สงครามครั้งยิ่งใหญ่

17/45

บท 14 - นักปฏิรูปศาสนาชาวอังกฤษรุ่นหลัง

ในขณะที่ลูเธอร์กำลังกางพระคัมภีร์ที่ถูกปิดให้กับประชาชนของประเทศเยอรมนี พระวิญญาณของพระเจ้าทรงผลักดันให้ทินเดล [Tyndale] กระทำสิ่งเดียวกันเพื่อประเทศอังกฤษ พระคัมภีร์ของไวคลิฟแปลมาจากภาษาละตินและผิดพลาดมากมาย พระคัมภีร์นี้ไม่เคยถูกพิมพ์ออกมาและต้นทุนของเอกสารต้นฉบับที่คัดลอกด้วยมือมีราคาสูงมากจนมีแต่คนร่ำรวยหรือขุนนางเพียงไม่กี่คนที่จะซื้อได้และนอกเหนือจากนี้ยังเป็นหนังสือที่คริสตจักรสั่งห้ามอย่างเข้มงวดกวดขัน ปริมาณจำหน่ายจึงถูกจำกัดอยู่ในวงแคบ ในปี ค.ศ. 1516 หนึ่งปีก่อนบทความของลูเธอร์จะปรากฏออกมาสู่สาธารณชน เอรัสมัสตีพิมพ์พระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ของเขาออกมาเป็นภาษากรีกและภาษาละติน บัดนี้เป็นครั้งแรกที่พระวจนะของพระเจ้าถูกพิมพ์ออกมาในภาษาดั้งเดิม ในผลงานนี้ ข้อผิดพลาดมากมายของฉบับก่อนถูกแก้ไขและแปลความหมายได้ชัดเจนมากขึ้น ทำให้ชนชั้นที่มีการศึกษาจำนวนมากเข้าถึงความรอบรู้ในสัจธรรมเพิ่มขึ้นและเสริมแรงดลใจขึ้นใหม่ให้กับงานของการปฏิรูป แต่คนสามัญทั่วไปส่วนใหญ่ยังถูกกีดกันจากพระวจนะของพระเจ้า ทินเดลกำลังจะสานต่องานของไวคลิฟให้สำเร็จสมบูรณ์ด้วยการมอบพระคัมภีร์ให้แก่เพื่อนร่วมชาติ {GC 245.1} GCth17 209.1

ทินเดลเป็นนักเรียนที่ขยันและเป็นผู้แสวงหาสัจธรรมอย่างจริงใจ เขาได้รับข่าวประเสริฐจากพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ภาษากรีกของเอรัสมัส เขาเทศนาในสิ่งที่เขาเชื่ออย่างไม่เกรงกลัว เรียกร้องว่าคำสอนทั้งหมดต้องผ่านการทดสอบของพระคัมภีร์ ต่อคำกล่าวของผู้นิยมระบอบเปปาซีที่อ้างว่าคริสตจักรเป็นผู้ให้พระคัมภีร์และคริสตจักรเท่านั้นที่อธิบายพระคัมภีร์ได้ ทิลเดลโต้กลับว่า “ท่านทราบไหมว่าผู้ใดสอนนกอินทรีย์ให้หาเหยื่อ นี่แน่ะ พระเจ้าองค์เดียวกันนี้แหละที่ทรงสอนบรรดาบุตรหิวโหยให้แสวงหาพระบิดาของพวกเขาจากพระวจนะของพระองค์ ช่างไกลจากความจริงเหลือเกินที่ท่านว่าท่านให้พระคัมภีร์แก่พวกเรา ท่านเองต่างหากเป็นผู้เก็บซ่อนพระคัมภีร์จากพวกเรา ท่านเป็นผู้เผาคนทั้งหลายที่สอนพระคัมภีร์และหากท่านทำได้ท่านคงจะเผาพระคัมภีร์ทิ้งเสีย” D’Aubigne, History of the Reformation of the Sixteenth Century เล่มที่ 18 บทที่ 4 {GC 245.2} GCth17 209.2

คำเทศนาของทินเดลกระตุ้นความสนใจอย่างใหญ่หลวง คนมากมายยอมรับสัจธรรม แต่พวกบาทหลวงตื่นตระหนก และทินเดลยังไม่ทันออกไปจากพื้นที่ พวกเขาก็ใช้วิธีข่มขู่และตีความคำสอนของเขาอย่างคลาดเคลื่อนเพื่อทำลายผลงานของเขา บ่อยครั้งเหลือเกินที่พวกเขาประสบความสำเร็จ ทินเดลโอดครวญว่า “จะให้ทำอย่างไร เวลาที่ข้าพเจ้าหว่านอยู่แห่งหนึ่ง ศัตรูก็บุกเข้าไปทำลายไร่นาที่ข้าพเจ้าเพิ่งหว่านมา ข้าพเจ้าไม่อาจไปปรากฏตัวในทุกแห่งได้ โอ หากคริสเตียนทั้งหลายมีพระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ในภาษาของเขาเอง พวกเขาจะต้านทานกับคนหลอกลวงเหล่านี้ด้วยตนเองได้ ปราศจากพระคัมภีร์แล้ว เป็นไปไม่ได้ที่จะให้ฆราวาสยึดมั่นอยู่ในสัจธรรม” {GC 246.1} GCth17 210.1

บัดนี้จุดมุ่งหมายใหม่ผุดขึ้นในความคิดของเขา เขาพูดว่า “บทเพลงสดุดีที่ร้องกันในวิหารของพระยาห์เวห์ใช้ภาษาของชนชาติอิสราเอลและจะไม่ให้ข่าวประเสริฐออกเสียงในท่ามกลางหมู่พวกเราเป็นภาษาอังกฤษกระนั้นหรือ.....ควรให้คริสตจักรมีแสงสว่างในยามเที่ยงวันน้อยกว่าในยามรุ่งอรุณหรือ......คริสเตียนจะต้องอ่านพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ด้วยภาษาแม่ของเขา” บรรดาดุษฎีบัณฑิตและครูทั้งหลายของคริสตจักรขัดแย้งกันเอง ด้วยพระคัมภีร์เท่านั้นมนุษย์จึงจะเข้าถึงสัจธรรมได้ “คนหนึ่งเห็นชอบกับดุษฎีบัณฑิตคนนี้ อีกคนกับคนนั้น บัดนี้เจ้าของความคิดแต่ละค่ายขัดแย้งกัน แล้วเราจะแยกคนที่พูดถูกออกจากคนที่พูดผิดได้อย่างไร.....ด้วยวิธีใด เราบอกความจริงให้รู้ คือโดยพระวจนะของพระเจ้า” Ibid. เล่มที่ 18 บทที่ 4 {GC 246.2} GCth17 210.2

ต่อมาไม่นานดุษฎีบัณฑิตคาทอลิกที่มีความรู้สูงที่กำลังโต้เถียงกับเขาร้องขึ้นมาว่า “ เราน่าจะอยู่โดยไม่มีพระบัญญัติของพระเจ้าดีกว่าอยู่โดยไม่มีกฎของพระสันตะปาปา” ทินเดลตอบว่า “ ข้าพเจ้าขอท้าทายต่อพระสันตะปาปาและกฎทั้งหลายของพระองค์และหากพระเจ้าจะรักษาชีวิตของข้าพเจ้าไว้ ในอีกไม่กี่ปีข้าพเจ้าจะทำให้เด็กไถนาคนหนึ่งเข้าใจพระคัมภีร์มากกว่าท่าน” Anderson, Annals of the English Bible หน้า 19 {GC 246.3} GCth17 210.3

จุดมุ่งหมายเพื่อมอบพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่แก่ประชาชนด้วยภาษาของเขาเองเริ่มเจริญเติบโต บัดนี้เป็นที่แน่นอนแล้วและเขาทุ่มเทตนเองให้กับงานนี้ทันที การกดขี่ข่มเหงกดดันเขาจนต้องหนีออกจากบ้านของเขา เขาเดินทางไปกรุงลอนดอนและชั่วระยะเวลาหนึ่งที่นั่นเขาทำงานโดยไม่ถูกรบกวน แต่ความรุนแรงของเหล่าผู้นิยมระบอบเปปาซีทำให้เขาต้องหลบหนีอีกครั้งหนึ่ง ดูคล้ายกับว่าทั้งประเทศอังกฤษปิดประตูต่อต้านเขาและเขาตัดสินใจที่จะไปหาที่หลบภัยในประเทศเยอรมนี ณ ที่นั่น เขาเริ่มพิมพ์พระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่เป็นภาษาอังกฤษ งานนี้ถูกสั่งให้หยุดการพิมพ์ถึงสองครั้ง แต่เมื่อถูกห้ามพิมพ์ในเมืองหนึ่ง เขาก็ไปพิมพ์อีกเมืองหนึ่ง ในที่สุดเขาเดินทางไปถึงเมืองวอร์มส์ซึ่งเมื่อไม่กี่ปีก่อนหน้านี้ลูเธอร์ได้ปกป้องข่าวประเสริฐต่อหน้าที่ประชุมรัฐสภา ในเมืองโบราณแห่งนั้น มีมิตรสหายของการปฏิรูปอยู่มากมายและทินเดลดำเนินงานของเขาต่อไปโดยไม่มีสิ่งใดขัดขวาง พระคริสตธรรมคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่สามพันเล่มพิมพ์เสร็จในเวลาไม่ช้าต่อมา และการพิมพ์อีกงวดหนึ่งตามมาในปีเดียวกัน {GC 246.4} GCth17 210.4

เขาทำงานไปด้วยความจริงใจและพากเพียรเต็มที่ ถึงแม้เจ้าหน้าที่ของทางประเทศอังกฤษจะคอยเฝ้าท่าเรือต่างๆ ไว้อย่างเข้มงวดก็ตามที พระวจนะของพระเจ้าก็ถูกลักลอบลำเลียงในหลายลักษณะไปยังกรุงลอนดอนและจากที่นั่นกระจายไปทั่วประเทศ บรรดาผู้นิยมระบอบเปปาซีเพียรพยายามที่จะกำจัดสัจธรรม แต่กลับไร้ผล มีอยู่ครั้งหนึ่งบิชอปแห่งเมืองเดอร์เฮมซื้อหนังสือพระคัมภีร์ในคลังทั้งหมดที่มีอยู่จากคนขายหนังสือคนหนึ่งที่เป็นสหายของทินเดลเพื่อนำไปทำลายโดยคิดว่าการทำเช่นนี้จะขัดขวางงานได้อย่างยิ่งใหญ่ แต่ในทางตรงข้าม เงินที่จ่ายไปนั้นกลับถูกนำไปซื้อวัตถุดิบสำหรับพิมพ์พระคัมภีร์งวดใหม่กว่าและดีกว่าซึ่งหากไม่ได้ทำเช่นนั้นก็จะพิมพ์งวดใหม่ไม่ได้เลย ต่อมาภายหลัง เมื่อทินเดลเป็นนักโทษ มีการยื่นเสรีภาพให้เขาด้วยเงื่อนไขว่าจะต้องเปิดเผยชื่อของนายทุนของเขา เขาตอบว่าบิชอปแห่งเมืองเดอร์เฮมช่วยเขามากกว่าคนอื่นเพราะด้วยการจ่ายเงินอย่างงามให้กับหนังสือที่เหลืออยู่ในมือทำให้เขาดำเนินการก้าวต่อไปด้วยความกล้าหาญ {GC 247.1} GCth17 211.1

