลความหมายแล้ว” {GC 114.5} GCth17 95.6

เจอโรมีตอบว่า “ประเพณีของมนุษย์ที่สืบกันต่อๆ มามีคุณค่าของความเชื่อมากกว่าพระกิตติคุณของพระผู้ช่วยให้รอดของเราหรือ เปาโลไม่ได้วิงวอนผู้ที่ได้จดหมายของท่านให้ฟังประเพณีของมนุษย์แต่กล่าวว่าให้ ‘ค้นหาพระคัมภีร์’” {GC 114.6} GCth17 96.1

คำตอบร้องดังขึ้นมาว่า “คนนอกรีต ข้าพเจ้าเสียใจที่ได้อ้อนวอนเธอมานานเช่นนี้ ข้าพเจ้าเห็นแล้วว่าเธอมีมารอ้อนวอนอยู่ข้างตัวเธอ” Wylie เล่มที่ 3 บทที่ 10 {GC 114.7} GCth17 96.2

ต่อมาไม่นาน คำตัดสินประหารได้ตกมาถึงเขา เขาถูกนำไปยังจุดเดียวกับที่ฮัสสังเวยชีพ เขาร้องเพลงในระหว่างที่เดินทางไป สีหน้าของเขาแจ่มใสด้วยความชื่นชมยินดีและมีสันติสุข สายตาของเขามุ่งอยู่ที่พระคริสต์และสำหรับเขาแล้วความตายไม่ได้ทำให้เขาหวาดกลัวอีกต่อไป เมื่อเพชรฆาตประหารจะมาจุดไฟที่กองเพลิง ก้าวเข้ามายืนอยู่ข้างหลังของเขา ผู้สังเวยชีพร้องอุทานขึ้นมาว่า “เดินมาข้างหน้าอย่างกล้าหาญเถิด จุดไฟต่อหน้าข้าพเจ้าเลย หากข้าพเจ้ากลัวตาย ข้าพเจ้าคงจะไม่มายืนอยู่ที่นี่” {GC 114.8} GCth17 96.3

ขณะที่เปลวเพลิงลุกอยู่รอบตัวของเขา คำพูดสุดท้ายของเขาเป็นคำอธิษฐาน “พระองค์เจ้าข้า พระบิดาเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ โปรดทรงเมตตาข้าพระองค์และอภัยบาปของข้าพระองค์ เพราะพระองค์ทรงทราบว่าข้าพระองค์รักความจริงของพระองค์ตลอดมา” Bonnechose เล่มที่ 2 หน้า 168 เสียงของเขาเงียบไปและริมฝีปากยังขยับอธิษฐานต่อไป เมื่อไฟทำหน้าที่ของมันแล้ว เถ้าถ่านของผู้สังเวยชีพพร้อมดินที่ติดกับเถ้าถูกเก็บรวบรวมขึ้นมาไปโปรยลงในแม่น้ำไรน์เหมือนเช่นที่ทำกับเถ้าของฮัส {GC 115.1} GCth17 96.4

ผู้ถือคบเพลิงที่ซื่อสัตย์ของพระเจ้าต่างพินาศไปเช่นนี้ แต่ความกระจ่างแห่งความจริงที่พวกเขาประกาศ ซึ่งเป็นแสงสว่างแห่งความกล้าหาญของพวกเขา ไม่มีสิ่งใดจะมาดับได้ เช่นเดียวกับที่มนุษย์ไม่อาจลองหมุนดวงอาทิตย์ให้ถอยหลังกลับทางเดินของมันเพื่อห้ามฟ้าวันใหม่ที่กำลังมาถึงโลก {GC 115.2} GCth17 96.5

