สงครามครั้งยิ่งใหญ่

15/45

บท 12 - การปฏิรูปศาสนาในประเทศฝรั่งเศส

การประท้วงที่เมืองสปายส์และการสารภาพความเชื่อที่เมืองออกซ์บูร์กซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งชัยชนะของการปฏิรูปศาสนาในประเทศเยอรมนีนั้นก่อให้เกิดความขัดแย้งและความอึมครึมตามมาเป็นเวลาหลายปี ความแตกแยกของผู้สนับสนุนและการคุกคามของศัตรูที่เข้มแข็งกว่าบั่นทอนกำลังจนดูเหมือนว่าขบวนการนิยมโปรเตสแตนต์คงต้องพบการล่มสลายเป็นแน่ คนนับพันประทับตราคำพยานของพวกเขาด้วยเลือดของตนเอง สงครามกลางเมืองระเบิดขึ้น อุดมการณ์ของชาวโปรเตสแตนต์ถูกผู้เชื่อแนวหน้าคนหนึ่งหักหลัง ส่งผลให้เจ้าผู้ครองแคว้นที่ฝักใฝ่ปฏิรูปผู้สูงศักดิ์ที่สุดพระองค์หนึ่งตกไปอยู่ในมือของจักรพรรดิและเป็นเชลยถูกลากจากเมืองหนึ่งไปยังอีกเมืองหนึ่ง แต่ในเสี้ยววินาทีของชัยชนะที่อยู่แค่เอื้อมนี้เอง ความพ่ายแพ้เข้าจู่โจมจักรพรรดิ พระองค์ทอดพระเนตรเหยื่อถูกฉกชิงออกไปจากอุ้งพระหัตถ์ต่อหน้าต่อตา ในที่สุดพระองค์ทรงจำยอมต้องอนุญาตให้เสรีภาพแก่หลักคำสอนที่พระองค์ทรงมุ่งมั่นทำลายมาทั้งชีวิตของพระองค์ พระองค์ทรงเอาราชอาณาจักร สมบัติและชีวิตทั้งหมดเป็นเดิมพันในการบดขยี้พวกนอกรีตให้สิ้นซาก บัดนี้ทรงเห็นสงครามทำลายกองทัพของพระองค์เอง ดูดกินทรัพย์สินของพระองค์ อาณาจักรต่างๆ ของพระองค์ถูกคุกคามจากการกบฏ ในขณะที่ทุกแห่งหนความเชื่อที่พระองค์ทรงพยายามกำจัดกำลังแผ่ขยายวงกว้างยิ่งขึ้น จักรพรรดิชาร์ลส์ที่ 5 ทรงกำลังต่อสู้กับฤทธานุภาพอันสัพพัญญู พระเจ้าตรัสว่า “จงเกิดความสว่าง” ปฐมกาล 1:3 แต่จักรพรรดิทรงใช้ความพยายามที่จะรักษาความมืดให้ปกคลุมอย่างไม่สิ้นสุด เป้าหมายของพระองค์ล้มเหลวและในสภาพที่แก่ก่อนวัย และความเสื่อมโทรมจากการต่อสู้มานาน พระองค์จึงทรงสละราชสมบัติและทรงหลบไปเก็บตัวอยู่ในวัด {GC 211.1} GCth17 175.1

ที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ก็เหมือนกับที่ประเทศเยอรมนี ต้องพบกับวันมืดมนของการปฏิรูปศาสนา ในขณะที่มีหลายเขตปกครองรับความเชื่อการปฏิรูปแล้วก็ตาม เขตอื่นๆ ก็ยังยึดติดอยู่กับศาสนาของโรม การกดขี่ข่มเหงของพวกเขาที่กระทำต่อผู้ที่ต้องการรับสัจธรรมก่อให้เกิดสงครามกลางเมือง สวิงก์ลีและหลายคนที่เข้าร่วมกับเขาในการปฏิรูปล้มเสียชีวิตในสนามการต่อสู้นองเลือดที่เมืองเคพเพล อีโคลัมพาเดียสถูกเรื่องหายนะน่ากลัวเหล่านี้รุมเร้า ไม่นานต่อมาก็เสียชีวิต โรมประสบชัยและดูเหมือนว่าในสถานที่หลายแห่งโรมกำลังได้สิ่งทั้งหลายที่เธอสูญเสียไปกลับคืนมา แต่พระองค์ผู้ประทานคำแนะนำตั้งแต่นิรันดร์กาลไม่ทรงเคยทอดทิ้งพระราชกิจของพระองค์หรือประชากรของพระองค์ พระหัตถ์ของพระองค์จะทรงช่วยกู้พวกเขาออกมา ในดินแดนอื่นๆ พระองค์ทรงเรียกกรรมกรขึ้นมาเพื่อสานต่องานการปฏิรูป {GC 211.2} GCth17 175.2

ในประเทศฝรั่งเศส วันใหม่เริ่มต้นก่อนที่ชื่อของลูเธอร์จะเป็นที่รู้จักในนามของนักปฏิรูป หนึ่งในผู้ที่พบความกระจ่างคือชายสูงอายุชื่อลาเฟบเร [Lefevre] เขาเป็นผู้มีการศึกษาอย่างกว้างขวาง เป็นศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัยปารีสและเป็นผู้นิยมระบอบเปปาซีอย่างจริงใจและกระตือรือร้น ในขณะที่เขาวิจัยค้นคว้าเรื่องวรรณคดีโบราณ เขาพุ่งความสนใจไปที่พระคัมภีร์และแนะนำการศึกษาเรื่องนี้ให้แก่นักศึกษาของเขา {GC 212.1} GCth17 176.1

ลาเฟบเรเป็นผู้เทิดทูนนักบุญอย่างแรงกล้า และเขากำลังดำเนินการที่จะเขียนประวัติศาสตร์เรื่องนักบุญและผู้พลีชีพทั้งหลายตามตำนานของคริสตจักร นี่เป็นงานหนักมาก แต่เขาก็เดินหน้าดำเนินการงานชิ้นนี้มาได้พอสมควรแล้ว เมื่อนึกขึ้นได้ว่าเขาอาจหาข้อมูลที่เป็นประโยชน์ได้จากในพระคัมภีร์ ด้วยเป้าหมายนี้เขาจึงเริ่มศึกษาพระคัมภีร์ แน่นอนทีเดียวเขาพบนักบุญในพระคัมภีร์ แต่ไม่ใช่เป็นไปตามรูปแบบที่บันทึกของพวกโรมัน ความกระจ่างเจิดจ้าจากพระเจ้าปรากฏขึ้นในสติปัญญาของเขา ด้วยความประหลาดใจและความรังเกียจ เขาหันหลังให้กับงานที่เขากำหนดให้ตนเองและอุทิศตนให้กับการศึกษาพระวจนะของพระเจ้า ในไม่ช้าเขาเริ่มสอนสัจธรรมอันล้ำค่าที่เขาค้นพบ {GC 212.2} GCth17 176.2

ในปี ค.ศ. 1512 ก่อนที่ทั้งลูเธอร์และสวิงก์ลีเริ่มงานการปฏิรูป ลาเฟบเรเขียนบันทึกไว้ว่า “ด้วยความเชื่อ พระเจ้าทรงเป็นผู้ประทานความชอบธรรมนั้นแก่เราซึ่งโดยพระคุณเท่านั้นที่จะชำระเราให้บริสุทธิ์สำหรับชีวิตนิรันดร์” Wylie เล่มที่ 13 บทที่ 1 เมื่อเขาใคร่ครวญถึงความลึกลับของการไถ่ให้รอดแล้ว เขาร้องอุทานขึ้นมาว่า “โอ การแลกเปลี่ยนอันยิ่งใหญ่ที่เหนือคำพูดใดๆ พระองค์ผู้ทรงปราศจากบาปถูกตัดสินให้ตายและคนผิดกลับเป็นอิสระ พระผู้อำนวยพรทรงแบกรับคำสาปและคนที่สมควรถูกสาปกลับได้รับพระพร พระผู้ให้กำเนิดชีวิตสิ้นพระชนม์และคนตายกลับมีชีวิตอยู่ต่อไป ความมืดปกคลุมพระสิริอันเจิดจ้า แต่ผู้ที่ไม่รู้อะไรเลยนอกจากความสับสนกลับได้สวมอาภรณ์แห่งพระสิริ” D’Aubigné, London ed. เล่มที่ 12 บทที่ 2 {GC 212.3} GCth17 176.3

ในขณะที่เขาสอนว่าพระสิริแห่งการช่วยให้รอดเป็นของพระเจ้าเพียงผู้เดียวนั้น เขาก็ประกาศเช่นกันว่าหน้าที่ของการเชื่อฟังเป็นของมนุษย์ เขาพูดว่า “หากท่านเป็นสมาชิกในคริสตจักรของพระคริสต์ ท่านเป็นส่วนหนึ่งของพระกายของพระองค์ หากท่านเป็นของพระกายของพระองค์ ท่านก็จะเปี่ยมด้วยพระลักษณะของพระเจ้า......โอ หากมนุษย์จะเข้าถึงความเข้าใจของอภิสิทธิ์นี้ เขาจะดำเนินชีวิตที่สะอาด บริสุทธิ์มีศีลธรรมและน่าเคารพมากเพียงไร และจะน่าชังเพียงไรเมื่อเปรียบเทียบกับความสง่างามภายในตัวเขาซึ่งเป็นความสง่างามที่ตาฝ่ายเนื้อหนังมองไม่เห็น และแล้วเขายังจะนึกถึงความสง่างามทั้งหมดของโลกนี้อีกหรือ” Ibid. เล่มที่ 12 บทที่ 2 {GC 213.1} GCth17 177.1

ในหมู่นักเรียนของลาเฟบเรมีบางคนที่ฟังถ้อยคำของเขาอย่างใจจดใจจ่อและเป็นผู้ที่จะประกาศสัจธรรมต่อไปหลังจากเสียงของผู้เป็นครูจะยุติไปนานแล้ว ตัวอย่างเช่น วิลเลียม ฟาเรล [William Farel] เขาเป็นบุตรชายของพ่อแม่ที่เคร่งครัดศาสนาและถูกอบรมให้รับความเชื่อในคำสอนของคริสตจักรโดยไม่สงสัย เขาอาจพูดถึงตนเองเหมือนที่อัครทูตเปาโลพูด “ข้าพระบาทดำเนินชีวิตตามลัทธิที่เคร่งที่สุดในศาสนาของพวกข้าพระบาทคือเป็นพวกฟาริสี” กิจการ 26:5 เขาเป็นผู้นิยมลัทธิโรมันที่เคร่งครัด เขารุ่มร้อนด้วยความกระตือรือร้นที่จะทำลายทุกคนที่กล้าต่อต้านคริสตจักร ในเวลาต่อมาเขาพูดถึงชีวิตของเขาในเวลานั้นว่า “ข้าพเจ้าจะขบฟันของข้าพเจ้าเหมือนสุนัขป่าที่ดุร้ายเมื่อข้าพเจ้าได้ยินใครก็ตามที่พูดต่อต้านพระสันตะปาปา” Wylie เล่มที่ 13 บทที่ 2 เขาไม่เคยลดละการเชิดชูบรรดานักบุญ เขาผลัดเปลี่ยนไปเข้าพิธีตามโบสถ์ต่างๆ ของกรุงปารีสโดยมีลาเฟบเรเป็นเพื่อน กราบไหว้นมัสการที่แท่นบูชาและตกแต่งศาลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ด้วยของถวาย แต่การถือปฏิบัติสิ่งต่างๆ เหล่านี้ไม่ได้นำสันติสุขมาสู่จิตวิญญาณของเขาเลย ความสำนึกผิดในบาปตราตรึงอยู่กับเขาซึ่งการปลงอาบัติทั้งหมดไม่อาจที่จะขจัดทิ้งไปได้ ดั่งเสียงที่มาจากสวรรค์ เขาได้ยินคำของนักปฏิรูปศาสนาที่ว่า “ความรอดได้มาโดยพระคุณ” “พระองค์ผู้ไม่ทรงมีบาปได้ถูกกำหนดให้ตายและอาชญากรได้รับการปลดปล่อย” “กางเขนของพระคริสต์เท่านั้นที่จะเปิดประตูของสวรรค์และปิดประตูของนรก” {GC 213.2} GCth17 177.2

ฟาเรลตอบรับสัจธรรมอย่างชื่นชมยินดีเหมือนเช่นการกลับใจของเปาโล เขาหันหลังให้กับพันธนาการผูกมัดของประเพณี ไปสู่เสรีภาพของพระบุตรของพระเจ้า เขาพูดว่า “ข้าพเจ้าเดินกลับมาดั่งลูกแกะที่ถ่อมตนและไม่มีภัย แทนที่จะเป็นสุนัขจิ้งจอกที่มีหัวใจฆาตกร เขาถอนหัวใจทั้งสิ้นของเขาออกไปให้พ้นจากพระสันตะปาปาและมอบถวายแด่พระเยซูคริสต์” D’Aubigné เล่มที่ 12 บทที่ 3 {GC 214.1} GCth17 178.1