ทินเดลถูกทรยศตกไปอยู่ในมือของศัตรูและมีอยู่ครั้งหนึ่งต้องทุกข์ทรมานอยู่ในห้องขังเป็นเวลาหลายเดือน ในที่สุดเขาเป็นพยานให้กับตัวเองถึงความเชื่อของเขาด้วยการยอมพลีชีพ แต่ยุทโธปกรณ์ที่เขาเตรียมไว้ทำให้นักรบอื่นๆ พร้อมเข้าทำสงครามตลอดมาทุกศตวรรษจนกระทั่งถึงยุคสมัยของเรา {GC 247.2} GCth17 211.2

ลาทิเมอร์ [Latimer] ยืนยันจากบนธรรมาสน์ว่าประชาชนควรอ่านพระคัมภีร์ในภาษาของตน เขาพูดว่า “พระเจ้าเองทรงเป็นผู้ประพันธ์พระคัมภีร์” และพระคัมภีร์ประกอบด้วยพลังและความยั่งยืนยงเป็นนิตย์ของพระเจ้าผู้ทรงเป็นเจ้าของ “ไม่มีพระราชา จักรพรรดิ ผู้ครองนครหรือผู้ปกครองเมืองคนใด.....แต่ทุกคนต้องยึดถือปฏิบัติตาม.....พระวจนะอันศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์” “ให้เราอย่าใช้ทางเบี่ยงใด แต่จงใช้พระวจนะของพระเจ้าชี้นำเรา อย่าให้เราเดินตาม.....บรรพบุรุษของเราหรืออย่าแสวงหาสิ่งที่พวกเขาทำแต่ทำให้ในสิ่งที่พวกเขาน่าจะทำ” {GC 248.1} GCth17 212.1

บาร์เนสและฟริท [Barnes and Frith] มิตรสหายซื่อสัตย์ของทินเดลลุกขึ้นปกป้องสัจธรรม ตามมาด้วยคนในตระกูลริดเล่ห์และแครนเมอร์ [Ridley and Cranmer] ผู้นำการปฏิรูปศาสนาในอังกฤษเหล่านี้เป็นคนที่มีการศึกษาและส่วนใหญ่เคยได้รับเกียรติอย่างสูงสืบเนื่องจากความจริงใจหรือจริยธรรมอันเคร่งครัดในความสัมพันธ์กับโรม การคัดค้านระบอบเปปาซีของพวกเขาเกิดจากการไปรู้ข้อผิดพลาดของ “ราชสำนักของสันตะปาปา” ความคุ้นเคยกับเรื่องความลึกลับของบาบิโลนยิ่งเพิ่มน้ำหนักอย่างใหญ่หลวงต่อคำพยานของพวกเขาที่ต่อต้านเธอ {GC 248.2} GCth17 212.2

ลาทิเมอร์ พูดว่า “ตอนนี้ข้าพเจ้าขอตั้งคำถามที่แปลกประหลาดข้อหนึ่ง ใครคือบิชอปและพระราชาคณะที่ขยันที่สุด.....ข้าพเจ้ารู้ดีว่าท่านกำลังฟังอยู่และกำลังรอฟังอย่างตั้งใจว่าข้าพเจ้าจะเอ่ยชื่อผู้ใด.....ข้าพเจ้าจะบอกท่าน คนนั้นคือพญามาร......มันไม่เคยออกไปจากแขวงการปกครอง ไปหามันได้ เมื่อท่านต้องการ มันอยู่บ้านเสมอ......มันจะอยู่กับคันไถของมันตลอดเวลา.....ท่านจะไม่เคยเห็นมันเกียจคร้าน ข้าพเจ้ารับรอง.....ที่ใดที่มารตั้งรกราก......ที่นั่นหนังสือก็จะหายไปและจะชูเทียนไขขึ้นมา พระคัมภีร์จะหายไปและลูกประคำจะโผล่ออกมา ความกระจ่างของพระกิตติคุณจะหายไป แสงสว่างจากเทียนไขจะโผล่ขึ้นมา ใช่ ในเวลาเที่ยงวัน.....รื้อกางเขนของพระคริสต์ลง แต่เชิดชูแดนชำระให้สูงขึ้น.....กำจัดการใส่เครื่องนุ่งห่มให้กับคนเปลือยกาย คนยากจนและคนไร้ความสามารถ แต่ไปส่งเสริมการตบแต่งรูปปั้นบูชาและประดิษฐ์ประดอยตอไม้และก้อนหินอย่างหรูหรา สนับสนุนประเพณีและกฎระเบียบของมนุษย์ กำจัดประเพณีและพระวจนะอันศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของพระเจ้าออกไป.....โอ อยากให้พระราชาคณะทั้งหลายเป็นคนขยันหว่านเมล็ดคำสอนที่ดีเหมือนที่ซาตานหว่านเปลือกหอยและหญ้าละมาน” Ibid. “Sermon of the Plough” {GC 248.3} GCth17 212.3

หลักการยิ่งใหญ่ที่นักปฏิรูปศาสนาเหล่านี้เก็บสงวนไว้เป็นหลักการเดียวกับที่ปกป้องโดยชาววอลเดนซิส โดยไวคลิฟ โดยจอห์น ฮัส โดยลูเธอร์ โดยสวิงก์ลี และคนทั้งหลายที่เข้าร่วมกับพวกเขา หลักการนี้เป็นต้นฉบับระเบียบความเชื่อและการถือปฏิบัติที่ไม่ผิดพลาด พวกเขาไม่ยอมรับสิทธิอำนาจของพระสันตะปาปา สภาต่างๆ บรรพบุรุษและพระราชาทั้งหลายที่จะมาควบคุมจิตสำนึกในเรื่องของศาสนา พระคัมภีร์เป็นสิทธิอำนาจของพวกเขาและ พวกเขาใช้คำสอนของพระคัมภีร์เพื่อทดสอบหลักคำสอนต่างๆ และคำอ้างทั้งหลาย ความเชื่อในพระเจ้าและในพระวจนะของพระองค์ค้ำจุนคนบริสุทธิ์เหล่านี้ในขณะที่พลีชีพของตนที่หลักประหาร ลาทิเมอร์ร้องอุทานแก่ผู้ร่วมพลีชีพขณะเปลวเพลิงกำลังปิดปากพวกเขาให้เงียบว่า “จงมีใจสุขสบายกันเถิด วันนี้เราจุดเทียนไขเช่นนี้ในประเทศอังกฤษ โดยพระคุณของพระเจ้า ข้าพเจ้ามั่นใจว่าไฟนี้จะไม่มีทางดับไป” Works of Hugh Latimer เล่มที่ 1 หน้าที่ 13 {GC 249.1} GCth17 213.1

ที่ประเทศสก็อตแลนด์เมล็ดพันธุ์แห่งสัจธรรมที่โคลัมบา [Columba] และผู้ร่วมงานหว่านไปนั้นไม่ได้ถูกทำลายไปโดยสิ้นเชิง เป็นเวลาหลายร้อยปีหลังจากที่คริสตจักรแห่งอังกฤษยอมจำนนต่อโรมแล้ว ผู้ที่อยู่ประเทศสก็อตแลนด์ยังคงรักษาเสรีภาพไว้ แต่ว่าในศตวรรษที่สิบสองหลักคำสอนและพิธีกรรมของระบอบเปปาซีได้มาจัดตั้งขึ้นที่นี่ และไม่มีประเทศใดที่อำนาจนี้ปกครองอย่างเด็ดขาดเท่าที่นี่ ไม่มีความมืดเกิดขึ้นที่ใดที่จะมืดมิดกว่าของที่นี่ แต่ยังมีลำแสงที่แทรกทะลุผ่านความมืดและให้คำมั่นสัญญาของวันที่จะมาถึง คนในตระกูลโลลาร์ด [The Lollards] เดินทางจากประเทศอังกฤษพร้อมกับพระคัมภีร์และคำสอนของไวคลิฟ พวกเขาทำงานหนักเพื่อเก็บรักษาความรู้ในเรื่องของข่าวประเสริฐ และในทุกศตวรรษจะมีพยานและผู้พลีชีพของข่าวประเสริฐ {GC 249.2} GCth17 213.2

การเริ่มต้นของการปฏิรูปศาสนาที่ยิ่งใหญ่มาพร้อมกับผลงานเขียนของลูเธอร์และพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ของทินเดล รอดพ้นสายตาของคณะสงฆ์ ผู้นำสาส์นเหล่านี้เดินทางอย่างเงียบๆ ไปตามภูเขาและหุบเขา คอยเติมชีวิตใหม่แก่คบเพลิงแห่งสัจธรรมที่เกือบจะมอดดับไปในประเทศสก็อตแลนด์และรื้อทิ้งผลงานการกดขี่ที่โรมได้ทำมานานถึงสี่ศตวรรษ {GC 249.3} GCth17 213.3

อีกครั้งหนึ่งเลือดของผู้ยอมพลีชีพสร้างแรงกระตุ้นสดใหม่แก่ขบวนการ ผู้นำของผู้นิยมระบอบเปปาซีตื่นตัวขึ้นมาทันทีต่อภัยอันตรายที่คุกคามกับอุดมการณ์ของพวกเขา ด้วยการจับลูกหลานของชาวสก็อตแลนด์ที่มีฐานะสูงและมีเกียรติที่สุดไปสู่หลักเผาประหาร สิ่งที่พวกเขาทำมีแต่เป็นการก่อสร้างธรรมาสน์ขึ้นมาซึ่งถ้อยคำของพยานที่กำลังพบกับความตายเหล่านี้ดังกระหึ่มไปทั่วแดนดิน ปลุกจิตวิญญาณของประชาชนให้ตื่นขึ้นด้วยจุดประสงค์ที่ไม่มีวันตายเพื่อสลัดทิ้งโซ่ตรวนของโรม {GC 249.4} GCth17 213.4

ฮามิลตันและวิสฮาร์ท [Hamilton and Wishart] มีลักษณะนิสัยอันสง่างามดุจเจ้าชายสมตามเลือดเนื้อเชื้อไขของพวกเขา ทั้งสองสืบตระกูลความเป็นสาวกที่ถ่อมตนมาช้านาน พวกเขายอมพลีชีพที่หลักประหาร แต่จากกองเพลิงที่เผาวิสฮาร์ท เรายังเห็นนักปฏิรูปอีกคนหนึ่งที่เปลวไฟไม่อาจปิดปากเขาให้เงียบได้ ผู้ที่โดยการทรงนำของพระเจ้าจะมาตีระฆังมรณะครั้งสุดท้ายให้แก่หลักคำสอนและพิธีกรรมของระบอบเปปาซีในประเทศสก็อตแลนด์ {GC 250.1} GCth17 214.1