การประหารฮัสจุดประกายเปลวเพลิงแห่งความโกรธแค้นและความหวาดกลัวในประเทศโบฮีเมีย คนทั่วทั้งประเทศรู้สึกได้ว่าเขาตกเป็นเหยื่อของความผูกพยาบาทของบาทหลวงและการทรยศของจักรพรรดิ ฮัสได้รับการขนานนามว่าครูที่ซื่อสัตย์ผู้สอนความจริงและสภาซึ่งสั่งประหารเขาถูกตั้งข้อหาด้วยความผิดฐานกระทำการฆาตกรรม บัดนี้คำสอนของเขาดึงดูดความสนใจได้มากขึ้นกว่าก่อน โดยคำสั่งของพระสันตะปาปา งานเขียนของไวคลิฟถูกนำไปเผา แต่บัดนี้ส่วนที่หลุดรอดจากการทำลายก็ถูกนำขึ้นจากที่หลบซ่อนและศึกษาร่วมกับพระคัมภีร์หรือตามแต่ส่วนที่ประชาชนจะได้มาและนำคนมากมายเข้ามาต้อนรับการปฏิรูปความเชื่อ {GC 115.3} GCth17 96.6

พวกฆาตกรของฮัสไม่ได้ยืนสงบนิ่งมองดูความสำเร็จในสิ่งที่ทำไป พระสันตะปาปาและจักรพรรดิจับมือกันร่วมบดขยี้ขบวนการเคลื่อนไหว และกองทัพของจักรพรรดิซีจิสมันด์ก็บุกกระหน่ำใส่ประเทศโบฮีเมีย {GC 115.4} GCth17 97.1

แต่มีผู้ปลดปล่อยคนหนึ่งได้เกิดขึ้นมา ซิสก้าเป็นหนึ่งในแม่ทัพที่มีความสามารถที่สุดและเป็นผู้นำของประเทศโบฮีเมียในยุคนั้น สายตาของเขาเกิดบอดสนิทไม่นานหลังจากสงครามเปิดฉาก ด้วยความวางใจในการทรงช่วยของพระเจ้าและความชอบธรรมของอุดมการณ์ของพวกเขา ชนชาตินั้นได้ร่วมใจกันต่อต้านกองทัพยิ่งใหญ่ที่โหมกระหน่ำลงมาใส่พวกเขา ครั้งแล้วครั้งเล่า จักรพรรดิรวบรวมกองทหารที่สดใหม่ขึ้นมาเพื่อบุกประเทศโบฮีเมีย เพียงเพื่อได้รับการขับไล่กลับออกไปอย่างน่าอับอาย ชาวฮัสนิยม [Hussite ผู้ติดตามและเชื่อคำสอนของฮัส] ถูกปลูกฝังให้อยู่เหนือการกลัวความตายและไม่มีสิ่งใดจะมาขัดขวางพวกเขาได้ หลายปีหลังจากสงครามเปิดฉาก ซิสก้าผู้กล้าหาญตายแต่โปรโดปิอูสเข้ามารับหน้าที่แทน เขาเป็นนายพลที่มีความกล้าหาญและความสามารถที่เท่าเทียมกันและในบางด้านเป็นผู้นำที่มีความสามารถมากกว่า {GC 116.1} GCth17 97.2