ในขณะที่ลาเฟบเรเผยแพร่ความกระจ่างแก่หมู่นักศึกษาต่อไปนั้น ฟาเรลรับใช้พระคริสต์อย่างกระตือรือร้นเหมือนเช่นที่เคยทำให้กับงานของพระสันตะปาปา เขาออกประกาศสัจธรรมในที่สาธารณะ ไม่นานต่อมา บิชอปแห่งเมืองมีอูสที่เป็นเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่คนหนึ่งของคริสตจักรได้เข้ามาร่วมกับพวกเขา มีครูชั้นนำมากด้วยความสามารถและความรู้ได้เข้าร่วมงานประกาศข่าวประเสริฐและสามารถนำคนทุกชนชั้นเข้ามาเชื่อ จากบ้านของช่างฝีมือและชาวนาไปจนถึงราชวังของพระราชา พระขนิษฐาของกษัตริย์ฟรานซิสที่ 1 ซึ่งขณะนั้นเป็นพระราชวงศ์ที่ปกครองอยู่ได้มารับเชื่อเรื่องการปฏิรูป ดูเหมือนว่าชั่วเวลาหนึ่งกษัตริย์เองและพระราชชนนีให้ความเห็นชอบกับเรื่องนี้ นักปฏิรูปรอคอยเวลาเมื่อทั้งประเทศฝรั่งเศสจะเข้ามาอยู่ภายใต้ร่มของข่าวประเสริฐอย่างเปี่ยมด้วยความหวัง {GC 214.2} GCth17 178.2

แต่พวกเขาไม่สมหวัง การทดลองและการกดขี่ข่มเหงรอคอยสาวกของพระคริสต์อยู่ แต่ด้วยความเมตตาปรานี เรื่องนี้จึงถูกปกปิดไม่ให้พวกเขามองเห็น มีช่วงเวลาแห่งสันติเข้ามาแทรกเพื่อเสริมพลังสำหรับรับมือกับพายุลูกใหญ่ และการปฏิรูปศาสนาเจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว บิชอปแห่งเมืองมีอูสทำงานด้วยความกระตือรือร้นในแขวงการปกครองของท่านเพื่อสอนทั้งนักบวชและประชาชน บาทหลวงที่ขาดความรู้และไร้ศีลธรรมถูกปลดทิ้งไปหมดและเท่าที่พอจะทำได้นำผู้ที่มีความรู้และเคร่งครัดฝ่ายศาสนาเข้ามาทำงานแทน บิชอปองค์นี้มีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะให้ประชาชนของท่านเข้าถึงพระวจนะของพระเจ้าด้วยตัวของเขาเองและในไม่ช้าก็ทำเรื่องนี้จนสำเร็จ ลาเฟบเรลงแรงแปลพระคริสตธรรมคัมภีร์ใหม่และในช่วงเวลาเดียวกับที่พระคัมภีร์ภาษาเยอรมันของลูเธอร์ออกมาจากโรงพิมพ์ที่เมืองวิตเทนเบิร์ก พระคริสตธรรมคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ภาษาฝรั่งเศสก็ถูกจัดพิมพ์เผยแพร่ในเมืองมีอูส บิชอปทุ่มเททั้งแรงงานและค่าใช้จ่ายเพื่อแจกจ่ายพระคัมภีร์ไปยังวัดต่างๆ ที่อยู่ภายใต้การดูแลของท่านและในไม่ช้าชาวนาแห่งเมืองมีอูสเป็นเจ้าของพระคริสตธรรมคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์นี้ {GC 214.3} GCth17 178.3

จิตวิญญาณเหล่านี้ต้อนรับข่าวสารจากสวรรค์ดั่งคนเดินทางไกลที่กระหายน้ำเจียนตายต้อนรับน้ำพุแห่งชีวิตด้วยความชื่นชมยินดี คนงานในทุ่งนา ช่างฝีมือในโรงงาน ผ่อนคลายความเหน็ดเหนื่อยจากงานประจำวันที่ตรากตรำโดยการสนทนาถึงสัจธรรมอันล้ำค่าของพระคัมภีร์ พอตกเย็นพวกเขาชุมนุมกันตามบ้านเพื่ออ่านพระวจนะของพระเจ้าและร่วมกันอธิษฐานและสรรเสริญพระเจ้าแทนที่จะเดินเข้าโรงเหล้า ในไม่ช้าการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่เกิดขึ้นในชุมชนเหล่านี้ ถึงแม้ว่าพวกชาวนาจะเป็นชนชั้นต่ำที่สุดและไม่มีการศึกษาและต้องทำงานหนักก็ตาม ฤทธานุภาพแห่งพระคุณของพระเจ้าที่ปฏิรูปและยกชูระดับให้สูงขึ้นในชีวิตของพวกเขาก็ได้สำแดงออกมา ด้วยความถ่อมตน เปี่ยมด้วยความรักและความบริสุทธิ์ พวกเขายืนขึ้นเป็นพยานให้เป็นที่ประจักษ์ว่าข่าวประเสริฐสามารถบรรลุอะไรได้บ้างแก่ผู้ที่รับไว้ด้วยความจริงใจ {GC 215.1} GCth17 179.1

แสงสว่างที่จุดขึ้นในเมืองมีอูสส่องไปไกล จำนวนคนที่กลับใจเพิ่มขึ้นทุกวัน ความโกรธเคืองของผู้ที่อยู่ในอำนาจถูกสกัดกั้นไประยะเวลาหนึ่งโดยกษัตริย์ผู้ทรงรังเกียจความดันทุรังใจแคบของสภาการปกครองของสงฆ์ แต่ในที่สุดผู้นำของระบอบเปปาซีสามารถกำชัยชนะ บัดนี้มีการปักเสาประหารไว้พร้อมแล้ว บิชอปแห่งเมืองมีอูสถูกบังคับให้เลือกระหว่างเปลวเพลิงและการกลับคำ เขาเลือกทางเดินที่ง่ายกว่า แต่ฝูงแกะของเขายังคงยืนหยัดอย่างมั่นคงอยู่โดยไม่ใส่ใจกับผู้นำที่ล้มไปแล้ว หลายคนเป็นพยานให้กับสัจธรรมในเปลวเพลิง ด้วยความกล้าหาญและความซื่อสัตย์ที่หลักประหารของพวกเขาเช่นนี้ คริสตชนถ่อมตนเหล่านี้ได้บอกกับคนนับพันซึ่งในวันเวลาแห่งความสงบไม่เคยได้ยินคำพยานของพวกเขาเลย {GC 215.2} GCth17 179.2

ไม่เพียงแต่คนต่ำต้อยและยากจนที่จมอยู่ในความทุกข์ลำบากและความเหยียดหยามเท่านั้นที่กล้าลุกขึ้นเป็นพยานเพื่อพระคริสต์ ในท้องพระโรงอันโอ่โถงของปราสาทและในพระราชวังยังมีจิตวิญญาณเชื้อพระวงศ์ที่ถือว่าสัจธรรมมีค่ามากกว่าทรัพย์สมบัติหรือยศตำแหน่งหรือแม้ชีวิต ชุดเสื้อเกราะของกษัตริย์หุ้มห่อจิตวิญญาณอันสูงส่งและมั่นคงแน่วแน่ได้ดีกว่าเสื้อคลุมและหมวกยศของบิชอป หลุยส์ เด เบอร์ควิน [Louis de Berquin] เกิดในตระกูลสูงศักดิ์ เขาเป็นขุนนางชั้นอัศวิน มีความกล้าหาญและมียศศักดิ์สูงส่ง เขาเอาใจใส่กับการศึกษา มีมารยาทที่ดีและศีลธรรมไร้ที่ติ มีนักเขียนคนหนึ่งบันทึกไว้ว่า “เขาเป็นผู้ติดตามธรรมนูญของชาวระบอบเปปาซีที่ยิ่งใหญ่คนหนึ่งและเป็นผู้ฟังคนสำคัญของพิธีมิสซาและการเทศนา......และเขายกชูคุณความดีอื่นๆ ของเขาทั้งหมดด้วยการแสดงความเกลียดชังเป็นพิเศษต่อนิกายลูเธอร์เรน” แต่เช่นเดียวกับคนอื่นๆ อีกมากมายที่ได้รับการทรงนำให้เข้าถึงพระคัมภีร์ เขาประหลาดใจที่ได้ค้นพบว่าคำสอนในพระคัมภีร์นั้น “ไม่ใช่หลักคำสอนของโรมแต่เป็นหลักคำสอนของลูเธอร์” Wylie เล่มที่ 13 บทที่ 9 ตั้งแต่เวลานั้นเป็นต้นมา เขาอุทิศตนเองทั้งหมดเพื่ออุดมการณ์ของข่าวประเสริฐ {GC 215.3} GCth17 179.3

“เขาเป็นขุนนางชั้นสูงที่มีการศึกษาดีเลิศที่สุดของประเทศฝรั่งเศส” ความฉลาดและวาทศิลป์ของเขา ความกล้าหาญที่เด็ดเดี่ยวและความกระตือรือร้นอย่างวีรบุรุษของเขาและบารมีที่เขามีในพระราชสำนักเพราะเขาเป็นที่พอพระทัยของพระราชา เป็นสาเหตุให้คนทั่วไปคาดหวังว่าเขาเป็นผู้ที่ชะตากรรมกำหนดมาเป็นนักปฏิรูปศาสนาของประเทศ เบซา [Beza] กล่าวว่า “เบอร์ควินน่าจะเป็นลูเธอร์คนที่สอง หากกษัตริย์ฟรานซิสที่ 1 ทรงเป็นอิเล็กเตอร์คนที่สอง” บรรดาผู้นิยมระบอบเปปาซีร้องตะโกนว่า “เขาเลวยิ่งกว่าลูเธอร์เสียอีก” Ibid, เล่มที่ 13 บทที่ 9 แน่นอนทีเดียวที่บรรดาผู้นิยมลัทธิโรมันของประเทศฝรั่งเศสรังเกียจเขามากยิ่งกว่านี้ พวกเขาจับเขาโยนใส่ห้องขังด้วยข้อกล่าวหาเป็นคนนอกศาสนา แต่พระราชาทรงปล่อยให้เขาได้รับอิสรภาพ การต่อสู้นี้ดำเนินต่อไปเป็นเวลาหลายปี กษัตริย์ฟรานซิสทรงโอนเอนอยู่ระหว่างโรมและการปฏิรูปศาสนา พระองค์ทรงใช้วิธีผ่อนปรนกับการยับยั้งความโหดร้ายของพวกพระนักบวชสลับกันไป เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองของพระสันตะปาปาจับเบอร์ควินขังในเรือนจำสามครั้ง แต่พระราชาก็ทรงปล่อยเขาออกมา พระองค์ทรงชื่นชอบความฉลาดและความงามของอุปนิสัยของเขา ไม่ทรงยอมที่จะปล่อยให้เขาตกไปอยู่ในมือของความอาฆาตมาดร้ายของบรรดาพระราชาคณะ {GC 216.1} GCth17 180.1

ครั้งแล้วครั้งเล่ามีคำเตือนมาถึงเบอร์ควินแจ้งถึงภัยอันตรายที่คุกคามเขาในประเทศฝรั่งเศสพร้อมกับรบเร้าเขาให้เดินตามรอยเท้าของผู้ที่พบความปลอดภัยโดยการเนรเทศตัวเองด้วยความสมัครใจ เอรัสมัส [Erasmus] ที่ขี้ขลาดและเป็นนักฉวยโอกาส เป็นผู้มีความรอบรู้มากมาย แต่บกพร่องในเรื่องจริยธรรมซึ่งเรียกร้องให้ยึดถือชีวิตและเกียรติยศที่ต้องยอมจำนนอยู่ภายใต้สัจธรรม ได้เขียนจดหมายถึงเบอร์ควินใจความว่า “ขอตัวไปเป็นทูตของต่างประเทศซิ เดินทางท่องไปในประเทศเยอรมนี ท่านรู้จักเบดาเป็นอย่างดี และเขาเป็นคนเช่นนี้คือเป็นสัตว์ประหลาดพันหัว พ่นพิษรอบทิศ ศัตรูของท่านชื่อกอง อุดมการณ์ของท่านดีกว่าอุดมการณ์ของพระเยซูคริสต์หรือ พวกเขาจะไม่ปล่อยท่านไปจนกว่าจะได้ทำลายท่านอย่างทุกข์ทรมาน อย่าวางใจในการคุ้มครองของพระราชามากนัก ไม่ว่าในกรณีใดๆ อย่าเอาตัวข้าพเจ้าไปประนีประนอมกับคณะศาสนศาสตร์” Ibid. เล่มที่ 13 บทที่ 9 {GC 216.2} GCth17 180.2