จอห์น น็อคซ์ หันหลังให้กับประเพณีและความเชื่อเรื่องภูตผีปีศาจของคริสตจักรแล้ว เพื่อรับสัจธรรมแห่งพระวจนะของพระเจ้า คำสอนของวิสฮาร์ท์ยืนยันความถูกต้องในการตัดสินใจที่จะสลัดความสัมพันธ์กับโรมและเอาตัวเองมาเข้าร่วมกับนักปฏิรูปศาสนาทั้งหลายที่ถูกกดขี่ข่มเหง {GC 250.2} GCth17 214.2

มิตรสหายขอร้องให้เขารับตำแหน่งของนักเทศน์ เขาผงะถอยกลับหวาดกลัวถึงความรับผิดชอบของงานนี้ด้วยอาการสั่นไปทั้งตัว แต่หลังจากเก็บตัวดิ้นรนต่อสู้อย่างเจ็บปวดกับตัวเองเป็นเวลาหลายวัน เขาจึงตอบตกลง แต่เมื่อเขายอมรับหน้าที่นี้แล้ว เขารุกต่อไปด้วยความตั้งใจอันแน่วแน่ไม่ยอมโอนอ่อนและกล้าหาญอย่างไม่ย่อท้อตราบเท่าที่เขามีชีวิตอยู่ นักปฏิรูปศาสนาผู้จริงใจคนนี้ไม่กลัวมนุษย์หน้าไหน ไฟของการพลีชีพที่ลุกอยู่รอบตัวเขาเพียงแต่ยิ่งปลุกความตั้งใจมุ่งมั่นของเขาให้แรงกล้ายิ่งขึ้น ด้ามขวานของการกดขี่ง้างอยู่เหนือศีรษะของเขาอย่างน่าหวาดเสียว แต่จุดยืนของเขายังคงที่ ไม่สั่นคลอน ฟาดฟันอย่างเด็ดเดี่ยวไปทั้งซ้ายและขวาเพื่อถอนรากการกราบไหว้รูปเคารพ {GC 250.3} GCth17 214.3

เมื่อเขาถูกนำตัวมาไต่สวนต่อเบื้องพระพักตร์พระราชินีแห่งประเทศสก็อตแลนด์ ซึ่งแม้แต่ความกระตือรือร้นของผู้นำโปรเตสแตนต์หลายคนยังต้องลดน้อยลงเมื่ออยู่เบื้องพระพักตร์ของพระองค์ แต่จอห์น น็อคซ์ไม่หวั่นไหวในการเป็นพยานให้แก่สัจธรรม การยกยอเอาชนะใจเขาไม่ได้ เขาจะไม่เสียขวัญด้วยคำขู่ พระราชินีทรงกล่าวหาว่าเขาเป็นคนนอกศาสนา พระนางทรงประกาศว่าเขาสอนประชาชนให้ยอมรับศาสนาที่รัฐสั่งห้าม และล่วงละเมิดพระบัญชาของพระเจ้าที่สั่งคนใต้บังคับให้ปฏิบัติตามผู้ครองแคว้นของพวกเขา น็อคซ์ตอบด้วยความมั่นใจว่า {GC 250.4} GCth17 214.4

“ในขณะที่ศาสนาอันเป็นธรรมจะไม่พึ่งกำลังหรือสิทธิอำนาจที่มีต้นกำเนิดจากเจ้าผู้ครองแคว้นทางฝ่ายโลกแต่จากพระเจ้าผู้ทรงดำรงอยู่เป็นนิตย์เพียงผู้เดียว ผู้ใต้บังคับบัญชาก็ไม่มีพันธะใดที่ต้องวางกรอบศาสนาของพวกเขาตามความต้องการของเจ้าผู้ครองแคว้นทั้งหลายด้วย เพราะบ่อยครั้ง ในบรรดาคนทั้งหลายแล้ว เจ้าผู้ครองแคว้นเหล่านี้กลับเป็นผู้ที่ไม่รู้เรื่องศาสนาที่แท้จริงของพระเจ้ามากที่สุด....หากบุตรทั้งหลายของอับราฮัมที่อยู่ใต้การปกครองของฟาโรห์ต่างต้องนับถือศาสนาของฟาโรห์แล้ว โลกนี้จะมีศาสนาอะไร หรือหากมนุษย์ทั้งหมดในสมัยของอัครทูตต้องนับถือศาสนาของจักรพรรดิโรมันแล้วทั่วทั้งโลกจะมีศาสนาอะไร....และด้วยเหตุนี้ข้าแต่พระนาง พระองค์ทรงรับรู้ว่าผู้อยู่ใต้การปกครองจะไม่ผูกมัดติดกับศาสนาของเจ้าผู้ปกครอง ถึงแม้ว่าพวกเขาจะได้รับคำบัญชาให้เชื่อฟังเจ้าผู้ปกครองก็ตาม” {GC 250.5} GCth17 214.5

พระนางมารีย์ตรัสว่า “เจ้าแปลพระคัมภีร์ในทางหนึ่งและพวกเขา (ครูสอนชาวโรมันคาทอลิก) แปลเป็นอีกแบบหนึ่ง เราจะเชื่อผู้ใดและใครจะเป็นผู้ตัดสิน” {GC 251.1} GCth17 215.1

นักปฏิรูปศาสนาตอบว่า “พระองค์จะต้องทรงเชื่อพระเจ้า พระเจ้าตรัสในพระวจนะอย่างชัดเจนและเมื่อต่างไปจากสิ่งที่พระวจนะสอนแล้ว พระองค์ก็ไม่ควรเชื่อทั้งสองฝ่าย พระวจนะของพระเจ้านั้นมีความชัดเจนอยู่ในตัวและหากดูเหมือนว่ามีตอนใดที่ไม่ชัดเจน พระวิญญาณของพระเจ้าผู้ไม่ทรงเคยขัดแย้งกับพระองค์เองจะทรงอธิบายเรื่องเดียวกันนี้ให้เข้าใจได้จากข้อความในตอนอื่นๆ จนไม่มีข้อสงสัยหลงเหลืออยู่นอกจากพวกที่ดื้อรั้นที่ต้องการคงอยู่อย่างไม่ยอมรู้เท่านั้น” David Laing, The Collected Works of John Knox เล่มที่ 2 หน้าที่ 281, 284 {GC 251.2} GCth17 215.2

นี่คือความจริงที่นักปฏิรูปศาสนา [คนนี้] ซึ่งไม่เกรงกลัวผู้ใดพูดใส่หูของคนในพระราชสำนัก โดยเอาชีวิตของตนเข้าเสี่ยง ด้วยความกล้าหาญเดียวกันที่ไม่เกรงกลัวผู้ใด เขายึดถือรักษาเป้าหมายของเขาไว้ เพียรอธิษฐานและต่อสู้ในสงครามของพระเจ้าจนประเทศสก็อตแลนด์ปลอดจากหลักคำสอนและพิธีกรรมของระบอบเปปาซี {GC 251.3} GCth17 215.3

ในประเทศอังกฤษ การสถาปนานิกายโปรเตสแตนต์ขึ้นเป็นศาสนาประจำชาติทำให้การกดขี่ข่มเหงลดลงแต่ไม่ได้หยุดไปเลยซะทีเดียว ถึงแม้ว่าจะมีการประกาศเลิกหลักคำสอนมากมายของโรมแล้วก็ตาม แต่รูปแบบพิธีต่างๆ ของเธอก็ยังคงถูกเก็บอยู่ไว้ไม่น้อย พวกเขาปฏิเสธความเป็นใหญ่ของพระสันตะปาปาแต่สถาปนาพระราชาขึ้นบนพระที่นั่งครองตำแหน่งหัวหน้าของคริสตจักร พิธีของคริสตจักรยังห่างไกลจากความบริสุทธิ์และความเรียบง่ายของข่าวประเสริฐ หลักการยิ่งใหญ่ของเสรีภาพทางศาสนายังเป็นเรื่องที่ไม่เข้าใจกัน แม้ผู้ปกครองโปรเตสแตนต์จะไม่ค่อยเข้าพึ่งความโหดเหี้ยมน่ากลัวที่โรมใช้ต่อต้านพวกนอกศาสนาก็ตามที แต่กระนั้นสิทธิของมนุษย์ทุกคนที่จะนมัสการพระเจ้าตามคำสั่งของจิตสำนึกของเขาเองก็ยังไม่เป็นที่ยอมรับ ทุกคนจะถูกกำหนดให้รับคำสอนและถือรักษารูปแบบของการนมัสการตามที่คริสตจักรซึ่งได้รับการสถาปนากำหนดไว้แล้ว ผู้คัดค้านจะถูกกดขี่ข่มเหงตามแต่จะมากหรือน้อย เป็นเช่นนี้อยู่หลายร้อยปี {GC 251.4} GCth17 215.4

ในศตวรรษที่สิบเจ็ด ศาสนาจารย์หลายพันคนถูกปลดออกจากตำแหน่ง ประชาชนถูกสั่งห้ามเข้าร่วมประชุมทางศาสนาด้วยโทษของการปรับอย่างหนัก การกักขัง และการเนรเทศเว้นแต่จะเป็นการประชุมที่คริสตจักรอนุมัติ เหล่าผู้ซื่อสัตย์ที่ไม่อาจละเว้นการร่วมนมัสการพระเจ้าถูกกดดันให้ไปประชุมนมัสการกันตามซอกซอยที่มืด ใต้เพดานหลังคาอันมืดมิดและบางโอกาสในกลางป่าตอนเที่ยงคืน ใต้ร่มเงาลึกเข้าไปในป่าทึบกลายเป็นอาคารวิหารของพระเจ้า เหล่าบุตรที่กระจัดกระจายและถูกกดขี่ของพระเจ้ามาชุมนุมกันเพื่อทูลความในใจทั้งหมดออกมาเป็นคำอธิษฐานและคำสรรเสริญ แต่แม้พวกเขาจะระวังมากเพียงไร หลายคนต้องรับความทุกข์ทรมานอันเนื่องมาจากความเชื่อ เรือนจำแออัด ครอบครัวแตกกระจาย หลายคนถูกขับไล่ไปอยู่ต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม พระเจ้าทรงร่วมสถิตกับประชากรของพระองค์และการกดขี่ข่มเหงไม่อาจมีชัยต่อคำพยานของพวกเขาได้ หลายคนถูกกดดันให้ข้ามมหาสมุทรไปยังประเทศอเมริกา และ ณ ที่นี้ พวกเขาวางรากฐานการปกครองฝ่ายบ้านเมืองและเสรีภาพทางศาสนาซึ่งกลายมาเป็นป้อมปราการและเป็นเกียรติของประเทศนี้ {GC 252.1} GCth17 216.1