เมื่อศัตรูของชาวโบฮีเมียได้ข่าวถึงการตายของนักสู้ตาบอด เห็นว่าเป็นโอกาสดีที่จะเอาคืนสิ่งที่สูญเสียไป บัดนี้พระสันตะปาปาประกาศทำสงครามครูเสด [Crusade War สงครามศาสนา] กับผู้ติดตามที่เชื่อฮัส และอีกครั้งหนึ่งกองกำลังขนาดมหึมาถูกส่งมาจู่โจมประเทศโบฮีเมีย แต่พวกเขาต้องประสบกับความพ่ายแพ้ แล้วก็มีการประกาศทำสงครามครูเสดอีกครั้งหนึ่ง ทุกประเทศทั่วยุโรปที่อยู่ภายใต้อำนาจของระบอบเปปาซีมีการรณรงค์กองกำลัง เงินทองและอาวุธสงคราม ผู้คนมากมายวิ่งเข้ามาซบใต้ธงชัยของระบอบเปปาซีเพื่อรับประกันว่าในที่สุดจะกำจัดคนนอกรีตที่เป็นสาวกของฮัสไปได้ ด้วยความมั่นใจในชัยชนะ กองกำลังขนาดใหญ่บุกเข้าประเทศโบฮีเมีย ประชาชนรวมพลังเพื่อต่อต้านผู้บุกรุก กองทหารสองฝ่ายมุ่งหน้าเดินทัพเข้าหากันจนประชิดแม่น้ำเพียงสายเดียวที่กั้นขวางระหว่างพวกเขา “พวกกองทหารครูเสดมีกำลังที่เหนือกว่า แต่แทนที่พวกเขาจะบุกข้ามแม่น้ำไปและปิดฉากการสู้รบกับชาวฮัสนิยมซึ่งต้องเดินทางมาไกล พวกเขาได้แต่ยืนจ้องมองนักสู้เหล่านั้น” Wylie เล่มที่ 3 บทที่ 17 แล้วทันใดนั้น ความหวาดกลัวลึกลับปะทุขึ้นท่ามกลางพวกเขา โดยที่ไม่ได้เข้าจู่โจมแม้สักครั้งเดียว กองกำลังยิ่งใหญ่แตกกระจายประหนึ่งมีอำนาจที่ตาเปล่ามองไม่เห็นเข้ามาขับไล่ ทหารชาวฮัสนิยมตามสังหารกองทหารที่มาบุกได้เป็นจำนวนมาก พวกเขาไล่ตามผู้หลบหนีไปและยึดทรัพย์ไว้มากมาย สงครามครั้งนี้แทนที่จะทำให้ยากจน กลับสร้างความร่ำรวยให้แก่ชาวโบฮีเมีย {GC 116.2} GCth17 97.3

สองสามปีต่อมา ภายใต้การนำของพระสันตะปาปาองค์ใหม่ มีการทำสงครามครูเสดขึ้นอีกครั้ง เหมือนเช่นครั้งก่อนๆ มีการเกณฑ์ชายหญิงจากประเทศในยุโรปภายใต้การปกครองของระบอบเปปาซี มีการยื่นเสนอรางวัลตอบแทนให้แก่ผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมอันตรายนี้ สัญญาจะให้อภัยความผิดร้ายแรงที่สุดอย่างสมบูรณ์แก่นักรบครูเสดทุกคน ทุกคนที่ตายในสงครามจะได้การตอบแทนอย่างอุดมในสวรรค์ และผู้ที่รอดมาจะได้รับเกียรติยศและทรัพย์สมบัติที่ได้จากการสู้รบ อีกครั้งหนึ่งกองกำลังทหารมหึมาได้เข้าร่วมและเดินข้ามชายแดน เข้าไปในประเทศโบฮีเมีย กองกำลังของชาวฮัสนิยมถอยกรูดต่อหน้าพวกเขา ปล่อยให้ผู้บุกรุกถลำลึกเข้าไปในประเทศ และลวงให้พวกเขาคิดว่าได้รับชัยชนะแล้ว ในที่สุดกองกำลังทหารของนายพลโปรโดปิอูสปักหลักอยู่กับที่แล้วกลับตัวหันหน้าเข้าหาศัตรู รุกหน้าเข้าประจัญบาน บัดนี้ชาวครูเสดจึงค้นพบความผิดพลาดของตนเอง พวกเขาเก็บตัวอยู่ในค่ายคอยการจู่โจม เมื่อเสียงกระหึ่มของกองกำลังรุกหน้าเข้ามาใกล้ แม้ก่อนที่จะมองเห็นชาวฮัสนิยม พวกเขาแตกตื่นด้วยความหวาดกลัว เจ้าชาย นายพลและทหารธรรมดาละทิ้งยุทธภัณฑ์และวิ่งหนีไปทั่วสารทิศ ผู้แทนของระบอบเปปาซีที่เป็นหัวหน้าการบุกครั้งนี้พยายามรวบรวมกองกำลังที่แตกตื่นและไร้ระเบียบแต่กลับไร้ผล แม้เขาจะพยายามอย่างถึงที่สุดแล้วก็ตามที แม้แต่ตัวเขาเองก็ยังถูกกวาดต้อนไปในกลุ่มผู้หลบหนี เมื่อความชุลมุนวุ่นวายสิ้นสุดลง และอีกครั้งหนึ่งทรัพย์สินที่ทิ้งไว้ตกอยู่ในกำมือของผู้ชนะ {GC 116.3} GCth17 98.1