แต่ขณะที่ภัยอันตรายเข้มข้นขึ้น ความกระตือรือร้นของเบอร์ควินมีแต่จะแข็งแกร่งยิ่งขึ้น แทนที่จะทำตามคำแนะนำให้ใช้วิธีการเมืองและเอาตัวรอดของเอรัสมัส เขากลับตัดสินใจเด็ดขาดที่จะใช้วิธีที่ท้าทายมากยิ่งขึ้น เขาไม่เพียงแต่จะยืนหยัดเพื่อปกป้องสัจธรรม แต่จะโจมตีความผิดพลาดด้วย ข้อกล่าวหาว่าเป็นพวกนอกศาสนาที่บรรดาผู้นิยมลัทธิโรมันพยายามใช้เพื่อจองจำเขา เขาจะย้อนข้อกล่าวหานี้มัดใส่พวกเขา ผู้ต่อต้านที่แข็งขันและอาฆาตมาดร้ายที่สุดของเขาคือบรรดาดุษฎีบัณฑิตผู้คงแก่เรียนและนักบวชต่างๆ ของแผนกศาสนศาสตร์ของมหาวิทยาลัยปารีสซึ่งเป็นสถาบันชั้นนำทางด้านศาสนศาสตร์ของระดับเมืองและระดับชาติ จากผลงานเขียนของดุษฎีบัณฑิตเหล่านี้เบอร์ควินร่างข้อเสนอสิบสองรายการที่เขาประกาศอย่างเปิดเผยว่า “ขัดกับพระคัมภีร์และเป็นคำสอนนอกรีต” และเขายื่นทูลขอให้พระราชาทรงเป็นผู้พิพากษาในความขัดแย้งครั้งนี้ {GC 216.3} GCth17 180.3

พระราชาไม่ทรงปรารถนาที่จะนำกำลังและความเห็นต่างของคู่ต่อสู้ที่ขัดแย้งกันมาปะทะกันและทรงยินดีที่จะมีโอกาสสยบความยโสของพระนักบวชเหล่านี้ พระองค์ทรงขอให้เหล่าผู้นิยมลัทธิโรมันใช้พระคัมภีร์ป้องกันอุดมการณ์ของตน พวกเขารู้ดีแก่ใจว่าอาวุธนี้จะเอื้อประโยชน์แก่พวกเขาเพียงน้อยนิด การกักขัง การทรมาน และเสาประหารต่างหากเป็นอาวุธที่พวกเขาใช้ด้วยความเชี่ยวชาญ บัดนี้เหตุการณ์กลับตาลปัตรและพวกเขารู้ดีว่าตนเองกำลังจะตกลงไปในเหวที่พวกเขาตั้งใจจะโยนเบอร์ควินลงไป ด้วยความตกตะลึงพวกเขาเหลียวมองรอบกายเพื่อหาทางหนี {GC 217.1} GCth17 181.1

“ในช่วงเวลานั้นเอง รูปปั้นของพระแม่มารีย์หญิงพรหมจรรย์ที่ตั้งอยู่มุมถนนแห่งหนึ่งถูกทุบทำลาย” เกิดความวุ่นวายขึ้นในเมือง ประชาชนกลุ่มใหญ่พากันวิ่งไปยังสถานที่แห่งนั้นด้วยสีหน้าที่อาลัยและโกรธจัด กษัตริย์ก็ทรงสะเทือนพระทัยมาก นี่เป็นโอกาสที่เอื้ออำนวยประโยชน์แก่บรรดาพระนักบวชที่จะใช้แก้ไขสถานการณ์ของฝ่ายตนได้เป็นอย่างดี และพวกเขาก็ไวพอที่จะฉวยไว้ และต่างร้องขึ้นมาว่า “นี่คือผลงานคำสอนของเบอร์ควิน ทุกอย่างจะถูกโค่นทิ้งไม่ว่า ศาสนา กฎหมาย แม้แต่ราชบัลลังก์ก็ตาม โดยการวางแผนของพวกลูเธอร์เรน” Ibid. เล่มที่ 13 บทที่ 9 {GC 217.2} GCth17 181.2

อีกครั้งหนึ่งเบอร์ควินถูกจับ กษัตริย์ทรงปลีกพระองค์ออกไปจากกรุงปารีส เปิดโอกาสให้พระนักบวชทั้งหลายทำตามใจปรารถนา นักปฏิรูปศาสนาถูกสอบสวนและถูกตัดสินประหารและเพื่อไม่ให้กษัตริย์ฟรานซิสทรงเข้าแทรกแซงช่วยเหลือเขา จึงสั่งให้สำเร็จโทษในวันเดียวกับที่ประกาศคำตัดสิน ในเวลาเที่ยงวันเบอร์ควินถูกนำไปยังสถานที่มรณะ ฝูงชนขนาดใหญ่มาชุมนุมกันเพื่อเป็นพยานในเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นและมีหลายคนที่มองดูด้วยความแปลกใจและสงสัยว่าเหยื่อนี้ถูกเลือกมาจากครอบครัวขุนนางที่ดีและกล้าหาญที่สุดของประเทศฝรั่งเศส ความตกตะลึง การไม่เห็นด้วยอย่างเหยียดหยาม ความรังเกียจอย่างขมขื่นสร้างความมัวหมองให้ปรากฎบนใบหน้าของฝูงชนที่ออกันเข้ามา แต่มีอยู่ใบหน้าหนึ่งซึ่งไม่ปรากฎแม้เงามืดเลย ความคิดของผู้ยอมพลีชีพอยู่ห่างไกลจากเหตุการณ์วุ่นวายนี้ เขามีแต่ความรู้สึกถึงการทรงร่วมสถิตของพระเจ้าของเขาเท่านั้น {GC 217.1} GCth17 181.3

รถเข็นสองล้อน่าอนาถที่เขานั่ง ใบหน้าขมวดคิ้วของบรรดาผู้กล่าวหาเขา ความตายอันน่าสยดสยองที่เขากำลังมุ่งหน้าไปหานั้น สิ่งเหล่านี้เขาไม่ได้ใส่ใจเลย พระองค์ผู้ทรงพระชนม์และทรงสิ้นพระชนม์และทรงเป็นขึ้นมาจากความตายและทรงดำรงพระชนม์ตราบเท่านิรันดรกาล และผู้ทรงถือกุญแจแห่งความตายและนรก ทรงอยู่เคียงข้างเขา สีหน้าของเบอร์ควินเปล่งประกายด้วยแสงและสันติสุขของสวรรค์ เขาแต่งตัวด้วยอาภรณ์อย่างดี สวม “เสื้อคลุมสีม่วง มีเสื้อคลุมผ้าต่วนและผ้าแพรดิ้นยกดอกและผ้าคล้องคอสีทอง” D’Aubigné, History of the Reformation in Europe in the Time of Calvin เล่มที่ 2 บทที่ 16 เขากำลังจะเป็นพยานให้กับความเชื่อของเขาต่อเบื้องพระพักตร์ของจอมกษัตริย์และผู้เฝ้ามองดูทั้งจักรวาลและไม่มีสัญลักษณ์ของความอาลัยเศร้ามาแสดงให้เห็นว่าความชื่นชมยินดีของเขาเป็นเรื่องเท็จ {GC 218.1} GCth17 181.4

ในขณะที่ขบวนเคลื่อนไปอย่างช้าๆ ผ่านถนนที่แออัด ประชาชนต่างประหลาดใจถึงสันติสุขที่ไม่มัวหมอง ชัยชนะที่มีความสุขของสีหน้าและท่าทางของเขา พวกเขาพูดว่า “ เขาดูเหมือนผู้หนึ่งที่นั่งอยู่ในวิหารและตั้งจิตภาวนาถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์” Wylie เล่มที่ 13 บทที่ 9 {GC 218.2} GCth17 182.1

ที่หลักประหาร เบอร์ควินพยายามแถลงเล็กน้อยกับประชาชน แต่พระนักบวชทั้งหลายหวั่นวิตกถึงผลเสียที่จะตามมา เริ่มส่งเสียงตะโกนและทหารตบอาวุธของเขาและการโห่ร้องของพวกเขาก็กลบเสียงของผู้พลีชีพท่านนี้ ด้วยประการฉะนี้ในปี ค.ศ. 1529 ผู้ที่อยู่ในอำนาจสูงสุดทางอักษรศาสตร์และศาสนาของกรุงปารีสที่มีวัฒนธรรมระดับสูงได้ “วางแบบอย่างต่ำช้าให้กับอาณาประชาราษฎร์ของปี ค.ศ. 1793 ในการช่วงชิงความได้เปรียบบนตะแลงแกงกับคำพูดอันศักดิ์สิทธิ์ของผู้ที่กำลังจะตาย” Ibid. เล่มที่ 13 บทที่ 9 {GC 218.3} GCth17 182.2

เบอร์ควินถูกรัดคอตายและเอาร่างไปเผาในเปลวเพลิง ข่าวการเสียชีวิตของเขาทำให้มิตรสหายของการปฏิรูปศาสนาทั่วประเทศฝรั่งเศสโศกเศร้า แต่แบบอย่างของเขาไม่สูญเปล่า พยานทั้งหลายของสัจธรรมต่างพูดว่า “ พวกเราก็พร้อมที่จะเผชิญกับความตายด้วยความยินดี โดยการเพ่งสายตาของเราไปยังชีวิตที่กำลังจะมาถึง” D’ Aubigné, History of the Reformation in Europe in the Time of Calvin เล่มที่ 2 บทที่ 16 {GC 218.4} GCth17 182.3

ในช่วงเวลาของการกดขี่ข่มเหงที่เมืองมีอูส ครูทั้งหลายของการปฏิรูปศาสนาถูกถอนใบอนุญาตเทศนาและพวกเขาจึงไปหางานอื่นทำ เวลาผ่านไปช่วงหนึ่ง ลาเฟบเรเดินทางไปยังประเทศเยอรมนี ฟาเรลกลับไปยังบ้านเกิดที่อยู่ทางฝั่งตะวันออกของประเทศฝรั่งเศส เพื่อประกาศความกระจ่างในบ้านสมัยวัยเด็กของเขา เขารับข่าวเรื่องที่เกิดขึ้นในเมืองมีอูสแล้วและสัจธรรมที่เขาสอนด้วยความแข็งขันอย่างปราศจากความกลัวสามารถเข้าถึงผู้ฟัง ในไม่ช้าเจ้าหน้าที่บ้านเมืองถูกกระตุ้นให้ตื่นตัวขึ้นมาเพื่อปิดปากของเขาและเขาก็ถูกขับออกไปจากเมือง ถึงแม้เขาทำงานอย่างเปิดเผยไม่ได้อีกต่อไป เขาก็ยังเดินทางไปทั่วทุ่งราบและตามหมู่บ้านต่างๆ สอนในบ้านส่วนตัวและในทุ่งหญ้าห่างไกลผู้คน และหาที่พักแรมในป่าและตามถ้ำหินซึ่งเป็นสถานที่ที่เขาไปเป็นประจำในวัยเด็ก พระเจ้าทรงจัดเตรียมเขาเพื่อการทดลองที่ยิ่งใหญ่ขึ้น เขาพูดว่า “กางเขน การกดขี่และเล่ห์กลของซาตานที่ข้าพเจ้าถูกเตือนไว้ก่อนหน้านี้ไม่ได้ขาดตกบกพร่องแม้แต่น้อย แต่รุนแรงกว่าที่ตัวข้าพเจ้าเองจะแบกรับได้เสียอีก แต่พระเจ้าทรงเป็นพระบิดาของข้าพเจ้า พระองค์ทรงจัดเตรียมกำลังให้ข้าพเจ้าและจะทรงจัดเตรียมไว้อยู่เสมอตามที่ข้าพเจ้าต้องการ” D’Aubigné, History of the Reformation of the Sixteenth Century เล่มที่ 12 บทที่ 9 {GC 219.1} GCth17 183.1

ดั่งสมัยของอัครสาวก การกดขี่ “ กลับเป็นเหตุให้ข่าวประเสริฐแผ่ขยายออกไป” ฟีลิปปี 1:12 พวกเขาถูกขับออกไปจากกรุงปารีสและเมืองมีอูส พวกที่ “ กระจัดกระจายไปก็เที่ยวประกาศพระวจนะนั้น” กิจการ 8:4 ด้วยประการฉะนี้ ความกระจ่างจึงไปถึงหมู่บ้านห่างไกลของประเทศฝรั่งเศส {GC 219.2} GCth17 183.2

พระเจ้ายังทรงจัดเตรียมคนทำงานเพื่อขยายงานของพระองค์ ในโรงเรียนแห่งหนึ่งของกรุงปารีส มีเยาวชนที่มีจิตใจสงบเยือกเย็นและมีความคิดรอบคอบคนหนึ่ง บ่งบอกถึงสมองที่มีพลังและมีความคิดที่ลึกซึ้ง และมีชีวิตที่ไร้ตำหนิไม่น้อยกว่าความกระตือรือร้นทางฝ่ายปัญญาและความซื่อสัตย์ภักดีต่อศาสนา ความเฉลียวฉลาดและความสามารถในการประยุกต์ใช้งานทำให้เขาเป็นที่ภาคภูมิใจของวิทยาลัยอย่างรวดเร็วและคาดหวังด้วยความมั่นใจว่ายอห์น คาลวิน [John Calvin] จะเป็นผู้ปกป้องคริสตจักรที่มีความสามารถสูงสุดและมีเกียรติยศมากที่สุดคนหนึ่ง แต่ความกระจ่างของพระเจ้าผ่านทะลุแม้กระทั่งกำแพงของลัทธิที่เน้นการสอนโดยไม่สนใจการทดลองและของเรื่องเวทมนตร์คาถาที่ล้อมรอบเขาอยู่ เขาได้ยินคำสอนใหม่ด้วยความสะดุ้งตกใจและไม่สงสัยเลยว่าคนนอกศาสนาเหล่านั้นสมควรที่จะให้ไฟเผาไป อย่างไรก็ตาม โดยแทบจะไม่รู้ตัว เขาถูกพามาเผชิญหน้ากับคนนอกศาสนาและถูกบังคับให้ทดสอบอำนาจทางศาสนศาสตร์ของโรมปะทะกับคำสอนของโปรเตสแตนต์ {GC 219.3} GCth17 183.3