อีกครั้งหนึ่ง เช่นเดียวกับในสมัยของอัครทูต การกดขี่ข่มเหงกลับกลายมาเป็นการเผยแพร่ข่าวประเสริฐ ในคุกมืดที่แออัดด้วยคนขี้เมาและอาชญากรร้ายกาจ จอห์น บันยัน [John Bunyan] หายใจเอาบรรยากาศที่แท้จริงของสวรรค์และในที่แห่งนี้เขาเขียนนิทานแฝงคติของการเดินทางของผู้แสวงบุญจากดินแดนแห่งความพินาศไปสู่เมืองสวรรค์ของพระเจ้า เป็นเวลากว่าสองร้อยปีเสียงที่มาจากเรือนจำเบดฟอร์ดพูดกับหัวใจของคนมากมายด้วยอำนาจอันเร้าใจ หนังสือของบันยันเรื่องเดอะพิวกรีมโปรแกรส [Bunyan’s Pilgrim’s Progress การเดินการของผู้แสวงบุญ] และ เกรซ อะเบาดิ่ง ทู เดอะ ชีพ ออฟ ซินเนอร์ส [Grace Abounding to the Chief of Sinners พระคุณอย่างเหลือล้นที่มีต่อคนบาป] นำเส้นทางย่างก้าวของคนมากมายไปสู่ทางแห่งชีวิต {GC 252.2} GCth17 216.2

บาสเตอร์ ฟลาเวล อัลไลน์ [Baxter, Flavel, Alleine] และบุคคลอื่นๆ ที่มีความสามารถ มีการศึกษาและประสบการณ์ลึกซึ้งในคริสเตียนลุกขึ้นปกป้องความเชื่ออย่างกล้าหาญซึ่งครั้งหนึ่งเคยมอบให้แก่ธรรมิกชน ความสำเร็จของผลงานของบุคคลเหล่านี้ซึ่งผู้ปกครองประเทศสั่งเนรเทศและตราหน้าเป็นคนนอกกฎหมายนั้นจะไม่มีวันพินาศไป หนังสือของฟลาเวลเรื่อง เฟาเทน ออฟ ไลฟ์ แอนด์ เมทอด ออฟ เกรซ [Fountain of Life and Method of Grace น้ำพุแห่งชีวิตและวิธีการของพระคุณ] สอนคนนับพันถึงวิธีที่จะอุทิศตนเพื่อนำจิตวิญญาณของตนเองให้อยู่กับพระคริสต์ หนังสือของบาสเตอร์เรื่อง รีฟอร์ม พาสเตอร์ [Reformed Pastor ศาสนาจารย์ที่ปฏิรูปแล้ว] ผ่านการพิสูจน์แล้วว่าเป็นพระพรแก่คนมากมายที่ปรารถนาการฟื้นฟูในงานของพระเจ้าและเรื่อง เซนท์ส แอเวอร์ลาสติ่ง เรส [Saints’ Everlasting Rest การพักผ่อนนิรันดร์ของธรรมิกชน] ของเขาทำหน้าที่ของการนำจิตวิญญาณไปสู่การ “พักผ่อน” ที่ยังคงมีอยู่สำหรับประชากรของพระเจ้า {GC 252.3} GCth17 216.3

หนึ่งร้อยปีต่อมา ในวันมืดยิ่งใหญ่ทางฝ่ายจิตวิญญาณ ไวท์ฟิลด์ [Whitefield] และพี่น้องตระกูลเวสเล่ย์ [The Wesleys] ปรากฏตัวเพื่อมาถือประทีปแห่งความกระจ่างของพระเจ้าภายใต้กฎระเบียบของคริสตจักรที่ประเทศอังกฤษสถาปนาขึ้น ประชาชนของประเทศอังกฤษตกสู่สภาพการถดถอยทางศาสนาที่แทบจะแยกความแตกต่างจากคนนอกศาสนาไม่ออก ศาสนาเรื่องของธรรมชาติเป็นวิชาการศึกษายอดนิยมของคณะสงฆ์และมักถูกรวมไว้ในคำสอนศาสนศาสตร์ส่วนใหญ่ของพวกเขาเอง คนชนชั้นสูงเยาะเย้ยพวกที่เคร่งครัดศาสนาและพวกเขาทะนงตนว่าอยู่เหนือพวกที่ตนจัดว่าเป็นคนคลั่งศาสนา คนชนชั้นต่ำรู้ไม่เท่าทันอย่างยิ่งและถูกทอดทิ้งให้อยู่กับการกระทำชั่ว ในขณะที่คริสตจักรไม่มีความอาจหาญหรือความเชื่อพอที่จะสนับสนุนอุดมการณ์ของสัจธรรมที่กำลังดิ่งลงต่ำอีกต่อไป{GC 253.1} GCth17 217.1

หลักคำสอนเรื่องความชอบธรรมโดยความเชื่อที่ลูเธอร์สอนไว้อย่างชัดเจนนั้นแทบจะเลือนหายไปจากสายตา และหลักการของระบบสันตะปาปาเรื่องการไว้วางใจในการกระทำความดีเพื่อความรอดได้เข้ามาแทนที่ ไวท์ฟิลด์และพี่น้องตระกูลเวสเล่ย์ซึ่งเป็นสมาชิกของคริสตจักรที่อังกฤษสถาปนาขึ้นนั้นเป็นคนที่แสวงหาความพอพระทัยของพระเจ้าด้วยความจริงใจ และในเรื่องนี้พวกเขาได้รับการสอนว่าสามารถได้มาโดยการดำเนินชีวิตที่ดีงามและถือรักษากฎระเบียบของศาสนา {GC 253.2} GCth17 217.2

ครั้งหนึ่งเมื่อชาร์ลส์ เวสเล่ย์ ล้มป่วยและคิดว่าอีกไม่นานคงต้องตาย มีคนถามเขาว่า ความหวังชีวิตนิรันดร์ของเขานั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานอะไร คำตอบของเขาคือ “ข้าพเจ้าได้ใช้ความพยายามที่ดีที่สุดที่จะรับใช้พระเจ้า” ในขณะที่เพื่อนคนนี้ที่ตั้งคำถามดูเหมือนว่าไม่พอใจกับคำตอบนัก เวสเล่ย์คิด “อะไรกันนะ ความพยายามของเราไม่เพียงพอที่จะเป็นพื้นฐานความหวังของเราหรือ เขาจะปล้นความพยายามของเราไปหรือ เราไม่มีอะไรที่จะไว้วางใจได้อีกแล้ว” John Whitehead, Life of the Rev. Charles Wesley หน้าที่ 102 ความมืดหนาทึบเช่นนี้แหละที่ปกคลุมอยู่เหนือคริสตจักร ปิดซ่อนการไถ่บาป ปล้นสง่าราศีของพระคริสต์ไปและหันความคิดของมนุษย์ออกไปจากความหวังเดียวที่จะได้ความรอด—นั่นคือพระโลหิตของพระผู้ไถ่ที่ถูกตรึงบนกางเขน {GC 253.3} GCth17 217.3

เวสเล่ย์และผู้ร่วมงานของเขาถูกชักจูงให้มองเห็นว่าศาสนาเที่ยงแท้ตั้งอยู่ในหัวใจ และพระบัญญัติของพระเจ้านั้นครอบคลุมไปถึงความคิด คำพูดและการกระทำด้วย เมื่อพวกเขามั่นใจถึงความจำเป็นของเรื่องความบริสุทธิ์ของจิตใจ รวมทั้งความถูกต้องของท่าทางภายนอกแล้ว พวกเขามุ่งหน้าด้วยความจริงจังที่จะมีชีวิตใหม่ ด้วยความพยายามอย่างขะมักเขม้นและหมั่นอธิษฐาน พวกเขาทุ่มเทเพื่อสยบความชั่วของหัวใจฝ่ายธรรมชาติ พวกเขาดำเนินชีวิตที่ปฏิเสธความต้องการของตนเอง มีใจกุศล และทนความอดสู รักษาทุกมาตรการด้วยความเคร่งครัดและเที่ยงตรงที่คิดว่าจะช่วยพวกเขาให้ได้ความพึงพอพระทัยของพระเจ้า แต่พวกเขาไม่ได้สิ่งที่พวกเขาแสวงหา ความพยายามของพวกเขาที่จะปลดปล่อยตัวเองออกจากการลงโทษของบาปหรือเอาตัวออกจากอิทธิพลของมันนั้นไร้ผล เป็นการดิ้นรนแบบเดียวกับที่ลูเธอร์เคยประสบมาในห้องเล็กๆ ที่เออร์เฟิร์ท เป็นปัญหาเดียวกับที่ทรมานจิตวิญญาณของเขา “มนุษย์จะชอบธรรมเฉพาะพระพักตร์พระเจ้าได้อย่างไร” โยบ 9:2 {GC 254.1} GCth17 218.1

ไฟแห่งสัจธรรมของพระเจ้าซึ่งใกล้ดับมอดไปแล้วจากแท่นบูชาของชาวโปรเตสแตนต์จะต้องถูกจุดให้สว่างขึ้นอีกจากคบเพลิงโบราณที่ส่งต่อกันมาตั้งแต่สมัยของคริสเตียนในประเทศโบฮีเมีย หลังการปฏิรูปศาสนา กองกำลังของโรมบุกเข้าเหยียบย่ำขับไล่พวกโปรเตสแตนต์ในประเทศโบฮีเมีย ทุกคนที่ไม่ยอมละทิ้งสัจธรรมถูกกดดันต้องหนีเอาตัวรอด บางคนไปหลบภัยในแคว้นแซกโซนี ณ ที่นี้พวกเขารักษาความเชื่อโบราณไว้ จากลูกหลานของคริสเตียนเหล่านี้ความกระจ่างจึงตกมาถึงเวสเล่ย์และเพื่อนๆ {GC 254.2} GCth17 218.2

หลังจากที่จอห์นและชาร์ลส์ เวสเล่ย์ [John and Charles Wesley] ได้รับการเจิมตั้งให้รับใช้แล้ว ทั้งสองถูกส่งไปทำพันธกิจที่ประเทศอเมริกา บนเรือลำนั้นมีพวกโมราเวียน [Moravians กลุ่มปฏิรูปที่เชื่อตามคำสอนของฮัส จุดเริ่มต้นของคริสตจักรอยู่ในประเทศโบฮีเมียและโมราเวีย] โดยสารไปด้วย การเดินทางครั้งนี้ พวกเขาเผชิญกับพายุร้ายแรงและจอห์น เวสเล่ย์ต้องมาเผชิญหน้ากับความตาย รู้สึกว่าตนไม่มั่นใจในสันติสุขของพระเจ้า ในทางตรงกันข้าม ชาวเยอรมันเหล่านั้นแสดงออกถึงความสงบนิ่งและความวางใจซึ่งเป็นเรื่องแปลกสำหรับเขา {GC 254.3} GCth17 218.3