ด้วยลักษณะเช่นนี้ เป็นครั้งที่สองที่กองกำลังมหึมาซึ่งรวบรวมจัดส่งโดยประเทศมหาอำนาจต่างๆ ในยุโรปและประกอบด้วยชายฉกรรจ์นักสู้กล้าหาญที่ผ่านการฝึกมาแล้วรวมทั้งเพียบพร้อมด้วยอาวุธต้องหลบหนีโดยที่ยังไม่ทันเป็นฝ่ายโจมตีแม้แต่ครั้งเดียวต่อหน้ากองกำลังของประเทศอ่อนแอเล็กๆ เหตุการณ์เช่นนี้สำแดงให้เห็นถึงอำนาจของพระเจ้า ผู้บุกรุกถูกจู่โจมด้วยความกลัวซึ่งมีฤทธานุภาพเหนือธรรมชาติ พระองค์ผู้ทรงเอาชนะกองกำลังทหารขนาดใหญ่ของฟาโรห์ที่ทะเลแดง ผู้ทรงกระทำให้กองทหารของชาวมีเดียนหลบหนีต่อหน้ากิเดโอนและนักสู้สามร้อยคน ผู้ทรงกระทำให้กองกำลังของชาวอาซีเรียนที่ยโสสยบลงชั่วข้ามคืน ทรงยื่นพระหัตถ์ออกมาอีกครั้งเพื่อต่อสู้อำนาจของผู้กดขี่ “เขาทั้งหลายจะอยู่ที่นั่นอย่างหวาดกลัวยิ่งนัก หวาดกลัวอย่างที่ไม่เคยเป็น เพราะพระเจ้าจะทรงกระจายกระดูกของคนที่ตั้งค่ายสู้เจ้า เจ้าจะทำให้พวกเขาอับอาย เพราะพระเจ้าทรงปฏิเสธเขา” สดุดี 53:5 {GC 117.1} GCth17 98.2

ผู้นำระบอบเปปาซีถอดใจที่จะเอาชนะด้วยการต่อสู้ ในที่สุดจึงเข้าหาด้วยวิธีทางการทูต พวกเขาใช้วิธีประนีประนอมทำเป็นว่ายอมให้ชาวโบฮีเมียมีเสรีภาพทางจิตสำนึกแต่แท้จริงได้ทรยศให้พวกเขาเข้าสู่อำนาจของโรม ชาวโบฮีเมียระบุหัวข้อสำคัญสี่ประการเพื่อเป็นเงื่อนไขสันติภาพกับโรมคือการมีเสรีภาพในการเทศน์คำสอนของพระคัมภีร์ สิทธิของทั่วทั้งคริสตจักรที่จะรับขนมปังและเหล้าองุ่นในพิธีศีลมหาสนิท และใช้ภาษาแม่ในการนมัสการ การละเว้นบุคคลในตำแหน่งฝ่ายสงฆ์จากการรับหน้าที่และตำแหน่งใดๆ ทางฝ่ายโลก และในกรณีของอาชญกรรม อำนาจตัดสินคดีของศาลการเมืองจะเหนือกว่าของการฝ่ายสงฆ์และฝ่ายฆราวาส ในที่สุดผู้มีอำนาจฝ่ายเปปาซี GCth17 98.3