ลูกพี่ลูกน้องหนึ่งของคาลวินเข้าร่วมขบวนการปฏิรูปศาสนาและมาอยู่ที่กรุงปารีส ญาติสนิททั้งสองมาพบกันบ่อยๆ และพูดคุยกันถึงเรื่องที่กำลังรบกวนโลกของคริสต์ศาสนาอยู่ โอลีเวตัน [Olivetan] ผู้ฝักใฝ่โปรเตสแตนต์พูดว่า “ในโลกนี้มีอยู่เพียงสองศาสนา ศาสนาหนึ่งเป็นประเภทที่มนุษย์คิดค้นขึ้นซึ่งมนุษย์ช่วยตัวเขาเองให้รอดด้วยการประกอบพิธีกรรมและการทำความดี ส่วนอีกประเภทหนึ่งเป็นศาสนาตามที่พระคัมภีร์เปิดเผยไว้และสอนให้มนุษย์มองหาความรอดวิธีเดียวซึ่งมาจากพระคุณของพระเจ้าที่ให้โดยเปล่าๆ” {GC 220.1} GCth17 184.1

คาลวินร้องอุทานขึ้นมาว่า “ ผมจะไม่ยอมรับคำสอนใหม่ใดๆ ของคุณ คุณคิดว่าทุกวันนี้ผมดำเนินชีวิตมาผิดๆ อย่างนั้นหรือ” Wylie เล่มที่ 13 บทที่ 7 {GC 220.2} GCth17 184.2

แต่ความคิดต่างๆ เกิดขึ้นแล้วในสมองของเขาที่เขาไม่อาจลบทิ้งไปตามต้องการ ขณะที่อยู่ในห้องพักเพียงลำพัง เขาเฝ้าใคร่ครวญคำพูดของลูกพี่ลูกน้องคนนั้น ความสำนึกในบาปฝังลึกอยู่ในใจเขา เขาเห็นตนเองยืนอยู่เบื้องหน้าผู้พิพากษาผู้ทรงศักดิ์สิทธิ์และทรงธรรมโดยปราศจากผู้ไกล่เกลี่ย การอธิษฐานต่อนักบุญ การทำความดี และพิธีกรรมของคริสตจักร ทั้งหมดนี้ล้วนไม่มีฤทธานุภาพมาลบล้างบาปได้ เขามองไม่เห็นอะไรอยู่เบื้องหน้าเขานอกจากความมืดที่สิ้นหวังตลอดกาล ดุษฎีบัณฑิตหลายคนของคริสตจักรพยายามช่วยเขาให้ทุเลาจากความทุกข์ของเขา เขาหันไปพึ่งการสารภาพบาป ถือศีลแก้บาป แต่กลับไร้ผล สิ่งเหล่านี้นำจิตวิญญาณของเขากลับไปคืนดีกับพระเจ้าไม่ได้ {GC 220.3} GCth17 184.3

ในขณะที่คาลวินยังตกอยู่ในสภาพการดิ้นรนอย่างไร้ผลนี้ มีอยู่วันหนึ่งเขาบังเอิญไปเดินอยู่ที่จัตุรัสสาธารณะแห่งหนึ่งและได้เห็นการลงโทษเผาทั้งเป็นคนนอกศาสนาคนหนึ่งที่นั่น เขารู้สึกประหลาดใจอย่างยิ่งต่อความสงบเยือกเย็นที่ปรากฏบนใบหน้าของผู้ยอมพลีชีพเพื่อความเชื่อคนนั้น ท่ามกลางความทารุณโหดร้ายของการตายอย่างน่าสยดสยองเช่นนั้นและภายใต้การพิพากษาลงโทษของคริสตจักรซึ่งโหดร้ายยิ่งกว่า ผู้ยอมพลีชีพกลับแสดงออกถึงความเชื่อและความกล้าหาญซึ่งนักศึกษาหนุ่มคนนี้นำมาเปรียบเทียบกับความหดหู่และความมืดมนของตนเองทั้งๆ ที่เขาดำรงชีวิตโดยการเชื่อฟังอย่างเคร่งครัดต่อคริสตจักร เขาทราบดีว่าความเชื่อของคนนอกศาสนาทั้งหลายตั้งอยู่บนพระคัมภีร์ เขาจึงตัดสินใจอย่างแน่วแน่ที่จะศึกษาพระคัมภีร์และค้นหาเคล็ดลับความสุขของพวกเขาเท่าที่เขาจะทำได้ {GC 220.4} GCth17 184.4

เขาพบพระคริสต์ในพระคัมภีร์ เขาร้องขึ้นมาว่า “โอ พระบิดาเจ้า การถวายบูชาของพระองค์ระงับพระพิโรธของพระองค์ไปแล้ว พระโลหิตของพระองค์ทรงชำระมลทินของข้าพระองค์แล้ว กางเขนของพระองค์แบกคำสาปของข้าพระองค์ไว้แล้ว ความมรณาของพระองค์ไถ่ข้าพระองค์แล้ว พวกเราคิดค้นเรื่องโง่ๆ ที่เหลวไหลมากมายขึ้นมาแต่พระองค์ทรงจัดวางพระวจนะของพระองค์ไว้ต่อหน้าข้าพระองค์เหมือนคบเพลิงส่องสว่างและพระองค์ทรงสัมผัสหัวใจของข้าพระองค์เพื่อข้าพระองค์จะคำนึงถึงคุณความดีอื่นๆ ที่นอกเหนือจากพระคุณความดีของพระเยซูว่าเป็นสิ่งที่พึงรังเกียจ” Martyn เล่มที่ 3 บทที่ 13 {GC 221.1} GCth17 185.1

คาลวินเรียนมาเพื่อเป็นบาทหลวง เมื่ออายุเพียง 12 ปี เขาถูกแต่งตั้งให้เป็นศิษยาภิบาลของโบสถ์เล็กๆ แห่งหนึ่งและบิชอปโกนหัวของเขาตามกฎของคริสตจักร เขาไม่ได้ผ่านพิธีอุทิศถวายตัวแด่พระเจ้าหรือบรรลุการทำหน้าที่ของบาทหลวง แต่เขาเป็นสมาชิกคนหนึ่งของคณะสงฆ์ รับตำแหน่งและรับเงินตอบแทนตามหน้าที่ {GC 221.2} GCth17 185.2

บัดนี้ เมื่อรู้ว่าเขาไม่มีทางจะเป็นบาทหลวงแล้ว เขาจึงหันไปศึกษากฎหมายอยู่ระยะหนึ่ง แต่ในที่สุดก็ทิ้งสิ่งที่เขามุ่งมั่นไปและตั้งใจอุทิศชีวิตของเขาให้กับข่าวประเสริฐ แต่ลังเลใจที่จะเป็นครูของสาธารณชน โดยธรรมชาติแล้ว เขาเป็นคนขี้อายและรู้สึกว่าตำแหน่งหน้าที่นี้เป็นภาระสำหรับเขาและเขายังคงปรารถนาที่จะอุทิศตนในการศึกษา แต่ในที่สุดการขอร้องด้วยความจริงใจของมิตรสหายเอาชนะการยินยอมของเขา เขาพูดว่า “เป็นเรื่องวิเศษยิ่งนักที่คนหนึ่งเกิดมาอย่างต้อยต่ำจะได้รับการเชิดชูให้สูงเกียรติเช่นนี้” Wylie เล่มที่ 13 บทที่ 9 {GC 221.3} GCth17 185.3

คาลวินก้าวสู่ชีวิตการทำงานอย่างเงียบๆ และถ้อยคำของเขาเป็นเหมือนน้ำค้างที่ตกลงมาทำให้พื้นโลกชุ่มชื่นขึ้นใหม่ เขาย้ายออกจากกรุงปารีสแล้วและบัดนี้อยู่ที่เมืองใหญ่ในต่างจังหวัดภายใต้การคุ้มครองความปลอดภัยของเจ้าหญิงมากาเร็ต [Princess Margaret] พระองค์ทรงรักข่าวประเสริฐและทรงยื่นการคุ้มครองความปลอดภัยให้สาวกของข่าวประเสริฐ คาลวินเป็นชายหนุ่มยังเยาว์วัย มีท่าทีอ่อนโยนและไม่เสแสร้ง เขาเริ่มทำงานกับประชาชนตามบ้านของพวกเขา สมาชิกคนอื่นๆ ของครอบครัวพากันมาร่วมวง เขาอ่านพระคัมภีร์และเปิดเผยสัจธรรมของการช่วยให้รอด ผู้ที่ได้ฟังสัจธรรมนี้ก็ถ่ายทอดต่อไปให้แก่คนอื่นๆ และในไม่ช้าครูคนนี้ก็เดินทางเลยไปยังเมืองใหญ่และตำบลอื่นที่อยู่รอบๆ เขาเดินทางเข้าไปถึงทั้งปราสาทและกระต๊อบหากได้รับอนุญาต เขารุกไปข้างหน้า วางรากฐานของคริสตจักรที่จะผลิตพยานกล้าหาญให้แก่สัจธรรม {GC 221.4} GCth17 185.4

เวลาผ่านไปไม่กี่เดือน เขาก็มาปรากฏตัวที่กรุงปารีสอีก เกิดความปั่นป่วนขึ้นในแวดวงของผู้มีความรู้และนักวิชาการ การศึกษาภาษาโบราณนำผู้คนมารู้จักพระคัมภีร์และมีหลายคนที่หัวใจยังไม่เคยสัมผัสกับสัจธรรมของพระคัมภีร์ก็มีความกระตือรือร้นที่จะเข้าร่วมอภิปรายถึงเรื่องนี้และแม้กระทั่งต่อสู้กับผู้สนับสนุนลัทธิโรมัน คาลวินแม้จะเป็นคู่ต่อสู้ที่มีความสามารถในด้านของการโต้แย้งทางศาสนา แต่เขามีพระราชกิจที่ต้องบรรลุให้สำเร็จซึ่งสูงส่งกว่านักวิชาการที่ส่งเสียงหนวกหูเหล่านี้ สติปัญญาของผู้คนถูกปลุกให้ตื่นและบัดนี้เป็นเวลาที่จะเปิดเผยสัจธรรมแก่พวกเขาแล้ว ในขณะที่ห้องประชุมของมหาวิทยาลัยต่างๆ เต็มไปด้วยเสียงกึกก้องของการโต้เถียงทางด้านศาสนศาสตร์อยู่นั้น คาลวินเดินไปตามบ้าน เปิดพระคัมภีร์ให้ประชาชนและบอกพวกเขาเรื่องของพระคริสต์และพระองค์ผู้ทรงถูกตรึงบนกางเขน {GC 222.1} GCth17 186.1

ภายใต้การจัดเตรียมของพระเจ้า กรุงปารีสจะต้องได้รับคำเชิญอีกครั้งหนึ่งเพื่อรับข่าวประเสริฐ การเชิญเรียกของลาเฟบเรและฟาเรลถูกปฏิเสธ แต่อีกครั้งหนึ่ง ชาวปารีสทุกชนชั้นในเมืองหลวงอันยิ่งใหญ่แห่งนี้จะต้องได้ยินข่าวนี้ กษัตริย์ทรงรับอิทธิพลจากผลประโยชน์ทางการเมือง ยังไม่ยอมเข้าข้างโรมอย่างเต็มตัวในการต่อต้านการปฏิรูปศาสนา เจ้าหญิงมากาเร็ตยังคงยึดมั่นในความหวังที่ว่าชาวโปรเตสแตนต์จะต้องประสบชัยชนะในฝรั่งเศส ระหว่างที่กษัตริย์ไม่อยู่ เจ้าหญิงตัดสินใจว่าจะต้องประกาศความเชื่อของขบวนการปฏิรูปในกรุงปารีส พระนางจึงทรงรับสั่งให้อาจารย์ชาวโปรเตสแตนต์คนหนึ่งมาเทศนาตามโบสถ์ต่างๆ ของกรุง สิ่งนี้เป็นเรื่องต้องห้ามของระบอบเปปาซี เจ้าหญิงจึงทรงเปิดพระราชวัง พระองค์ทรงจัดห้องหนึ่งขึ้นเป็นโบสถ์เล็กๆ และประกาศว่าทุกวันในเวลาที่กำหนดไว้จะมีการเทศนาและเชิญประชาชนทุกชนชั้นและทุกฐานะให้เข้าร่วม ฝูงชนออกันเข้ามาประกอบพิธี ไม่เพียงโบสถ์เล็กๆ ห้องนั้น แต่ห้องโถงและทางเดินเต็มไปด้วยประชาชน มีคนนับพันมาชุมนุมกันทุกวัน--ขุนนาง นักการเมือง ทนาย พ่อค้า และคนงานช่างฝีมือ พระมหากษัตริย์แทนที่จะทรงห้ามการชุมนุมกลับรับสั่งให้เปิดโบสถ์แห่งกรุงปารีสสองแห่ง พระวจนะของพระเจ้าไม่เคยดลใจชาวเมืองเช่นนี้มาก่อน ดูเหมือนว่าพระวิญญาณแห่งชีวิตจากสวรรค์ทรงโปรดระบายลงมายังประชาชน การประมาณตน ความบริสุทธิ์ ความมีระเบียบและความขยันมาแทนที่การเมาสุรา ความไร้ศีลธรรม การชิงดีชิงเด่นกันและความเกียจคร้าน {GC 222.2} GCth17 186.2