เขาพูดว่า “ข้าพเจ้าคอยสังเกตอุปนิสัยที่เอาจริงเอาจังของพวกเขามานานแล้ว ในเรื่องของความถ่อมตนแล้ว พิสูจน์ให้เห็นตลอดเวลาว่าพวกเขาทำงานที่ต่ำต้อยเพื่อผู้โดยสารคนอื่นๆ ซึ่งเป็นงานที่ชาวอังกฤษไม่ยอมทำ เป็นงานที่พวกเขาปรารถนาที่จะทำโดยไม่หวังผลตอบแทน พวกเขาพูดว่าเป็นการดีที่จะทำเพื่อความภูมิใจและพระผู้ช่วยให้รอดผู้เป็นที่รักของพวกเขาทรงกระทำแก่ผู้อื่นมากกว่านี้ และทุกวัน พวกเขามีโอกาสแสดงออกถึงความสุภาพถ่อมตนที่ไม่มีความลำบากใดจะไปเปลี่ยนแปลง หากพวกเขาถูกผลัก ถูกทุบตี หรือโยนไปมา พวกเขาจะลุกขึ้นและเดินจากไป แต่ไม่มีคำบ่นออกมาจากปากของพวกเขา บัดนี้เป็นโอกาสทดสอบว่าพวกเขาหลุดพ้นจากวิญญาณแห่งความกลัวรวมทั้งความเย่อหยิ่ง ความโกรธและความอาฆาตจริงหรือไม่ ในขณะที่พวกเขาเริ่มพิธีศาสนาของพวกเขาด้วยบทเพลงสดุดี และร้องไปได้ครึ่งเพลงนั้น คลื่นยักษ์ได้โหมกระหน่ำใส่อย่างรุนแรงจนใบเอกฉีกเป็นชิ้นๆ คลื่นทะเลปกคลุมทั่วลำเรือ น้ำทะเลสาดเทใส่ระหว่างดาดฟ้าเรือ ราวกับว่าทะเลกลืนพวกเราไปแล้ว กลุ่มชาวอังกฤษเริ่มกรีดเสียงร้องลั่น แต่กลุ่มชาวเยอรมันยังคงร้องเพลงอย่างสงบต่อไป ต่อมาภายหลังข้าพเจ้าถามคนหนึ่งว่า ‘พวกคุณไม่กลัวกันหรือไง’ เขาตอบว่า ‘ขอบคุณพระเจ้า พวกเราไม่มีความกลัวกัน’ ข้าพเจ้าถามเขาต่อว่า ‘พวกผู้หญิงและเด็กกลัวกันหรือเปล่า’ เขาตอบอย่างอ่อนโยนว่า ‘ไม่ครับ พวกผู้หญิงและเด็กๆ ของเราไม่กลัวที่จะตายครับ’” Whitehead, Life of the Rev. John Wesley หน้าที่ 10 {GC 255.1} GCth17 219.1

เมื่อเดินทางมาถึงเมืองสาวันนา เวสเล่ย์พักอยู่กับพวกโมราเวียนระยะหนึ่ง และประทับใจอย่างสุดซึ้งกับกิริยาท่าทางความเป็นคริสเตียนของพวกเขา เขาเขียนถึงพิธีทางศาสนาแบบหนึ่งของพวกเขาที่ช่างแตกต่างจากพิธีที่ไร้ชีวิตของคริสตจักรแห่งอังกฤษ [Church of England คริสตจักรประจำชาติของประเทศอังกฤษ] ว่า “ความเรียบง่ายประกอบกับความน่าเกรงขามที่เด่นชัดของทั้งพิธีเกือบทำให้ข้าพเจ้าลืมช่วงเวลาหนึ่งพันเจ็ดร้อยปีที่คั่นกลาง และจินตนาการว่าตนเองกำลังนั่งอยู่ในที่ประชุมที่ไม่มีระเบียบพิธีกรรม แต่มีเปาโล คนเย็บเต็นท์หรือเปโตร ชาวประมงเป็นประธานในที่ประชุม ถึงอย่างนั้นกลับสัมผัสได้ถึงพระวิญญาณและฤทธานุภาพ” Ibid. หน้าที่ 11, 12 {GC 255.2} GCth17 219.2

เมื่อเวสเล่ย์กลับถึงประเทศอังกฤษ นักเทศน์ชาวโมราเวียนคนหนึ่งแนะนำเขาให้เข้าใจกระจ่างขึ้นในเรื่องความเชื่อของพระคัมภีร์ เขามาถึงจุดที่เชื่อมั่นว่าเขาต้องละทิ้งการพึ่งพาตัวเองเพื่อรับความรอดและต้องมอบความวางใจทั้งหมดให้ “พระเมษโปดกของพระเจ้าผู้ทรงรับความผิดบาปของโลกไปเสีย” ในที่ประชุมครั้งหนึ่งของชาวโมราเวียนที่กรุงลอนดอน มีการนำข้อเขียนของลูเธอร์ขึ้นมาอ่าน เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงที่พระวิญญาณของพระเจ้าทรงกระทำต่อหัวใจของผู้เชื่อ ขณะที่เวสเล่ย์ฟังอยู่นั้น ความเชื่อจุดประกายขึ้นในจิตวิญญาณของเขา เขาพูดว่า “ข้าพเจ้ารู้สึกว่าหัวใจของข้าพเจ้าอบอุ่นขึ้นมาอย่างน่าประหลาด ข้าพเจ้ารู้สึกว่าข้าพเจ้าวางใจในพระคริสต์และในพระองค์แต่เพียงผู้เดียวเพื่อความรอดและพระองค์ประทานความมั่นใจแก่ข้าพเจ้าว่าพระองค์ทรงนำบาปของข้าพเจ้าออกไปแล้วและทรงช่วยข้าพเจ้าให้รอดพ้นจากกฎของบาปและความตาย” Ibid. หน้า 52 {GC 255.3} GCth17 219.3

ตลอดเวลาอันยาวนานมาหลายปีของการดิ้นรนต่อสู้ที่เหนื่อยยากและลำบาก—หลายปีแห่งการละทิ้งความสุขของตนเองอย่างเข้มงวดกวดขันหรือมีแต่ความน่าอับอายและน่าอดสู—เวสเล่ย์ยึดมั่นต่อจุดมุ่งหมายของเขาอย่างแน่วแน่ในการแสวงหาพระเจ้า บัดนี้เขาพบพระองค์แล้วและค้นพบว่าพระคุณที่เขาเคยบากบั่นที่จะได้มาโดยการอธิษฐานและการอดอาหาร โดยการให้ทานและการลงโทษตัวเองนั้นที่แท้แล้วเป็นของประทาน “ที่ไม่ต้องเสียเงินและไม่มีราคาติดไว้” {GC 256.1} GCth17 220.1

ในทันทีที่เขาตั้งมั่นอยู่ในความเชื่อของพระคริสต์แล้ว จิตวิญญาณทั้งหมดของเขาเร่าร้อนด้วยความปรารถนาที่จะประกาศความรู้เรื่องพระกิตติคุณอันแจ่มจรัสของพระคุณของพระเจ้าที่ประทานโดยเปล่าๆ เขาพูดว่า “ข้าพเจ้าถือว่าทั่วทั้งโลกเป็นโบสถ์ที่อยู่ภายใต้การปกครองของข้าพเจ้า ไม่ว่าข้าพเจ้าจะอยู่ส่วนไหน ข้าพเจ้าถือว่าเป็นเรื่องเหมาะสมและถูกต้องและเป็นหน้าที่ผูกพันของข้าพเจ้าที่ต้องประกาศให้ทุกคนที่ยินดีจะฟังข่าวประเสริฐเรื่องของการช่วยให้รอด” Ibid. หน้า 74 {GC 256.2} GCth17 220.2

เขายังคงดำรงชีวิตที่เคร่งครัดและปฏิเสธความสุขของตนเองต่อไป ในเวลานี้ไม่ใช่เนื่องจากเป็นพื้นฐานแต่เป็นผลของความเชื่อ ไม่ใช่เป็นราก แต่ว่าเป็นผลของความบริสุทธิ์ พระคุณของพระเจ้าในพระคริสต์เป็นรากฐานของความหวังของคริสเตียนและพระคุณนั้นจะแสดงออกด้วยการเชื่อฟัง ชีวิตของเวสเล่ย์อุทิศให้กับการเทศนาความจริงยิ่งใหญ่ที่เขาได้รับไว้ นั่นคือการทำให้เป็นคนชอบธรรมโดยความเชื่อในพระโลหิตของการลบล้างบาปของพระคริสต์และฤทธานุภาพของพระวิญญาณบริสุทธิ์ที่จะทำให้หัวใจเกิดผลด้วยชีวิตซึ่งสอดคล้องกับแบบอย่างของพระคริสต์ {GC 256.3} GCth17 220.3

ไวท์ฟิลด์และพี่น้องเวสเล่ย์รับการเตรียมตัวเพื่อพันธกิจของพวกเขาด้วยการใช้เวลาอันยาวนานและเฉียบขาดในการสำนึกโดยส่วนตัวถึงสภาพของตนเองที่เดินผิดทางและเพื่อฝึกพวกเขาให้อดทนต่อความทุกข์ยากในฐานะทหารที่ดีของพระคริสต์ พวกเขาต้องรับการทดสอบยากลำบากอย่างแสนสาหัสของการถูกดูหมิ่น การเย้ยหยันและการข่มเหง ทั้งในมหาวิทยาลัยและในขณะที่ก้าวเข้าสู่งานของการรับใช้ เพื่อนนักเรียนที่ไร้ศีลธรรมเรียกพวกเขารวมทั้งผู้ที่เห็นใจพวกเขาอีกหลายคนอย่างดูถูกว่า พวกเมทอดิสต์ [Methodist] แต่ในปัจจุบันนี้ กลายเป็นชื่อที่มีเกียรติของนิกายยิ่งใหญ่ที่สุดนิกายหนึ่งของประเทศอเมริกาและประเทศอังกฤษ {GC 256.4} GCth17 220.4

ในฐานะที่เป็นสมาชิกของคริสตจักรแห่งอังกฤษ พวกเขาเลื่อมใสอย่างแรงกล้าในรูปแบบของการนมัสการ แต่พระเจ้าทรงนำเสนอแก่พวกเขาให้เรียนรู้ถึงมาตรฐานที่สูงกว่าจากพระวจนะของพระองค์ พระวิญญาณบริสุทธิ์เร่งเร้าให้พวกเขาเทศนาเรื่องพระคริสต์และพระองค์ผู้ทรงถูกตรึงบนกางเขน ฤทธานุภาพของพระเจ้าองค์ผู้สูงสุดเสด็จมาสถิตร่วมด้วยในการทำงานของพวกเขา คนจำนวนหลายพันสำนึกในความผิดและกลับใจ จึงมีความจำเป็นที่ต้องคอยปกป้องฝูงแกะเหล่านี้จากสุนัขป่าที่คอยล่าเหยื่อ เวสเล่ย์ไม่มีความคิดที่จะจัดตั้งนิกายใหม่ แต่เขาบริหารดูแลพวกเขาภายใต้ชื่อที่เรียกว่าความผูกพันของชาวเมทอดิสต์ [Methodist Connection] {GC 257.1} GCth17 221.1