“เห็นด้วยที่จะให้การยอมรับเงื่อนไขสี่ข้อของชาวฮัสนิยม แต่สิทธิของการตีความเรื่องเหล่านี้ซึ่งหมายถึงการกำหนดความสำคัญที่แน่นอนจะต้องขึ้นอยู่กับสภา—กล่าวอีกนัยหนึ่งคือต้องขึ้นกับพระสันตะปาปาและจักรพรรดิ” Wylie เล่มที่ 3 บทที่ 18 มีการลงนามในสนธิสัญญาซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของเงื่อนไขเหล่านี้ ในที่สุด โรมก็ได้สิ่งที่ตนเองต้องการ ซึ่งพลาดจากการใช้กำลัง ด้วยวิธีเสแสร้งและฉ้อฉล เพราะเวลาที่ตีความหมายข้อเขียนของฮัสเปรียบเทียบกับพระคัมภีร์ โรมอยู่ในสถานะที่จะบิดเบือนความหมายเพื่อรองรับจุดประสงค์ของตนเองได้ {GC 118.1} GCth17 99.1

มีคนกลุ่มใหญ่ในประเทศโบฮีเมียที่มองเห็นว่าการกระทำเช่นนี้ทรยศต่อเสรีภาพของพวกเขา พวกเขาไม่อาจให้การยินยอมกับสนธิสัญญานี้ได้ ความขัดแย้งและการแตกแยกจึงเกิดขึ้น ก่อให้เกิดการต่อสู้และการนองเลือดภายในกันเอง ในการต่อสู้ครั้งนี้ นายพลโปรโคปิอูสพ่ายแพ้และประเทศโบฮีเมียสูญเสียเสรีภาพไป {GC 118.2} GCth17 99.2

บัดนี้จักรพรรดิซีจิสมันด์ผู้ทรยศฮัสและเจอโรมีได้ขึ้นครองราชเป็นกษัตริย์ของประเทศโบฮีเมียและพระองค์ทรงเดินหน้าสถาปนาหลักคำสอนและพิธีกรรมของระบอบเปปาซีขึ้นโดยไม่คำนึงถึงคำปฏิญาณที่ให้ไว้ว่าจะค้ำจุนสิทธิของชาวโบฮีเมีย แต่พระองค์ได้รับประโยชน์เพียงเล็กน้อยจากการยอมอยู่ใต้การบังคับบัญชาของโรม เป็นเวลายี่สิบปีที่ชีวิตของพระองค์เต็มไปด้วยงานตรากตรำและภัยอันตราย กองทัพของพระองค์ไร้ประโยชน์และคลังสมบัติรั่วไหลเนื่องจากการต่อสู้ที่ยืดยาวและไร้ผลและบัดนี้หลังจากได้เสวยราชสมบัติหนึ่งปีก็สิ้นพระชนม์ปล่อยให้อาณาจักรของพระองค์จ่ออยู่บนขอบหลุมของสงครามกลางเมืองและทิ้งชื่อที่ตีตราด้วยความอัปยศเป็นมรดกให้แก่คนรุ่นหลัง {GC 118.3} GCth17 99.3

ความวุ่นวาย ความโกลาหลและการนองเลือดยืดเยื้อต่อไป อีกครั้งหนึ่งที่กองกำลังต่างชาติรุกเข้าไปในประเทศโบฮีเมีย ความไม่พอใจภายในยังคงบั่นทอนประเทศอย่างต่อเนื่อง ผู้ที่คงความซื่อสัตย์ต่อพระกิตติคุณต้องตกอยู่ใต้การกดขี่ข่มเหงที่นองเลือด {GC 118.4} GCth17 99.4

เช่นเดียวกับที่พี่น้องร่วมชาติในอดีตจับมือทำพันธสัญญากับโรมและซึมซับความผิดของเธอ ผู้ที่ยึดความเชื่อโบราณก็ได้รวมตัวกันก่อตั้งเป็นคริสตจักรที่มีลักษณะเฉพาะ โดยตั้งชื่อว่า “ยูไนเตดเบรเธรน” [United Brethren] การกระทำนี้ชักนำคำสาปแช่งของทุกชนชั้นมาใส่พวกเขา แต่ถึงกระนั้นความมั่นคงของคนเหล่านี้ไม่ยอมสั่นคลอน พวกเขาถูกกดดันให้ต้องหาที่หลบซ่อนในป่าและถ้ำ พวกเขายังคงประชุมร่วมกันเพื่ออ่านพระวจนะของพระเจ้าและเข้าร่วมนมัสการพระองค์ด้วยกัน {GC 119.1} GCth17 99.5