แต่สภาการปกครองของสงฆ์ไม่ได้อยู่เฉย เมื่อพระมหากษัตริย์ยังทรงปฏิเสธที่จะเข้าไปแทรกเพื่อห้ามการเทศนา พวกเขาจึงหันไปหาประชาชน โดยใช้ทุกวิธีในการปลุกระดมความหวาดกลัว อคติและความบ้าคลั่งของฝูงชนที่รู้ไม่เท่าทันและเชื่อเรื่องเวทมนตร์คาถา กรุงปารีสยอมตกอยู่ในคำสอนของครูเทียมเท็จเหล่านี้อย่างปิดหูปิดตาเหมือนกรุงเยรูซาเล็มในอดีตซึ่งไม่ทราบเวลาแห่งการลงโทษหรือสิ่งที่เป็นของเธอในเวลาแห่งสันติสุข เป็นเวลาสองปีที่มีการเทศนาพระวจนะของพระเจ้าในเมืองหลวง ถึงแม้จะมีคนมากมายยอมรับข่าวประเสริฐ แต่คนส่วนใหญ่ปฏิเสธข่าวประเสริฐนี้ กษัตริย์ฟรานซิสทรงปฏิบัติพระองค์ราวกับว่ามีพระทัยกว้างต่อเรื่องนี้ แต่ก็เพียงเพื่อสนองจุดมุ่งหมายของพระองค์เอง และบรรดาผู้นิยมระบอบเปปาซีจึงประสบความสำเร็จในการทวงคืนบารมีและอิทธิพล อีกครั้งหนึ่งที่โบสถ์ต่างๆ ถูกปิดลงและหลักประหารก็ถูกตั้งขึ้น {GC 223.1} GCth17 187.1

คาลวินยังคงอยู่ในกรุงปารีส เตรียมตัวเองด้วยการศึกษาใคร่ครวญและอธิษฐานเผื่องานในอนาคต และเผยแพร่ความกระจ่างต่อไป แต่ในที่สุด ความระแวงสงสัยก็พุ่งมาใส่เขา เจ้าหน้าที่ทั้งหลายมุ่งมั่นที่จะนำเขาไปสู่กองเพลิง เขาคิดว่าตัวเองปลอดภัยในที่หลบซ่อนของตนเอง ไม่เคยคิดว่าจะเกิดภัยอันตราย เมื่อเพื่อนๆ วิ่งกรูเข้าไปในห้องของเขา แจ้งข่าวว่าเจ้าหน้าที่กำลังเดินทางมาจับกุมเขา ในทันใดนั้นมีเสียงเคาะดังขึ้นที่ประตูใหญ่ด้านนอก ไม่มีเวลาที่จะรีรอแล้ว เพื่อนบางคนหน่วงเหนี่ยวเจ้าหน้าที่ไว้ที่หน้าประตู คนอื่นๆ ช่วยกันพานักปฏิรูปออกทางหน้าต่างบานหนึ่งแล้วเขารีบหนีออกนอกเมือง ไปหลบอยู่ในกระต๊อบของกรรมกรคนหนึ่งที่ฝักใฝ่การปฏิรูป เขาอำพรางตนเองด้วยเสื้อผ้าของเจ้าบ้านและแบกจอบไว้บนบ่าและเริ่มออกเดินทางไป มุ่งหน้าไปทางทิศใต้และอีกครั้งหนึ่งไปหลบภัยในอาณาเขตการปกครองของเจ้าหญิงมากาเร็ต โปรดดู D’Aubigné, History of the Reformation in Europe in the Time of Calvin เล่มที่ 2 บทที่ 30 {GC 223.2} GCth17 187.2

เขาพักอยู่ที่นั่นหลายเดือน ปลอดภัยที่อยู่ภายใต้การคุ้มครองของมิตรสหายที่มีอำนาจ และมุอยู่กับการศึกษาเหมือนที่เคยทำมาก่อน แต่หัวใจของเขายังยึดมั่นที่จะประกาศข่าวประเสริฐของพระเยซูไปทั่วประเทศฝรั่งเศสและเขาจึงทนอยู่เฉยต่อไปอีกไม่ได้ ในทันทีที่ดูเหมือนว่าพายุเริ่มสงบลงเขาพบทำเลใหม่ในการทำงานที่เมืองโพยเทียรส์ ที่นั่นมีมหาวิทยาลัยอยู่แห่งหนึ่งและมีผลการต้อนรับแนวคิดใหม่อย่างดี คนทุกชนชั้นดีใจที่ได้ฟังข่าวประเสริฐ ไม่มีการเทศนาในที่สาธารณะแต่เทศนากันในบ้านพักอาศัยของผู้ปกครองของเมือง ในบ้านของเขาเองและบางครั้งที่สวนสาธารณะ คาลวินเปิดเผยพระคำแห่งชีวิตนิรันดรให้แก่ผู้ปรารถนาที่จะฟัง เวลาผ่านไประยะหนึ่งเมื่อจำนวนคนผู้ฟังเพิ่มมากขึ้น จึงคิดว่าการชุมนุมกันนอกเมืองน่าจะปลอดภัยกว่า มีถ้ำแห่งหนึ่งที่อยู่ในช่องลึกและแคบระหว่างภูเขาสองลูก มีต้นไม้และหินย้อยยิ่งทำให้สถานที่แห่งนั้นถูกปกปิดได้อย่างมิดชิดยิ่งขึ้น พวกเขาเลือกสถานที่แห่งนี้มาเป็นที่ประชุม ผู้เข้าร่วมเดินทางเป็นกลุ่มเล็กๆ ออกจากเมืองด้วยเส้นทางต่างกันเพื่อมาถึงที่แห่งนี้ ในสถานที่ปกปิดแห่งนี้ พวกเขาอ่านออกเสียงและอธิบายพระคัมภีร์ เป็นครั้งแรกที่ชาวโปรเตสแตนต์ของประเทศฝรั่งเศสประกอบพิธีศีลมหาสนิทขององค์พระผู้เป็นเจ้ากันที่นี่ โบสถ์เล็กๆ แห่งนี้ส่งนักประกาศพระกิตติคุณที่ซื่อสัตย์หลายคนไปสู่โลกภายนอก {GC 224.1} GCth17 188.1

คาลวินกลับไปกรุงปารีสอีกครั้ง เขายังไม่ทิ้งความหวังที่จะทำให้ทั่วประเทศฝรั่งเศสยอมรับการปฏิรูปศาสนา แต่เขาพบว่าประตูแทบทุกบานปิดให้กับงานนี้ หากสอนข่าวประเสริฐหมายถึงการเดินตรงไปหาหลักประหาร และในที่สุดเขาตัดสินใจที่จะมุ่งหน้าไปยังประเทศเยอรมนี เขายังไม่ทันก้าวออกไปจากประเทศฝรั่งเศสพายุลูกหนึ่งก็ระเบิดใส่ชาวโปรเตสแตนต์ซึ่งหากเขายังคงอยู่ที่นั่นจะต้องนำเขาเข้าไปมีส่วนร่วมในความหายนะครั้งยิ่งใหญ่ที่กำลังจะตามมาอย่างแน่นอน {GC 224.2} GCth17 188.2

นักปฏิรูปศาสนาชาวฝรั่งเศสทั้งหลายที่กระตือรือร้นต้องการเห็นประเทศของตนก้าวทันประเทศเยอรมนีและสวิสเซอร์แลนด์ พวกเขามุ่งมั่นโจมตีความงมงายของโรมเพื่อปลุกคนทั้งประเทศให้ตื่น ฉะนั้นเพียงชั่วคืนเดียว ป้ายประท้วงโจมตีพิธีมิสซาผุดขึ้นทั่วประเทศฝรั่งเศส การเคลื่อนไหวที่กระตือรือร้นแต่ตัดสินใจที่ผิดพลาดนี้แทนที่จะสนับสนุนกลับนำความหายนะมาให้ไม่เพียงแต่กับผู้รณรงค์เท่านั้น แต่ยังสร้างความเดือดร้อนมาสู่ผู้สนับสนุนการปฏิรูปทั่วทั้งประเทศฝรั่งเศสด้วย เหตุการณ์นี้เปิดโอกาสให้พวกนิยมลัทธิโรมันรับสิ่งที่พวกเขาใฝ่ฝันมานาน นั่นคือข้ออ้างในการโค่นทำลายพวกนอกศาสนาอย่างเด็ดขาดว่าเป็นพวกยุยงก่อกวนซึ่งเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของราชบัลลังก์และต่อความสงบสุขของประเทศชาติ {GC 224.3} GCth17 188.3

มือลึกลับ อาจเป็นมือของมิตรสหายที่สิ้นคิดหรือของศัตรูที่เต็มไปด้วยเล่ห์กลนั้น ไม่มีผู้ใดล่วงรู้ได้ เอาแผ่นป้ายอันหนึ่งไปติดที่ประตูของห้องส่วนพระองค์ของพระราชา พระองค์ทรงกริ้วนัก ในแผ่นป้ายนี้กล่าวโจมตีความเชื่องมงายที่ประชาชนยังเทิดทูนมาตลอดหลายยุคหลายสมัยด้วย การอาจหาญแบบไม่เคยปรากฎมาก่อนที่กล้านำถ้อยคำชัดเจนและอุกอาจเช่นนี้รุกล้ำเข้าไปติดไว้ในพระราชฐานยิ่งทำให้พระองค์พิโรธสุดขีด พระองค์ทรงยืนสงบนิ่งไปชั่วครู่ ตัวสั่นและพูดไม่ออก และแล้วท่ามกลางพระพิโรธ พระองค์ทรงลั่นถ้อยคำที่น่ากลัวนี้ออกมาว่า “ให้จับทุกคนที่สงสัยว่าเป็นพวกลูเธอร์นอกศาสนาโดยไม่ต้องแยกแยะ เราจะกำจัดพวกมันให้หมดไป” Ibid. เล่มที่ 4 บทที่ 10 ลูกเต๋าถูกโยนลงไปแล้ว พระราชาทรงตัดสินพระทัยไปอยู่ฝ่ายโรมอย่างเต็มตัว {GC 225.1} GCth17 189.1

มีการใช้มาตรการจับกุมชาวลูเธอร์เรนทุกคนในกรุงปารีสทันที มีช่างฝีมือยากจนคนหนึ่งที่ศรัทธาในความเชื่อการปฏิรูป และเป็นผู้คอยแจ้งผู้เชื่อทั้งหลายให้ไปยังสถานที่ประชุมลับอยู่เสมอ ถูกจับ และถูกสั่งให้นำผู้แทนของพระสันตะปาปาไปยังทุกบ้านของชาวโปรเตสแตนต์ในเมืองภายใต้คำขู่ที่จะถูกประหารทันทีที่หลักเผาทั้งเป็น ข้อเสนอที่ชั่วช้านี้ทำให้เขากลัวจนหัวหด ในที่สุดความกลัวต่อเปลวเพลิงครอบงำเขา เขายินยอมที่จะกลายเป็นผู้ทรยศพี่น้องของเขา เจ้าภาพที่ห้อมล้อมด้วยขบวนของบาทหลวง ผู้ถือธูป พระนักบวช ทหาร เดินนำหน้า มี โมริน [Morin] นักสืบของพระราชวังกับผู้ทรยศเดินไปอย่างช้าๆ และเงียบๆ ผ่านไปตามถนนของเมือง การกระทำเช่นนี้เป็นการจัดฉากให้เห็นว่าเป็นการเทิดพระเกียรติพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนา เป็นพิธีการลบล้างบาปของการหมิ่นประมาทของผู้ต่อต้านพิธีมิสซา แต่เบื้องหลังการแห่นี้มีเป้าหมายแห่งความตายปกปิดไว้อยู่ เมื่อขบวนเคลื่อนมาถึงฝั่งตรงข้ามของบ้านชาวลูเธอร์เรนคนหนึ่ง ผู้ทรยศจะส่งสัญลักษณ์ แต่ไม่พูดอะไร ขบวนจะหยุด บุกเข้าไปในบ้านและกระชากคนในครอบครัวออกมาล่ามโซ่ไว้และกลุ่มคนที่น่ากลัวนี้มุ่งหน้าต่อไปเพื่อค้นหาเหยื่อรายต่อไป พวกเขา “ไม่ละเว้นสักบ้านไม่ว่าจะเป็นบ้านใหญ่หรือบ้านเล็ก แม้คณะใดคณะหนึ่งของมหาวิทยาลัยแห่งปารีส.....โมรินสร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั้งเมือง.....เป็นยุคสมัยแห่งความน่าสะพรึงกลัว” Ibid. เล่มที่ 4 บทที่ 10 {GC 225.2} GCth17 189.2