นักเทศน์เหล่านี้เผชิญกับการต่อต้านที่ลึกลับและสุดจะทนจากคริสตจักรแห่งอังกฤษ ถึงกระนั้นโดยพระปัญญาของพระองค์ พระเจ้าทรงใช้อำนาจเหนือเหตุการณ์ที่จะก่อให้เกิดการปฏิรูปขึ้นจากภายในตัวคริสตจักรเอง หากการปฏิรูปมาจากภายนอกเพียงอย่างเดียว คงจะไม่สามารถแทรกซึมเข้าไปในจุดที่มีความต้องการอย่างยิ่ง แต่เพราะนักเทศน์ซึ่งได้รับการฟื้นฟูเหล่านี้เป็นคนในคริสตจักรและทำงานจากภายในรั้วของคริสตจักร ทุกแห่งหนที่พวกเขาประสบโอกาส ความกระจ่างก็จะพบทางเข้าไปได้ มิฉะนั้นก็เป็นไปไม่ได้หากประตูยังคงปิดอยู่ นักบวชบางคนถูกปลุกให้ตื่นขึ้นจากความเซื่องซึมฝ่ายศีลธรรมและกลายเป็นนักเทศน์ที่กระตือรือร้นในคริสตจักรของตนเอง คริสตจักรที่ตกอยู่ในความมึนงงเซื่องซึมของพิธีกรรมกลับมีชีวิตขึ้นมาอีก {GC 257.2} GCth17 221.2

ในสมัยของเวสเล่ย์เหมือนเช่นในทุกยุคของประวัติศาสตร์คริสตจักร ผู้ที่มีของประทานต่างๆ จะทำงานที่ต่างได้รับมอบหมาย พวกเขาไม่ได้เห็นพ้องต้องกันในทุกเรื่องของหลักคำสอนแต่พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงขับเคลื่อนทุกคนและให้ร่วมกันด้วยเป้าหมายเดียวกันเพื่อนำจิตวิญญาณมายังพระคริสต์ มีอยู่ครั้งหนึ่งความขัดแย้งระหว่างไวท์ฟิลด์และเวสเล่ย์สองพี่น้องคุกคามที่จะสร้างความแตกแยกขึ้น แต่ในขณะที่พวกเขาเรียนรู้ถึงความสุภาพอ่อนน้อมในโรงเรียนของพระคริสต์ ความอดกลั้นและความรักที่มีต่อกันทำให้คืนดีกันได้ พวกเขาไม่มีเวลาที่จะมาทะเลาะกัน ในขณะที่ความผิดและความชั่วดาษดื่นอยู่ทุกที่และคนบาปกำลังดิ่งลงสู่ความพินาศ {GC 257.3} GCth17 221.3

ผู้รับใช้ของพระเจ้าเดินอยู่บนเส้นทางที่ขรุขระ ผู้ที่มีอิทธิพลและมีการศึกษาสูงใช้อำนาจต่อสู้พวกเขา ผ่านไประยะหนึ่ง พระนักบวชจากคณะสงฆ์จำนวนมากแสดงความเป็นศัตรูอย่างออกหน้าและประตูโบสถ์ปิดใส่พวกที่มีความเชื่อบริสุทธิ์และคนทั้งหลายที่ประกาศความเชื่อนี้ แนวทางของคณะสงฆ์ที่ประณามพวกเขาจากธรรมาสน์ปลุกระดมธาตุแห่งความมืด ความรู้ไม่เท่าทันและความชั่วขึ้นมา ครั้งแล้วครั้งเล่า จอห์น เวสเล่ย์หนีพ้นความตายโดยพระเมตตาคุณอันอัศจรรย์ของพระเจ้า เมื่อความโกรธแค้นของฝูงชนก่อตัวขึ้นเพื่อต่อสู้เขา และดูประหนึ่งว่าไม่มีทางหนีพ้น ทูตสวรรค์องค์หนึ่งในร่างของมนุษย์มาอยู่เคียงข้างตัวเขา ฝูงชนผงะถอยกรูดและผู้รับใช้ของพระคริสต์เดินออกไปจากสถานที่อันตรายแห่งนั้นด้วยความปลอดภัย {GC 258.1} GCth17 222.1

เวสเล่ย์กล่าวถึงการช่วยกู้ออกจากฝูงชนบ้าคลั่งในครั้งหนึ่งของเหตุการณ์เหล่านี้ว่า “หลายคนพยายามที่จะผลักข้าพเจ้าให้ล้มลงในขณะที่พวกเรากำลังเดินลงเขา บนเส้นทางที่ลื่นมุ่งหน้าไปยังตัวเมือง พวกเขาคาดคะเนว่าหากข้าพเจ้าล้มกองอยู่กับพื้น ข้าพเจ้าก็คงแทบจะลุกไม่ขึ้นอีกแล้ว แต่ข้าพเจ้าไม่ได้สะดุดเลย แม้แต่ลื่นไถลก็ยังไม่มี จนกระทั่งข้าพเจ้าหลุดพ้นจากเงื้อมมือของพวกเขา.....แม้จะมีหลายคนพยายามที่จะกระชากคอเสื้อและตัวเสื้อของข้าพเจ้าเพื่อดึงข้าพเจ้าลงไป พวกเขาไม่สามารถคว้าจับได้เลย มีเพียงคนเดียวคว้าฝาปิดกระเป๋าเสื้อคลุมของข้าพเจ้าได้ ซึ่งต่อมาก็หลุดไปติดอยู่ในมือของเขา ส่วนฝาอีกข้างหนึ่งซึ่งมีธนบัตรอยู่ใบหนึ่งถูกฉีกขาดครึ่งหนึ่ง......มีชายล่ำสันบึกบึนคนหนึ่งที่ประชิดอยู่ข้างหลังข้าพเจ้าใช้ไม้เท้าโอ๊กขนาดใหญ่ ฟาดข้าพเจ้าหลายครั้งซึ่งหากเขาตีถูกศีรษะด้านหลังของข้าพเจ้าสักหนึ่งครั้ง เขาก็น่าจะไม่ต้องยุ่งยากอีกต่อไป แต่ทุกครั้งที่เขาตี การฟาดของเขาถูกเบี่ยงออกไป ข้าพเจ้าไม่รู้ทำไมถึงเป็นเช่นนี้ เพราะข้าพเจ้าเคลื่อนตัวไปทางขวาหรือซ้ายไม่ได้......มีอีกคนหนึ่งวิ่งฝ่าคนที่หนาแน่นเข้ามาและชูมือขึ้นพร้อมจะฟาดลงมา แต่ทันใดนั้นกลับปล่อยมือลงและเพียงแค่ถูกศีรษะข้าพเจ้าพร้อมกับพูดว่า ‘เส้นผมของเขานิ่มดีจัง’.....คนกลุ่มแรกที่หัวใจได้รับการเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นคนกล้าหาญของตำบล เป็นหัวหน้าของคนเลวในทุกโอกาส มีคนหนึ่งในกลุ่มนี้เป็นนักชกมวยเพื่อรางวัลที่สนามมวยสวนหมี......{GC 258.2} GCth17 222.2

“พระเจ้าทรงเตรียมพวกเราเพื่อพระประสงค์ของพระองค์ด้วยวิธีการนุ่มนวลเพียงไร สองปีที่แล้ว อิฐก้อนหนึ่งเฉียดไหล่ของข้าพเจ้าไป หนึ่งปีหลังจากนั้น หินก้อนหนึ่งตกใส่ข้าพเจ้าตรงบริเวณระหว่างตา เดือนที่แล้วถูกฟาดหนึ่งครั้งและเย็นนี้สองครั้ง ครั้งหนึ่งก่อนเดินทางเข้ามาเมืองนี้และอีกครั้งหลังจากที่เดินทางออกไปจากที่นี่ แต่ทั้งสองครั้งไม่เป็นอะไรเลย แม้ว่าชายคนหนึ่งจะทุบหน้าอกของข้าพเจ้าอย่างสุดแรงก็ตามและอีกคนตีปากข้าพเจ้าอย่างแรงจนเลือดพุ่งออกมาทันที ข้าพเจ้าไม่รู้สึกเจ็บปวดจากการทุบตีทั้งสองมากไปกว่าฟางแห้งมาถูกตัวข้าพเจ้า” John Wesley, Works เล่มที่ 3 หน้า 297, 298 {GC 259.1} GCth17 223.1

ชาวเมทอดิสต์ในยุคแรก—ทั้งประชาชนและนักเทศน์ต้องทนกับการเย้ยหยันและการกดขี่ข่มเหงจากสมาชิกคริสตจักรและจากผู้ไม่เคร่งครัดศาสนาอย่างเปิดเผยที่ได้รับการยุยงมาอย่างผิดๆ พวกเขาถูกนำตัวขึ้นฟ้องศาลยุติธรรม เป็นความยุติธรรมแต่ในนามเพราะความยุติธรรมเป็นสิ่งที่หายากในศาลสมัยนั้น บ่อยครั้ง พวกเขาต้องทนทุกข์ทรมานกับความรุนแรงจากผู้ที่กดขี่ข่มเหงพวกเขา ฝูงชนไปจากบ้านหนึ่งสู่อีกบ้านหนึ่งเพื่อทำลายเครื่องเรือนและสินค้า ปล้นทุกสิ่งที่พวกเขาต้องการและข่มเหงชายหญิงและเด็กอย่างทารุณ ในบางครั้งจะปิดป้ายประกาศในที่ชุมนุมชนเรียกร้องให้ผู้ที่ต้องการเข้ามาช่วยทุบหน้าต่างและปล้นบ้านของชาวเมทอดิสต์ให้มารวมตัวกันในเวลาและสถานที่ที่กำหนด การละเมิดทั้งกฎของมนุษย์และของพระเจ้าอย่างเปิดเผยเหล่านี้ถูกปล่อยให้เกิดขึ้นโดยไม่มีการห้าม ปล่อยให้มีการกดขี่ข่มเหงอย่างเป็นระบบที่กระทำต่อคนที่มีความผิดอยู่เพียงอย่างเดียวคือการพยายามนำเท้าของคนบาปออกจากทางเดินของความพินาศไปสู่ทางเดินที่บริสุทธิ์ {GC 259.2} GCth17 223.2