โดยทางผู้นำสาส์นที่ถูกส่งออกไปอย่างลับๆ ไปยังประเทศต่างๆ พวกเขาเรียนรู้จากที่โน่นบ้าง ที่นี่บ้างว่ายัง “มีผู้เชื่อความจริงกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยกระจัดกระจายอยู่ตามเมืองต่างๆ ซึ่งเป็นเหยื่อของการกดขี่ข่มเหงเช่นเดียวกับพวกเขาและที่ใจกลางเทือกเขาแอลป์มีคริสตจักรโบราณแห่งหนึ่งที่ยังคงยึดมั่นอยู่ในรากฐานของพระคัมภีร์และต่อต้านการเทิดทูนบูชาความทุจริตของโรม” Wylie เล่มที่ 3 บทที่ 19 พวกเขารับทราบข่าวลับนี้ด้วยความสุขใจอย่างเหลือล้นและเริ่มติดต่อสื่อสารกับเหล่าคริสเตียนชาววอลเดนซิส {GC 119.2} GCth17 99.6

ชาวโบฮีเมียยืนหยัดอยู่ในพระกิตติคุณ พวกเขาเฝ้ารอคอยให้ผ่านพ้นราตรีแห่งการกดขี่ข่มเหง ในชั่วโมงมืดมิดที่สุดพวกเขาคงอดทนเพ่งสายตาไปยังขอบฟ้าเหมือนดั่งผู้ที่เฝ้ารอเวลารุ่งอรุณ “ชะตากรรมของพวกเขาตกอยู่ในวันแห่งความเลวร้าย แต่……พวกเขาจำคำพูดที่ฮัสกล่าวเป็นคนแรกและย้ำโดยเจอโรมีว่าหนึ่งศตวรรษจะต้องหมุนมาบรรจบก่อนที่วันใหม่จะมาถึง คำพูดนี้ที่ให้ไว้กับชาวตาโบไรต์ [Taborites คือ ผู้ปฏิรูปชาวฮัสนิยม] เป็นเหมือนคำพูดของโยเซฟที่ให้ไว้กับชนเผ่าทั้งสิบสองที่ค่ายกักกันทาสว่า “เราจะตายแล้ว แต่พระเจ้าจะเสด็จมาเยี่ยมเยียนพวกท่านแน่ๆ และจะพาออกไปจากดินแดนนี้” Ibid. เล่มที่ 3 บทที่ 19 GCth17 99.7

ช่วงเวลาปิดท้ายของศตวรรษที่สิบห้าเป็นพยานให้กับการเติบโตขึ้นของคริสตจักรเบรเธรนอย่างช้าๆ แต่มั่นคง ถึงแม้ว่าพวกเขาจะอยู่ห่างไกลจากการไม่ถูกรังควานก็ตาม พวกเขาก็ยังคงมีโอกาสได้ชื่นชมกับการพักผ่อนที่ค่อนข้างสงบบ้าง เมื่อต้นศตววรษที่สิบหกเปิดฉากขึ้นมา โบสถ์ของพวกเขาในประเทศโบฮีเมียและโมราเวียมีจำนวนถึงสองร้อยแห่ง Ezra Hall Gillett, Life and Times of John Huss เล่มที่ 2 หน้า 570 ผู้ที่เหลืออยู่จำนวนน้อยนิดซึ่งหลุดพ้นจากเปลวเพลิงและคมดาบได้ชื่นชมที่มีโอกาสเห็นฟ้าใหม่ซึ่งฮัสได้ทำนายไว้ล่วงหน้า” Wylie เล่ม 3 บทที่ 19 {GC 119.3} GCth17 100.1

*****