เหยื่อทั้งหลายถูกฆ่าอย่างโหดร้ายทารุณ มีคำสั่งพิเศษให้ลดระดับความแรงของเปลวเพลิงให้ต่ำลงเพื่อยืดความทรมานเจ็บปวดของพวกเขา แต่เขาเหล่านั้นตายอย่างผู้พิชิต ความแน่วแน่ของพวกเขาไม่สั่นคลอน สันติสุขของพวกเขาไม่มัวหมอง เมื่อผู้กดขี่ขาดกำลังอำนาจที่จะเปลี่ยนความมั่นคงที่ไม่ยอมโอนอ่อนของพวกเขาได้ ผู้กดขี่ของพวกเขาก็รู้ว่าตนเองพ่ายแพ้ “มีการแจกจ่ายตะแลงแกงไปทั่วทุกมุมของกรุงปารีสและเผาเหยื่อในวันต่อมา เป็นการออกแบบเพื่อเผยแพร่ความโหดร้ายของความเชื่อนอกศาสนาโดยการกระจายการประหารให้กว้างออกไป แต่ในที่สุดความได้เปรียบตกอยู่กับข่าวประเสริฐ ทำให้ทั่วกรุงปารีสประจักษ์ว่าแนวคิดใหม่จะผลิตคนชนิดใดออกมา ไม่มีธรรมาสน์ใดที่จะเปรียบได้กับกองเพลิงของผู้ยอมพลีชีพเพื่อศาสนา ความสงบสุขอย่างสุขุมเยือกเย็นซึ่งปรากฏบนใบหน้าของชายเหล่านี้ในขณะที่เคลื่อนไป.....ยังจุดประหาร ความกล้าหาญเยี่ยงวีรบุรุษของพวกเขาเมื่อยืนอยู่กลางเปลวเพลิงที่รุนแรง การให้อภัยต่อความเจ็บปวดของพวกเขาด้วยใจถ่อม ได้เปลี่ยนแปลงความโกรธให้เป็นความสงสาร ความเกลียดชังให้เป็นความรัก ด้วยกรณีตัวอย่างเหล่านี้ที่มีจำนวนไม่น้อย และได้วิงวอนด้วยวาทศิลป์ที่มิอาจต้านทานได้เพื่อสนับสนุนข่าวประเสริฐ” Wylie เล่มที่ 13 บทที่ 20 {GC 226.1} GCth17 190.1

เหล่าบาทหลวงพยายามเก็บรักษาอารมณ์โกรธแค้นที่กำลังเป็นที่สนใจนี้ให้ร้อนแรงต่อไปด้วยการเที่ยวกระจายข้อกล่าวหาที่ร้ายแรงน่ากลัวที่สุดใส่ชาวโปรเตสแตนต์ พวกเขาถูกกล่าวหาว่าอยู่เบื้องหลังการวางแผนสังหารหมู่พวกคาทอลิก การโค่นรัฐบาลและการลอบสังหารพระมหากษัตริย์ แต่ไม่เคยแสดงหลักฐานใดๆ มาสนับสนุนข้อกล่าวหาเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม คำพยากรณ์ชั่วเหล่านี้ได้เกิดขึ้นจริงภายใต้สภาวการณ์ที่แตกต่างจากนี้มากและเกิดจากต้นเหตุที่มีลักษณะตรงกันข้าม ความโหดเหี้ยมที่ชาวคาทอลิกก่อขึ้นต่อชาวโปรเตสแตนต์ที่ไร้ความผิดเหล่านี้ได้มาสะสมรวบรวมกันเป็นตุ้มน้ำหนักของการแก้แค้น และหลายศตวรรษต่อมาก่อให้เกิดวาระสุดท้ายดั่งเช่นที่พวกเขาทำนายว่าจะเกิดขึ้นกับพระมหากษัตริย์ การปกครองของพระองค์และประชากรของพระองค์ แต่ครั้งนี้เป็นการกระทำของพวกนอกศาสนาและของพวกนิยมระบอบเปปาซีเอง ไม่ใช่การสถาปนาแต่เป็นการกำจัดนิกายโปรเตสแตนต์ต่างหากซึ่งสามร้อยปีต่อมาจะนำความพินาศอย่างเลวร้ายที่สุดมาสู่ประเทศฝรั่งเศสจริงตามที่พวกเขาทำนายไว้ {GC 226.2} GCth17 190.2

บัดนี้ความระแวงสงสัย ความไม่ไว้วางใจและความโหดเหี้ยมแทรกซึมเข้าไปยังคนทุกชนชั้นของสังคม ท่ามกลางสัญญาณเตือนภัยทั่วไปจะมองเห็นได้ว่าคำสอนของชาวลูเธอร์เรนฝังลึกเพียงไรในความคิดของบุคคลที่นั่งอยู่ในตำแหน่งสูงสุดของการศึกษา อิทธิพลและคุณลักษณะที่ดีงาม ตำแหน่งที่ต้องการความน่าเชื่อถือและมีเกียรติไม่อาจหาผู้ใดมารับหน้าที่ได้อย่างกะทันหัน ช่างฝีมือ ช่างพิมพ์ นักการศึกษา ศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัย นักเขียนและแม้กระทั่งมหาดเล็กก็ยังหายตัวไป คนนับร้อยหลบหนีออกจากกรุงปารีส เนรเทศตัวเองให้ออกไปจากบ้านเกิดของตนและในหลายรายแสดงตนเป็นครั้งแรกว่าพวกเขาเห็นด้วยกับความเชื่อเรื่องการปฏิรูปศาสนา เหล่าผู้นิยมระบอบเปปาซีมองดูรอบตัวด้วยความตกตะลึงว่ามีคนนอกศาสนาที่พวกเขาไม่เคยสงสัยในหมู่พวกเขาเอง พวกเขาระบายความโกรธนี้ใส่กลุ่มเหยื่อทั้งหลายที่ต่ำต้อยกว่า ซึ่งตกอยู่ในอำนาจของพวกเขา เรือนจำแออัดยัดเยียดและบรรยากาศก็ดูประหนึ่งว่าปกคลุมด้วยความมืดจากควันของกองเพลิงที่ลุกไหม้สำหรับผู้เชื่อข่าวประเสริฐ {GC 227.1} GCth17 191.1

กษัตริย์ฟรานซิสที่ 1 [Francis I] เคยได้รับการเทิดทูนให้เป็นผู้นำในขบวนการยิ่งใหญ่ของการฟื้นฟูการเรียนรู้ซึ่งบ่งบอกถึงการเปิดฉากของศตวรรษที่สิบหก พระองค์ทรงมีความสุขในการรวบรวมคนที่มีความรู้จากทุกประเทศมายังพระราชวังของพระองค์ การที่พระองค์ทรงรักการเรียนรู้และทรงเกลียดชังความโง่เขลาและความเชื่องมงายของพระนักบวช ส่วนหนึ่งอย่างน้อยที่สุดมาจากการยอมผ่อนปรนต่อการปฏิรูปศาสนา แต่ผู้สนับสนุนการเรียนรู้พระองค์นี้กลับทรงได้รับแรงบันดาลใจอย่างแรงกล้าที่จะกำจัดพวกนอกศาสนาออกไปให้หมด ทรงตราคำสั่งประกาศเลิกล้มงานพิมพ์ทั่วทั้งประเทศฝรั่งเศส กษัตริย์ฟรานซิสที่ 1 ทรงแสดงตัวอย่างหนึ่งในจำนวนมากมายที่มีบันทึกไว้ซึ่งแสดงให้เห็นว่า วัฒนธรรมด้านปัญญาไม่ใช่เครื่องป้องกันการไม่ยอมผ่อนปรนในเรื่องของศาสนาและการกดขี่ข่มเหง {GC 227.2} GCth17 191.2

ด้วยพิธีแห่อันน่าเคร่งขรึมและเปิดเผย ประเทศฝรั่งเศสให้คำมั่นกับตัวเองอย่างเต็มที่เพื่อการทำลายนิกายโปรเตสแตนต์ บาทหลวงทั้งหลายยื่นคำขาดเรียกร้องว่าการหมิ่นประมาทที่ทำต่อสวรรค์เบื้องบนด้วยการประณามพิธีมิสซาจะต้องชดใช้ด้วยเลือดและพระราชาแสดงออกในที่สาธารณะในนามของประชาชนยินยอมเข้าร่วมงานน่ากลัวนี้ {GC 227.3} GCth17 191.3

วันที่ 21 มกราคม ค.ศ. 1535 ถูกกำหนดให้เป็นวันประกอบพิธีสยดสยองนี้ ความกลัวอย่างงมงายและความเกลียดชังอย่างดันทุรังของคนทั้งประเทศถูกกระตุ้น คนมากมายจากประเทศข้างเคียงกรูกันเข้ามายังถนนของกรุงปารีส วันนั้นเปิดฉากด้วยขบวนแห่ใหญ่โตและน่าประทับใจ “บ้านที่เรียงรายอยู่ตามเส้นทางที่ขบวนแห่เคลื่อนผ่านต่างแขวนผ้าไว้ทุกข์และมีแท่นบูชาตั้งขึ้นตามจุดต่างๆ” หน้าประตูทุกบ้านมีคบเพลิงที่ลุกอยู่เพื่อถวายเกียรติ “พิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์” ก่อนฟ้าสาง ขบวนตั้งแถวเตรียมตัวที่พระราชวังของพระมหากษัตริย์ “ริ้วธงและกางเขนของโบสถ์ประจำตำบลต่างๆ นำอยู่หน้าขบวน ต่อไปเป็นขบวนของพลเมืองเดินคู่กัน มือถือโคมไฟ ตามด้วยนักบวชภราดรสี่นิกาย แต่ละนิกายแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าพิเศษ” แล้วตามด้วยขบวนยิ่งใหญ่ของกองโบราณวัตถุของขลังที่มีชื่อ ตามด้วยคณะนักบวชผู้ยิ่งใหญ่ในเสื้อคลุมผ้าสักหลาดสีม่วงและสีแดงเข้มและมีเครื่องประดับตกแต่งไว้อย่างมากมาย เป็นริ้วขบวนที่โอ่อ่าหรูหราและระยิบระยับ {GC 228.1} GCth17 192.1

“บิชอปแห่งกรุงปารีสทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพของพิธีนี้ พาดผ้าคลุมอันตระการตา.....พยุงโดยเจ้าชายสี่องค์ที่มีสายเลือดเดียวกัน.....พระราชาเสด็จตามเจ้าภาพ......ในวันนั้นกษัตริย์ฟรานซิสที่ 1 ไม่ได้สวมมงกุฎ ไม่ได้สวมเสื้อคลุมประจำตำแหน่ง” ด้วย “พระเศียรที่ไม่มีสิ่งใดปกปิด พระเนตรมองต่ำอยู่กับพื้น และในพระหัตถ์ถือเทียนขนาดเล็กที่ติดไฟอยู่” พระราชาแห่งประเทศฝรั่งเศสทรงปรากฏตัว “ในฐานะของผู้สำนึกผิด” Ibid. เล่มที่ 13 บทที่ 21 พระองค์ทรงกราบลงด้วยความอดสูที่ทุกแท่นบูชา ไม่ใช่เพื่อความชั่วที่ทำให้จิตวิญญาณของพระองค์เป็นมลทินหรือเลือดไร้ความผิดที่ทำให้พระหัตถ์ของพระองค์เปื้อนแต่เพื่อบาปโทษถึงตายของข้าแผ่นดินทั้งหลายที่กล้าประณามพิธีมิสซา เบื้องพระปฤษฎางค์ของพระองค์คือพระราชินีและข้าราชบริพารชั้นสูงของรัฐ พวกเขาเดินมากันเป็นคู่ๆ แต่ละคนถือโคมที่มีไฟติดอยู่ {GC 228.2} GCth17 192.2