จอห์น เวสเล่ย์พูดถึงข้อกล่าวหาตัวเขาเองและผู้ร่วมงานว่า “บางคนกล่าวหาว่าหลักคำสอนของคนเหล่านี้เป็นเรื่องเท็จ บกพร่องและคลั่งความศรัทธา เป็นสิ่งใหม่และไม่เคยได้ยินมาก่อนจนถึงเมื่อไม่นานมานี้ บางคนว่าพวกเขาเป็นลัทธิเควกเคอนิยม [Quakerism พวกเคร่งศาสนา] พวกคลั่งศาสนาและเป็นหลักคำสอนและพิธีกรรมของระบอบเปปาซี การเสแสร้งทั้งหมดนี้ถูกถอนออกมาจากรากแล้ว เป็นที่ประจักษ์แล้วว่าหลักคำสอนทุกแขนงเป็นหลักคำสอนชัดเจนของพระคัมภีร์ที่คริสตจักรของเราเองตีความไว้ ด้วยเหตุนี้จึงไม่ใช่เป็นคำสอนเท็จหรือคำสอนที่ผิด บนเงื่อนไขที่ว่าพระคัมภีร์เป็นจริง” “คนอื่นๆ กล่าวหาว่า ‘คำสอนของพวกเขาเข้มงวดเกินไป พวกเขาทำให้ทางไปสู่สวรรค์แคบเกินไป’ แต่ในความเป็นจริงแล้วนี่เป็นคำค้านแต่เดิม (แทบจะเป็นคำค้านเดียวมาเป็นเวลานาน) และในทางลับๆ แล้วเป็นพื้นฐานของคำค้านอื่นอีกนับพันซึ่งปรากฏออกมาในหลายรูปแบบ แต่สิ่งเหล่านี้จะทำให้ทางไปสวรรค์คับแคบกว่าทางที่องค์พระผู้เป็นเจ้าของเราและอัครสาวกของพระองค์ทำไว้หรือ หลักคำสอนของพวกเขาเคร่งครัดกว่าของพระคัมภีร์หรือ ให้ลองพิจารณาข้อพระคัมภีร์ที่กล่าวไว้อย่างชัดเจนเพียงไม่กี่ข้อ ‘พวกท่านจงรักองค์พระผู้เป็นเจ้าผู้เป็นพระเจ้าของท่านด้วยสุดใจของท่าน ด้วยสุดจิตของท่าน ด้วยสุดกำลังของท่าน’ ‘คำที่ไม่เป็นสาระทุกคำซึ่งมนุษย์พูดนั้น มนุษย์จะต้องรับผิดชอบถ้อยคำเหล่านั้นในวันพิพากษา’ ‘ท่านจะรับประทาน จะดื่ม หรือจะทำอะไรก็ตาม จงทำเพื่อถวายพระเกียรติแด่พระเจ้า’ ลูกา 10:27 มัทธิว 12:36 1 โครินธ์ 10:31 {GC 259.3} GCth17 223.3

“หากหลักคำสอนของพวกเขาเข้มงวดกว่านี้แล้วก็จะต้องโทษพวกเขา แต่จิตสำนึกของท่านก็ทราบดีว่าไม่ใช่ และผู้ใดเล่าจะลดความเข้มงวดลงไปให้น้อยกว่าหนึ่งจุดโดยไม่ทำให้พระวจนะของพระเจ้าเสื่อมไป จะถือว่าผู้พิทักษ์ความล้ำลึกของพระเจ้าเป็นคนสัตย์ซื่อได้ไหมหากเขาเปลี่ยนส่วนใดของทรัพย์สินอันศักดิ์สิทธิ์ที่มอบไว้ในความรับผิดชอบของเขา ไม่ได้ เขาลดความสำคัญส่วนหนึ่งส่วนใดลงไปไม่ได้ เขาทำสิ่งใดให้เบาบางลงไม่ได้ เขาถูกบังคับต้องประกาศให้มนุษย์ทุกคนทราบว่า ‘ข้าพเจ้ามิอาจลดพระคัมภีร์ลงมาสู่รสนิยมของท่านได้ ท่านต้องก้าวไปให้ถึงหรือต้องพินาศไปตลอดกาล’ นี่เป็นพื้นฐานแท้จริงของการเรียกร้องที่นิยมชื่นชอบกันในเรื่องความไม่ใจกว้างของคนเหล่านี้ พวกเขาเป็นคนไม่ใจกว้างอย่างไร ในแง่ไหนละ พวกเขาไม่ได้ให้อาหารแก่คนหิวกระหายและสวมเสื้อผ้าให้คนเปลือยกายหรือ ‘ไม่เลย ไม่ใช่เรื่องนี้ พวกเขาไม่ได้ขาดแคลนในเรื่องนี้ แต่พวกเขาไม่ใจกว้างในเรื่องของการตัดสินลงความเห็น พวกเขาคิดว่าจะไม่มีผู้ใดรอดได้นอกจากผู้ที่ทำตามวิธีของพวกเขาเอง’” Ibid. เล่มที่ 3 หน้า 152, 153 {GC 260.1} GCth17 224.1

การถดถอยฝ่ายวิญญาณซึ่งมีให้เห็นในประเทศอังกฤษในช่วงก่อนสมัยของเวสเล่ย์เพียงเล็กน้อยนั้น ส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากคำสอนแบบต่อต้านพระบัญญัติ คนมากมายยืนยันว่าพระคริสต์รื้อบัญญัติฝ่ายศีลธรรมไปแล้วและคริสเตียนต่างๆ จึงไม่ได้อยู่ภายใต้ข้อบังคับให้ถือปฏิบัติฝ่ายศีลธรรม และผู้เชื่อจะหลุดพ้นจาก “การผูกมัดของการกระทำความดี” ส่วนคนอื่นๆ แม้จะยอมรับว่าพระบัญญัติยังคงยั่งยืนต่อไปนั้น ประกาศว่าเป็นเรื่องไม่จำเป็นที่อาจารย์ทั้งหลายจะเรียกร้องให้ประชาชนเชื่อปฏิบัติตามคำสอนของพระบัญญัติเนื่องจากว่าผู้ที่พระเจ้าทรงเลือกสรรให้รอดนั้น “ด้วยแรงผลักดันที่ไม่มีสิ่งใดต้านทานได้ของพระเจ้าจะนำคนเหล่านี้ให้เคร่งครัดในศาสนาและกระทำคุณความดีเอง” ในส่วนผู้ที่ถูกกำหนดให้เลวทรามไปตลอดกาลจะ “ไม่มีพลังพอที่จะเชื่อฟังพระบัญญัติของพระเจ้า” {GC 260.2} GCth17 224.2

ยังมีคนอื่นที่เชื่อเช่นกันว่า “ผู้ที่พระเจ้าเลือกสรรแล้วจะล้มหายจากพระคุณหรือสูญเสียความพึงพอพระทัยของพระเจ้าไม่ได้” โดยให้ข้อสรุปที่ยิ่งคับแคบกว่านี้ว่า “การกระทำความชั่วของคนเหล่านี้แท้จริงแล้วไม่บาป หรือจะถือว่าเป็นกรณีการละเมิดพระบัญญัติของพระเจ้าของพวกเขาก็หามิได้ ดังนั้น ด้วยประการนี้ พวกเขาจึงไม่มีสาเหตุที่จะต้องสารภาพบาปของพวกเขา หรือหยุดความบาปเหล่านั้นด้วยการกลับใจ” McClintock and Strong, Cyclopedia, art. “ Antinomians.” ดังนั้น พวกเขาจึงประกาศว่าแม้จะเป็นบาปที่เลวร้ายที่สุด “ที่คนทั่วไปถือว่าเป็นการล่วงละเมิดพระบัญญัติของพระเจ้าที่ร้ายแรงที่สุด จะไม่เป็นบาปในสายพระเนตรของพระเจ้า” หากคนที่ทำบาปนั้นเป็นคนที่ได้รับการเลือกสรรแล้ว “เพราะเป็นคุณสมบัติที่สำคัญและโดดเด่นของผู้ที่เลือกสรรแล้ว ที่พวกเขาไม่สามารถทำสิ่งใดที่ไม่เป็นที่พอพระทัยของพระเจ้าหรือที่พระบัญญัติห้ามไว้” {GC 261.1} GCth17 225.1

หลักคำสอนชั่วร้ายนี้โดยพื้นฐานแล้วมีความเหมือนกันกับคำสอนของนักการศึกษาและนักศาสนศาสตร์ชื่อดังในเวลาต่อมาที่ว่า ไม่มีพระบัญญัติของพระเจ้าที่ปรับเปลี่ยนไม่ได้ที่จะนำมาใช้เป็นมาตรฐานของความถูกต้อง แต่มาตรฐานฝ่ายศีลธรรมถูกกำหนดโดยตัวสังคมเองและอยู่ภายใต้การเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ แนวความคิดทั้งหมดนี้ได้รับการดลใจจากวิญญาณบงการเดียวกัน—คือผู้ที่ได้เริ่มงานของมัน ท่ามกลางวิญญาณที่ปราศจากบาปทั้งปวงบนสวรรค์ ในการหาทางที่จะกำจัดความยับยั้งชั่งใจอันชอบธรรมของพระบัญญัติของพระเจ้า {GC 261.2} GCth17 225.2

หลักคำสอนเรื่องพระบัญชาของพระเจ้าซึ่งแก้ไขอุปนิสัยของมนุษย์โดยที่ไม่แปรเปลี่ยนนั้นได้นำคนมากมายไปสู่การไม่ยอมรับพระบัญญัติของพระเจ้าอย่างแท้จริง เวสเล่ย์ยืนหยัดต่อต้านความเชื่อที่ผิดของบรรดาครูนิรบัญญัติก [ (นิ-ระ-บัน-หยัด-ติ-กะ) Antinomian หมายถึงผู้ที่ถือว่าความรอดเกิดจากความเชื่อเท่านั้น เป็นกลุ่มที่มีคำสอนแบบต่อต้านพระบัญญัติ] และแสดงให้เห็นว่าหลักคำสอนที่นำไปสู่คำสอนของพวกนิรบัญญัติกนิยม [Antinomianism] นี้ขัดแย้งกับพระคัมภีร์ “เพราะว่าพระคุณของพระเจ้าปรากฏแล้ว เพื่อช่วยทุกคนให้รอด” “การกระทำเช่นนี้เป็นการดี และเป็นที่ชอบพระทัยของพระเจ้าองค์พระผู้ช่วยให้รอดของเรา พระองค์ทรงประสงค์ให้ทุกคนรับความรอดและรู้ความจริง เพราะว่าพระเจ้ามีองค์เดียว และคนกลางก็มีผู้เดียวระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์ คือพระเยซูคริสต์ผู้ทรงสภาพมนุษย์ ผู้ประทานพระองค์เองเป็นค่าไถ่สำหรับทุกคน เหตุการณ์นี้เป็นพยานในเวลาที่เหมาะสมของมันเอง” ทิตัส 2:11 1 ทิโมธี 2:3-6 พระเจ้าประทานพระวิญญาณของพระองค์อย่างไม่จำกัดเพื่อให้มนุษย์ทุกคนเข้าถึงทางแห่งความรอดได้ ด้วยเหตุนี้ พระคริสต์ผู้ทรงเป็น “ความสว่างแท้ที่ทำให้มนุษย์ทุกคนเห็นความจริงได้นั้นกำลังเข้ามาในโลก” ยอห์น 1:9 มนุษย์ล้มเหลวในเรื่องความรอดโดยการปฏิเสธของประทานแห่งชีวิตโดยเจตนาของเขาเอง {GC 261.3} GCth17 225.3