ส่วนหนึ่งของพิธีในวันนั้นพระมหากษัตริย์ต้องขึ้นปราศรัยต่อเจ้าหน้าที่ชั้นสูงของอาณาจักรในหอประชุมใหญ่ของสำนักพระราชวังของบิชอป พระองค์ทรงปรากฏด้วยพระพักตร์เศร้าหมองต่อหน้าคนทั้งหลายและตรัสด้วยคำพูดที่น่าประทับใจและคล่องแคล่วคร่ำครวญถึง “ความผิดนี้ คำหมิ่นประมาท วันแห่งความเศร้าหมองและอัปยศ” ที่เกิดขึ้นกับประเทศและพระองคฺ์ทรงเรียกร้องให้ประชาชนที่อยู่ภายใต้การปกครองของพระองค์ช่วยกันกำจัดพวกนอกศาสนาที่เหมือนกับการแพร่โรคติดต่อร้ายแรงที่กำลังคุกคามทำลายประเทศฝรั่งเศส พระองค์ตรัสว่า “ท่านสุภาพบุรุษทั้งหลาย เป็นความจริงเหมือนเช่นที่ข้าพเจ้าเป็นพระราชาของท่าน หากข้าพเจ้าทราบว่าแขนหรือเท้าข้างหนึ่งของข้าพเจ้าเองมีจุดด่างหรือติดเชื้อของโรคร้ายแรงนี้ ข้าพเจ้าจะมอบอวัยวะนั้นให้ท่านทั้งหลายตัดมันทิ้งไป.....และนอกจากนี้ หากข้าพเจ้าทราบว่าบุตรคนหนึ่งของข้าพเจ้ามีมลทินเพราะโรคนี้ ข้าพเจ้าก็จะไม่ปล่อยให้เขาหลุดไปได้.....ข้าพเจ้าจะนำเขามาเป็นเครื่องเผาถวายบูชาแด่พระเจ้า” น้ำพระเนตรของพระองค์ทำให้พระองค์ทรงสำลักคำพูดและผู้ฟังทั้งห้องประชุมร่ำไห้ พูดด้วยเสียงเดียวกันว่า “พระองค์จะมีชีวิตอยู่และตายเพื่อศาสนาคาทอลิก” D’Aubigné, History of the Reformation in Europe in the Time of Calvin เล่มที่ 4 บทที่ 12 {GC 228.3} GCth17 192.3

ความมืดกลายเป็นความสยดสยองต่อประเทศที่ปฏิเสธความกระจ่างแห่งสัจธรรม พระคุณที่ “นำความรอด” ได้มาปรากฏให้เห็นแล้ว แต่หลังจากสัมผัสกับฤทธานุภาพและความศักดิ์สิทธิ์ของความกระจ่างนี้ หลังจากคนจำนวนหลายพันซึมซับถึงความงามจากสวรรค์เบื้องบน หลังจากที่ความกระจ่างส่องสว่างไปยังเมืองและตำบลใหญ่เล็กต่างๆ แล้ว ประเทศฝรั่งเศสกลับหันหลังไปเลือกความมืดมากกว่าความสว่าง พวกเขาสลัดทิ้งของประทานจากสวรรค์ที่ยื่นมาให้พวกเขา เรียกความชั่วเป็นความดีและความดีเป็นความชั่ว จนพวกเขาตกเป็นเหยื่อของการหลอกลวงตนเองอย่างสมัครใจ บัดนี้ แม้ว่าพวกเขาจะเชื่อจริงๆ ว่ากำลังรับใช้อยู่ในราชกิจของพระเจ้าโดยการกดขี่ประชาชนของพระองค์ก็ตามที ความจริงใจของพวกเขาก็ไม่ได้ทำให้พวกเขาไร้ความผิด ความกระจ่างที่น่าจะช่วยพวกเขาออกจากการหลอกลวงได้ น่าจะช่วยจิตวิญญาณของพวกเขาพ้นจากความรู้สึกผิดที่ต้องเสียเลือดเนื้อ แต่พวกเขากลับปฏิเสธความกระจ่างนี้ด้วยความตั้งใจ {GC 229.1} GCth17 193.1

ในวิหารโบสถ์อันยิ่งใหญ่นี้ มีการปฏิญาณอย่างน่าเคร่งขรึมที่จะกวาดล้างคนนอกศาสนา เกือบสามศตวรรษต่อมาในสถานที่แห่งเดียวกันนี้ ประเทศที่ลืมพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์ได้สถาปนาเทพธิดาแห่งเหตุผลขึ้นประทับบนพระราชบัลลังก์ ขบวนแห่ถูกจัดขึ้นอีกครั้ง ผู้แทนทั้งปวงของประเทศฝรั่งเศสเริ่มงานที่พวกเขาสาบานที่จะทำ “ตะแลงแกงถูกตั้งขึ้นเป็นระยะเพื่อเผาคริสเตียนโปรเตสแตนต์ทั้งเป็นและวางแผนให้จุดฟืนในนาทีที่กษัตริย์เสด็จมาถึงและขบวนจะหยุดเพื่อเป็นพยานดูการประหาร Wylie เล่มที่ 13 บทที่ 21 รายละเอียดของความทรมานที่พยานเหล่านี้ต้องทนดูเพื่อพระคริสต์นั้น น่าแสลงใจเกินกว่าที่จะนำมาเล่า แต่ในส่วนของเหยื่อแล้วไม่มีความหวั่นไหวใดเกิดขึ้นเลยเมื่อพวกเขาถูกร้องขอให้ถอนความเชื่อ ก็จะตอบว่า “ข้าพเจ้าเชื่อแต่ในสิ่งที่ผู้เผยพระวจนะและอัครทูตเทศนามาแล้วในอดีตและในสิ่งที่ธรรมิกชนทั้งหลายเชื่อ ความเชื่อของข้าพเจ้าตั้งมั่นอยู่ในพระเจ้า พระองค์จะทรงต่อต้านอำนาจทั้งหมดของนรก” D’Aubigné, History of the Reformation in Europe in the Time of Calvin เล่มที่ 4 บทที่ 12 {GC 229.2} GCth17 193.2

ครั้งแล้วครั้งเล่า ขบวนแห่มาหยุดอยู่ตรงสถานที่ทรมาน เมื่อพวกเขากลับมาถึงจุดเริ่มต้นที่พระราชวังแล้ว ฝูงชนก็แยกย้ายกันไปและกษัตริย์และพระราชาคณะทั้งหลายก็กลับกันไป ด้วยความพึงพอใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนั้นและต่างแสดงความชื่นชมยินดีกันเองถึงผลงานที่เริ่มต้นเพื่อทำลายพวกนอกศาสนาต่อไปจนบรรลุความสำเร็จ {GC 230.1} GCth17 194.1

ข่าวประเสริฐแห่งสันติสุขที่ประเทศฝรั่งเศสปฏิเสธจะถูกถอนรากออกไปอย่างแน่นอนและผลที่ตามมาจะน่ากลัวเพียงไร ในวันที่ 21 มกราคม ค.ศ. 1793 สองร้อยห้าสิบแปดปีนับจากวันที่ประเทศฝรั่งเศสผูกมัดตนเองอย่างเต็มตัวที่จะกดขี่ข่มเหงนักปฏิรูปศาสนาทั้งหลาย ขบวนแห่อีกขบวนหนึ่งที่มีเป้าหมายที่แตกต่างกันอย่างมากเคลื่อนผ่านไปตามถนนของกรุงปารีส “อีกครั้งหนึ่งกษัตริย์เป็นบุคคลเอกของขบวน อีกครั้งหนึ่งมีความโกลาหลและเสียงตะโกนเกิดขึ้นและอีกครั้งหนึ่งเสียงร้องหาเหยื่อให้มีมากขึ้นก็ดังมา อีกครั้งหนึ่งที่เห็นตะแลงแกงที่ไหม้จนดำเป็นตอตะโกและอีกครั้งหนึ่งที่งานของวันนั้นปิดฉากลงอีกครั้งด้วยภาพการประหารอันน่าสยดสยอง กษัตริย์หลุยส์ที่ 16 ทรงดิ้นรนอยู่ระหว่างมือของผู้คุมและของผู้ประหาร ทรงถูกลากกระชากไปยังเขียงสำเร็จโทษ ถูกกำลังจับกดลงไปรอจนขวานฟันลงมาและพระเศียรของพระองค์ก็หลุดขาดกลิ้งไปตามตะแลงแกง” Wylie เล่มที่ 13 บทที่ 21 กษัตริย์ของประเทศฝรั่งเศสไม่ได้เป็นเหยื่อเพียงรายเดียว ใกล้จุดเดียวกัน มีเหยื่ออีก 2800 คนตายด้วยกิโยตีน [guillotine เป็นอุปกรณ์การประหารชีวิตของประเทศฝรั่งเศส] ในระหว่างวันนองเลือดของยุคสมัยแห่งความน่าสะพรึงกลัว [Reign of Terror ช่วงเวลาของความรุนแรงและการฆ่าโดยผู้มีอำนาจ เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 5 กันยายน ค.ศ. 1793 ถึงวันที่ 28 กรกฎาคม ค.ศ. 1794 เป็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นหลังการปฏิวัติฝรั่งเศส] {GC 230.2} GCth17 194.2

การปฏิรูปศาสนามอบพระคัมภีร์ที่เปิดออกให้แก่โลก เปิดเผยคำสอนของพระบัญญัติของพระเจ้าและกระตุ้นจิตสำนึกของประชาชนให้เข้าใจถึงสาระเหล่านั้น ความรักอนันต์ของพระเจ้าเปิดเผยให้มนุษย์เห็นข้อกำหนดและหลักการของสวรรค์ พระเจ้าตรัสไว้แล้วว่า “จงรักษาและทำตามกฎเหล่านั้น เพราะการกระทำอย่างนั้นจะแสดงถึงสติปัญญาและความเข้าใจของพวกท่านต่อหน้าชนชาติทั้งหลาย เมื่อคนเหล่านั้นได้ยินถึงกฎเกณฑ์เหล่านี้แล้ว เขาจะกล่าวว่า ‘แท้จริงชนชาติใหญ่นี้เป็นประชาชนที่มีปัญญาและมีความเข้าใจ’” เฉลยธรรมบัญญัติ 4:6 เมื่อประเทศฝรั่งเศสปฏิเสธของประทานแห่งสวรรค์ เธอหว่านเมล็ดอนาธิปไตยและความหายนะ ผลจากการกระทำซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ของเหตุและผลที่ตามมาก่อให้เกิดการปฏิวัติและยุคสมัยแห่งความน่าสะพรึงกลัว {GC 230.3} GCth17 194.3

เนิ่นนานก่อนหน้าการกดขี่ข่มเหงที่เกิดจากป้ายประท้วงพิธีมิสซานั้น ฟาเรลผู้กล้าหาญและมีใจเร่าร้อนถูกกดดันให้ต้องหลบหนีออกจากแผ่นดินบ้านเกิด เขาหลบไปอยู่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์และเขาลงแรงเพื่อสนับสนุนงานของสวิงก์ลี เขาช่วยเปลี่ยนเข็มชี้วัดของตราชั่งไปสนับสนุนงานของการปฏิรูปศาสนา เขาใช้บั้นปลายชีวิตที่นี่ อย่างไรก็ตาม เขายังคงทุ่มเทอิทธิพลที่ตั้งใจไว้แล้วส่วนหนึ่งสำหรับการปฏิรูปในประเทศฝรั่งเศส ในช่วงปีแรกๆ ของการลี้ภัย เขาพากเพียรลงแรงเป็นพิเศษให้กับการประกาศข่าวประเสริฐในประเทศบ้านเกิดของเขา เขาใช้เวลาค่อนข้างมากเทศนาในหมู่เพื่อนร่วมชาติที่อยู่ใกล้ชายแดน และด้วยการเฝ้าดูอย่างใจจดใจจ่อติดตามความขัดแย้งและสนับสนุนด้วยคำพูดหนุนใจและคำปรึกษา ด้วยการช่วยเหลือของผู้เนรเทศอื่นๆ ผลงานเขียนของนักปฏิรูปชาวเยอรมันถูกแปลเป็นภาษาฝรั่งเศสและพิมพ์ร่วมกับพระคัมภีร์ภาษาฝรั่งเศสเป็นจำนวนมากมาย บรรณกรนำหนังสือเหล่านี้ไปออกจำหน่ายอย่างกว้างขวางในประเทศฝรั่งเศส จัดส่งให้บรรณกรในราคาต่ำและผลกำไรของงานนี้ทำให้งานดำเนินต่อไป {GC 231.1} GCth17 195.1