ในการตอบข้ออ้างที่ว่าเมื่อพระคริสต์สิ้นพระชนม์ ข้อกำหนดของพระบัญญัติสิบประการถูกยกเลิกไปพร้อมกับกฎระเบียบของพิธีกรรมนั้น เวสเล่ย์กล่าวว่า “บัญญัติศีลธรรมที่บรรจุอยู่ในพระบัญญัติสิบประการและบังคับโดยผู้เผยพระวจนะนั้น พระองค์ไม่ได้ลบล้างทิ้งไป การเสด็จมาของพระองค์ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อถอนคืนส่วนใดของเรื่องนี้ นี่คือพระบัญญัติที่ไม่มีอะไรจะทำลายได้ ซึ่ง ‘ยืนหยัดเป็นพยานอันสัตย์ซื่อในสวรรค์’.....เป็นเรื่องที่มีมาตั้งแต่ปฐมกาลของโลกที่ ‘ไม่ได้เขียนไว้บนแผ่นศิลา’ แต่จารึกไว้ในหัวใจของเหล่าบุตรทั้งหลายของมนุษย์เมื่อพวกเขาออกมาจากพระหัตถ์ของพระเจ้าผู้ทรงเป็นพระผู้สร้าง แต่ว่าตัวอักษรที่นิ้วพระหัตถ์ของพระเจ้าเคยจารึกไว้นั้น บัดนี้บาปทำลายไปแล้วเสียส่วนใหญ่ แต่ถึงกระนั้นจะไม่สามารถลบทิ้งไปทั้งหมด ในขณะที่เรายังมีจิตสำนึกของความดีและความชั่วอยู่ ทุกส่วนของพระบัญญัตินี้จะต้องยังคงมีผลบังคับใช้ต่อมวลมนุษย์และในทุกยุคโดยไม่ขึ้นอยู่กับทั้งเวลาหรือสถานที่หรือสถานการณ์อื่นใดที่ง่ายต่อการเปลี่ยนแปลง แต่ขึ้นอยู่กับพระลักษณะของพระเจ้าและลักษณะธรรมชาติของมนุษย์และความสัมพันธ์ที่ไม่เปลี่ยนแปลงที่มีต่อกัน {GC 262.1} GCth17 226.1

” ‘เราไม่ได้มาล้มเลิก แต่มาทำให้สมบูรณ์ทุกประการ’…..โดยไม่มีข้อสงสัย ความหมายของพระองค์ในที่นี้คือ (สอดคล้องกับเรื่องทั้งหมดก่อนหน้านี้และที่ตามหลังมา)—เรามาเพื่อสถาปนาพระบัญญัติให้ครบบริบูรณ์ของมัน ถึงแม้ว่าจะมีการเคลือบปกปิดของมนุษย์อยู่ก็ตาม เรามาเพื่อชี้มุมมองที่ครบถ้วนและชัดเจนของอะไรก็ตามในเรื่องนี้ที่มืดและคลุมเครือ เรามาเพื่อประกาศความสำคัญแท้จริงและเต็มบริบูรณ์ของทุกส่วนของพระบัญญัติ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความเข้าใจอันยาวและกว้างที่ครอบคลุมขอบข่ายทั้งหมดของพระบัญญัติทุกข้อที่อยู่ในนั้น และถึงความลึกซึ้งอันสูงและลึก ความบริสุทธิ์และความเป็นศาสนาของพระบัญญัติในทุกแขนงซึ่งยากเกินกว่าจะเข้าใจได้” Wesley, sermon 25 {GC 262.2} GCth17 226.2

เวสเล่ย์ประกาศถึงความสอดคล้องกันอย่างสมบูรณ์ของพระบัญญัติและของพระกิตติคุณ “ดังนั้น จะมองเห็นความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดที่สุดระหว่างพระบัญญัติและพระกิตติคุณ ในทางหนึ่งพระบัญญัติยังจัดหาทางอยู่ตลอดเวลาและชี้ให้เราไปหาพระกิตติคุณ ในอีกทางหนึ่งพระกิตติคุณนำเราอยู่ตลอดเวลาให้ไปยังการบรรลุถึงพระบัญญัติอย่างบริบูรณ์ยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่นพระบัญญัติกำหนดให้เรารักพระเจ้า ให้รักเพื่อนบ้าน ให้เป็นคนสุภาพ ถ่อมใจหรือบริสุทธิ์ เรารู้สึกว่าเราไม่สมบูรณ์ในสิ่งเหล่านี้ ใช่ สำหรับเราแล้ว ‘มนุษย์ทำสิ่งเหล่านี้ไม่ได้’ แต่เราเองเห็นพระสัญญาของพระเจ้าที่จะประทานความรักนั้นแก่เราและทำให้เราถ่อมใจ สุภาพและบริสุทธิ์ เรายึดพระกิตติคุณนี้และข่าวประเสริฐนี้ไว้ เป็นสิ่งที่กระทำแก่เราตามความเชื่อของเราแล้วเราจะบรรลุถึงความชอบธรรมของพระบัญญัติโดยความเชื่อซึ่งมีอยู่ในพระเยซูคริสต์........{GC 263.1} GCth17 227.1

เวสเล่ย์กล่าวว่า “ศัตรูระดับสูงสุดของพระกิตติคุณของพระคริสต์คือผู้ที่ตีความหมายของพระบัญญัติเข้าข้างตนเองอย่างโจ่งแจ้งและแน่ชัดและกล่าวร้ายพระบัญญัติ คือผู้ที่สอนมนุษย์ให้ละเมิด (ลบล้าง ปล่อยวาง ยกเลิกพันธะ) ไม่ใช่เพียงข้อเดียวเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นข้อที่เล็กที่สุดหรือใหญ่ที่สุดแต่รวมถึงพระบัญญัติทั้งหมดเลยทีเดียว.......เรื่องแปลกประหลาดที่สุดของเหตุการณ์หลอกลวงอย่างรุนแรงทั้งหมดนี้คือผู้ที่ยอมปล่อยตัวให้กับเรื่องนี้ เชื่ออย่างจริงจังว่าพวกเขาถวายเกียรติพระคริสต์ด้วยการโยนพระบัญญัติของพระองค์ทิ้งไป และเชื่อว่าพวกเขากำลังขยายงานของพระองค์ให้กว้างขึ้นทั้งๆ ที่พวกเขากำลังทำลายหลักคำสอนของพระองค์ ใช่แล้ว พวกเขาถวายเกียรติพระองค์เหมือนเช่นยูดาสทำเมื่อพูดว่า ‘สวัสดีพระอาจารย์ แล้วจูบคำนับพระองค์’ พระองค์น่าจะตรัสกับพวกเขาทุกคนได้อย่างยุติธรรมว่า ‘ท่านจะทรยศบุตรมนุษย์ด้วยการจูบหรือ’ การกระทำต่อไปนี้ไม่ใช่อื่นใดนอกจากเป็นการทรยศพระองค์ด้วยการจูบ คือการพูดถึงพระโลหิตของพระองค์แล้วก็ถอดมงกุฎของพระองค์ออกไป คือการทำส่วนใดส่วนหนึ่งของพระบัญญัติของพระองค์ให้ด้อยความสำคัญลงภายใต้ข้ออ้างว่าจะทำให้พระกิตติคุณของพระองค์ก้าวหน้าไป อีกทั้งไม่มีใครที่จะสามารถหนีข้อกล่าวหานี้ได้อย่างแน่นอน คือผู้ซึ่งเทศนาสั่งสอนความเชื่อไม่ว่าจะเป็นโดยตรงหรือโดยอ้อมในลักษณะที่มีแนวโน้มจะทำให้ทุกแขนงของการเชื่อฟังถูกขจัดออกไป รวมถึงผู้ซึ่งเทศนาสั่งสอนเรื่องของพระคริสต์เพื่อจะล้มเลิกหรือลดความสำคัญในทางใดก็ตามแม้เพียงที่เล็กน้อยที่สุดของพระบัญญัติของพระเจ้า” Ibid. {GC 263.2} GCth17 227.2

ต่อผู้ที่ชอบย้ำว่า “การเทศนาเรื่องของพระกิตติคุณจะตอบคำถามของพระบัญญัติได้ทั้งหมด” เวสเล่ย์ตอบว่า “เรื่องนี้เราปฏิเสธอย่างที่สุด การสอนนี้ไม่บรรลุจุดประสงค์แรกที่สุดของพระบัญญัติ กล่าวคือ การโน้มน้าวมนุษย์ให้เชื่อในความบาป และการปลุกผู้คนที่หลับใหลไม่รู้ตัวที่ขอบปลายนรกให้ตื่นตัวขึ้นมา” อัครทูตเปาโลประกาศว่า “ธรรมบัญญัตินั้นทำให้เรารู้จักบาป” “และมนุษย์จะรู้สึกได้ว่าต้องการพระโลหิตของพระคริสต์เพื่อชำระล้างบาปของเขาได้ก็ต่อเมื่อเขาจะสำนึกว่าตนเป็นคนบาปเท่านั้น พระผู้เป็นเจ้าของเราเองยังตรัสว่า ‘คนแข็งแรงไม่ต้องการหมอ แต่คนเจ็บป่วยต้องการ’ ดังนั้นเป็นเรื่องเหลวไหลที่จะเสนอแพทย์ให้ผู้ที่ยังแข็งแรงอยู่หรืออย่างน้อยวาดมโนภาพว่าตนเป็นคนเช่นนั้น ก่อนอื่น ท่านต้องทำให้พวกเขาเชื่อว่าพวกเขาเป็นคนป่วย มิฉะนั้นแล้วพวกเขาจะไม่ขอบคุณท่านที่ทำงานให้พวกเขา เป็นเรื่องเหลวไหลพอๆ กันที่จะเสนอพระคริสต์ให้กับผู้ที่หัวใจยังเต็มดวงอยู่ ที่ยังไม่เคยแตกหักสลายไป” โรม 3:20 มัทธิว 9:12 Ibid. sermon 35 {GC 264.1} GCth17 228.1

ด้วยเหตุนี้ ในขณะที่เวสเล่ย์ประกาศข่าวประเสริฐแห่งพระคุณของพระเจ้า เขาทำตัวเหมือนกับพระอาจารย์ของเขาที่เพียรพยายาม “ทำให้ธรรมบัญญัตินั้นยิ่งใหญ่และมีเกียรติ” อิสยาห์ 42:21 เขาบรรลุงานที่พระเจ้าทรงมอบหมายให้เขาทำอย่างซื่อสัตย์และพระองค์ทรงอนุญาตให้เขามีโอกาสเห็นผลงานเหล่านั้น ในช่วงบั้นปลายชีวิตอันยาวนานกว่าแปดสิบปีของเขา—มากกว่ากึ่งศตวรรษที่เขารับใช้ด้วยการเดินทางประกาศ—มีจิตวิญญาณที่ฝักใฝ่ติดตามเขากว่าครึ่งล้าน แต่มีคนจำนวนอีกมากมายผ่านการทำงานของเขาได้รับการช่วยกู้ออกมาจากความหายนะและความตกต่ำของบาปไปสู่ชีวิตที่สูงส่งและบริสุทธิ์ขึ้น และเราจะไม่มีทางรู้ถึงจำนวนคนที่บรรลุถึงประสบการณ์ที่ลึกซึ้งและอิ่มเอิบกว่านั้น จนกว่าครอบครัวของผู้ที่ได้รับความรอดทั้งหมดจะมารวมตัวกันในแผ่นดินของพระเจ้า ชีวิตของเขาสาธิตให้เห็นถึงบทเรียนอันล้ำค่าคู่ควรต่อคริสเตียนทุกคน ขอให้ความเชื่อ ความถ่อมตน ความกระตือรือร้นที่ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย การเสียสละตนและการอุทิศตนของผู้รับใช้ของพระคริสต์ท่านนี้สะท้อนออกมาจากคริสตจักรในทุกวันนี้เทอญ {GC 264.2} GCth17 228.2

*****