ฟาเรลก้าวเข้าสู่ชีวิตการทำงานในประเทศสวิสเซอร์แลนด์ด้วยการจำแลงตัวเป็นครูที่เจียมตัว เขาหลบไปอยู่ในโบสถ์ประจำหมู่บ้านที่อยู่ห่างไกล อุทิศตนอยู่กับการสอนเด็ก นอกเหนือจากการสอนในสาขาวิชาการตามปกติแล้วเขายังแนะนำสัจธรรมของพระคัมภีร์ด้วยความระมัดระวัง หวังว่าจะเข้าถึงผู้ปกครองโดยการทำงานผ่านเด็กเหล่านี้ มีบางคนเชื่อ แต่บาทหลวงก้าวออกมาขวางให้หยุดงานนี้และประชาชนบ้านนอกที่งมงายต่อเรื่องเวทมนตร์คาถาถูกปลุกระดมให้ขึ้นมาต่อต้านงานนี้ พวกบาทหลวงพูดว่า “เรื่องนั้นไม่ใช่เป็นข่าวประเสริฐของพระคริสต์ เห็นอยู่แล้วว่าการเทศนาเช่นนี้ไม่ได้สร้างสันติภาพแต่ก่อให้เกิดสงคราม” Wylie เล่มที่ 14 บทที่ 3 เขาทำตัวเหมือนเช่นสาวกรุ่นแรก คือเมื่อการกดขี่ข่มเหงมาถึง เขาก็หนีจากเมืองหนึ่งไปอีกเมืองหนึ่ง จากหมู่บ้านหนึ่งสู่อีกหมู่บ้านหนึ่ง จากเมืองหนึ่งไปอีกเมืองหนึ่ง เขาเดินทางโดยการเดิน ทนต่อความอดอยาก ความหนาวเหน็บและความเหน็ดเหนื่อยและเสี่ยงกับภัยอันตรายต่อชีวิตทุกแห่งหน เขาเทศนาตามตลาด ในโบสถ์ต่างๆ บางครั้งบนธรรมาสน์ของวิหารโบสถ์ บางครั้งโบสถ์ที่เขาเทศน์นั้นไม่มีคนฟัง บางครั้งเสียงร้องตะโกนและเสียงเยาะเย้ยขัดขวางคำเทศนาของเขาลงกลางคัน อีกครั้งเขาถูกกระชากอย่างรุนแรงออกไปจากธรรมาสน์ เขาถูกฝูงชนรุมทุบตีเจียนตายมากกว่าหนึ่งครั้ง กระนั้นเขาก็ยังคงรุกคืบหน้าต่อไป แม้ว่าจะถูกขับไล่ไสส่งอยู่บ่อยๆ แต่ด้วยความแน่วแน่มั่นคงอย่างไม่สั่นคลอน เขาหวนกลับไปที่ซึ่งถูกโจมตี แล้วเขาก็เห็นแต่ละหมู่บ้านและแต่ละเมืองที่เคยเป็นปราการแข็งแกร่งของหลักคำสอนและพิธีกรรมของระบอบเปปาซีเปิดประตูต้อนรับข่าวประเสริฐ โบสถ์เล็กประจำหมู่บ้านที่เขาทำงานครั้งแรกนั้นตอบรับความเชื่อของการปฏิรูป เมืองโมเรทและเมืองนิวซาเทลถึงกับประกาศเลิกพิธีกรรมต่างๆ ของชาวโรมและขนย้ายรูปบูชาออกไปจากโบสถ์ต่างๆ ของเมือง {GC 231.2} GCth17 195.2

ฟาเรลปรารถนามาช้านานแล้วที่จะปักมาตรฐานของโปรเตสแตนต์ลงในกรุงเจนิวา หากยึดเมืองนี้ได้ก็จะเป็นศูนย์กลางของขบวนการปฏิรูปศาสนาของประเทศฝรั่งเศส สวิสเซอร์แลนด์และอิตาลี ด้วยเป้าหมายนี้อยู่ต่อหน้า เขาทำงานต่อไปจนกระทั่งได้เมืองและหมู่บ้านรอบๆ มา แล้วเขาเดินทางเข้ากรุงเจนิวากับเพื่อนเพียงคนเดียวแต่ได้รับอนุญาตให้เทศนาเพียงสองครั้งเท่านั้น พวกบาทหลวงไม่ประสบความสำเร็จในการให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองตั้งข้อหาใส่เขา พวกเขาจึงเรียกให้เขามาปรากฏตัวต่อหน้าสภาคณะนักบวช พวกเขามาพร้อมอาวุธที่เก็บซ่อนไว้ใต้เสื้อคลุม หมายมั่นต้องเอาชีวิตของเขาให้ได้ ภายนอกหอประชุมพวกเขายังจัดเตรียมฝูงชนบ้าคลั่งพร้อมกระบองและดาบไว้เพื่อประกันว่าเขาต้องเสียชีวิตอย่างแน่นอนหากเขาหนีหลุดจากที่ประชุมสภา แต่การปรากฏตัวของเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองในวันนั้นและกองกำลังติดอาวุธจำนวนหนึ่งช่วยชีวิตของเขาไว้ เช้าตรู่ในวันต่อมาเขาถูกนำพาตัวข้ามทะเลสาบพร้อมกับเพื่อนของเขาไปยังสถานที่ปลอดภัย ความพยายามของเขาครั้งแรกที่จะประกาศทั่วกรุงเจนิวาจึงสิ้นสุดลง {GC 232.1} GCth17 196.1

สำหรับการทดลองในครั้งต่อมา พระองค์ทรงเลือกใช้เครื่องมือที่ต่ำต้อยกว่านี้ เป็นชายหนุ่มคนหนึ่ง มีรูปลักษณ์ที่ต่ำต้อยมากจนผู้ที่อ้างว่าเป็นผู้ฝักใฝ่งานการปฏิรูปศาสนาก็ยังปฏิบัติต่อเขาอย่างเย็นชา แต่คนเช่นนี้จะทำอะไรได้ในตำแหน่งที่แม้แต่ฟาเรลก็ไม่เป็นที่ยอมรับ คนที่มีความกล้าหาญและประสบการณ์น้อยนิดจะต้านทานพายุที่โหมกระหน่ำจนคนแข็งแกร่งและกล้าหาญที่สุดยังต้องหนีไปแล้วได้อย่างไร พระเจ้าตรัสว่า “ไม่ใช่ด้วยกำลัง ไม่ใช่ด้วยฤทธานุภาพ แต่ด้วยวิญญาณของเรา พระยาห์เวห์จอมทัพตรัสดังนี้แหละ” เศคาริยาห์ 4:6 “แต่พระเจ้าได้ทรงเลือกพวกที่โลกถือว่าโง่เพื่อทำให้พวกมีปัญญาอับอาย” “เพราะความเขลาของพระเจ้ายังมีปัญญายิ่งกว่าปัญญาของมนุษย์ และความอ่อนแอของพระเจ้าก็ยังมีกำลังมากยิ่งกว่ากำลังของมนุษย์” 1 โครินธ์ 1:27, 25 {GC 232.2} GCth17 196.2

โฟรเมนต์ [Froment] เริ่มทำงานด้วยการเป็นครู สัจธรรมที่เขาสอนให้นักเรียนในโรงเรียนถูกนำไปเล่าต่ออีกครั้งที่บ้าน ไม่นานต่อมาพ่อแม่ก็มาฟังเขาอธิบายพระคัมภีร์จนกระทั่งผู้ที่สนใจนั่งฟังกันเต็มห้องเรียน มีการแจกพระคัมภีร์ใหม่และใบปลิวอย่างเสรีและแจกไปถึงคนอีกมากมายที่ไม่กล้าเข้ามาฟังหลักคำสอนใหม่อย่างเปิดเผย ผ่านไประยะหนึ่ง คนงานเหล่านี้ก็ถูกกดดันให้ต้องหนีเอาตัวรอดเหมือนกัน แต่สัจธรรมที่เขาสอนฝังลึกเข้าไปอยู่ในสมองของประชาชนเสียแล้ว การปฏิรูปศาสนาถูกปลูกลงไปแล้วและพัฒนาแข็งแกร่งและขยายออกไปอย่างต่อเนื่อง นักเทศน์ทั้งหลายเดินทางกลับมาและด้วยความพากเพียรอุตสาหะของพวกเขา ในที่สุดการนมัสการแบบโปรเตสแตนต์ได้ถูกก่อตั้งขึ้นในกรุงเจนิวา {GC 232.3} GCth17 196.3

เมืองนี้ประกาศตัวที่จะปฏิรูปศาสนาแล้วเมื่อคาลวินก้าวเข้าประตูเมืองมาหลังจากพเนจรไปตามที่ต่างๆ และมีชีวิตที่ขึ้นๆ ลงๆ เมื่อเขาเดินทางกลับจากบ้านเกิดในครั้งหลังสุด ในขณะที่กำลังเดินทางไปกรุงบาเซล เมื่อเขาทราบว่าเส้นทางตรงถูกกองกำลังของจักรพรรดิชาร์ลส์ที่ 5 ครอบครองอยู่ เขาจึงต้องใช้เส้นทางอ้อมโดยทางกรุงเจนิวา {GC 233.1} GCth17 197.1

ในการมาเยือนครั้งนี้ ฟาเรลรู้ว่าเขาพบพระหัตถ์ของพระเจ้าแล้ว แม้กรุงเจนิวารับความเชื่อของการปฏิรูปแล้วก็ตาม แต่ที่นี่ยังมีงานมากมายที่ต้องทำ มนุษย์ไม่ได้กลับใจกันเป็นหมู่คณะแต่รอดกันเป็นรายบุคคล งานของการบังเกิดใหม่จะต้องทำกันในใจและจิตใต้สำนึกโดยฤทธานุภาพของพระวิญญาณบริสุทธิ์ ไม่ใช่โดยคำสั่งของสภาต่างๆ ในขณะที่ประชาชนของกรุงเจนิวาปัดทิ้งอำนาจของโรมไปแล้ว พวกเขายังไม่พร้อมที่จะละทิ้งความชั่วที่เฟื่องฟูสมัยอยู่ใต้การปกครองของเธอ การจะสถาปนาหลักการบริสุทธิ์ของข่าวประเสริฐที่นี่และการเตรียมประชาชนให้เข้ามาทำหน้าที่ต่างๆ อย่างคู่ควรตามที่เห็นว่าพระเจ้าทรงกำลังเรียกพวกเขานั้นไม่ใช่ภารกิจที่ง่ายเลย {GC 233.2} GCth17 197.2

ฟาเรลมั่นใจว่าคาลวินเป็นผู้ที่เขาเองจะทำงานนี้ร่วมกันได้ ในพระนามของพระเจ้าเขาอ้อนวอนอย่างเอาจริงเอาจังให้นักเทศน์หนุ่มพำนักและทำงานที่นี่ คาลวินถึงกับผงะหงายไปเล็กน้อยด้วยความตื่นตกใจ เขาเป็นคนขี้อายและรักสงบ เขาเก็บตัวออกห่างจากท่าทีอันอาจหาญ ไม่ต้องการพี่งผู้อื่นและแม้กระทั่งความรุนแรงของชาวเจนิวาคนนี้ สุขภาพที่อ่อนแอรวมทั้งนิสัยที่ขยันของเขาเรียกร้องให้เขาเกษียณตนเอง เขาเชื่อว่าด้วยการใช้ปากกาเขาจะทำงานรับใช้อุดมการณ์ของการปฏิรูปได้ดีกว่า เขาต้องการหาที่พักสงบเงียบเพื่อศึกษาและสอนและสร้างคริสตจักรโดยทางสื่อสิ่งพิมพ์ แต่คำให้สติอย่างเอาจริงเอาจังของฟาเรลที่มาถึงเขานั้นเป็นเช่นดั่งเสียงเรียกจากสวรรค์และเขาไม่กล้าปฏิเสธ เขาพูดว่าดูประหนึ่ง “พระหัตถ์ของพระเจ้าทรงยื่นลงมาจากสวรรค์และมาวางอยู่บนตัวเขาและตรึงเขาอย่างเพิกถอนไม่ได้ให้ติดแน่นอยู่กับสถานที่ซึ่งเขาร้อนใจต้องการหนีไปให้พ้น” D’Aubigné, History of the Reformation in Europe in the Time of Calvin เล่มที่ 9 บทที่ 17 {GC 233.3} GCth17 197.3

ในเวลานี้ ภัยอันตรายรุนแรงมาล้อมกรอบแนวอุดมการณ์ของโปรเตสแตนต์ คำประณามของพระสันตะปาปาดังกระหึ่มลงมายังกรุงเจนิวาและประเทศมหาอำนาจขู่ที่จะทำลาย เมืองเล็กๆ นี้จะต้านอำนาจสภาการปกครองของสงฆ์ที่บ่อยครั้งบังคับพระราชาและจักรพรรดิให้ยอมจำนนมาแล้วได้อย่างไร เมืองนี้จะต้านกองกำลังทหารของผู้พิชิตยิ่งใหญ่ของโลกได้อย่างไร {GC 234.1} GCth17 198.1

ตลอดทุกยุคสมัยของโลกคริสต์ศาสนา ศัตรูน่ากลัวต่างข่มขู่นิกายโปรเตสแตนต์ ชัยชนะครั้งแรกของการปฏิรูปศาสนาผ่านไป โรมรวมพลังขึ้นมาใหม่ หวังที่จะทำลายล้างผลาญให้สำเร็จ ในช่วงเวลานี้คณะสงฆ์เยสุอิต [Order of the Jesuits] ได้ถูกก่อตั้งขึ้น เป็นคณะสงฆ์ที่โหดเหี้ยมที่สุด ไร้ธรรมะและมีอำนาจมากที่สุดในบรรดาเหล่าคณะสงฆ์ที่สนับสนุนหลักคำสอนและพิธีกรรมของระบอบเปปาซี พวกเขาตัดตัวเองขาดจากความสัมพันธ์ทางโลกและผลประโยชน์ของมนุษย์ ตายต่อการเรียกหาของความรักตามธรรมชาติ เหตุผลและจิตสำนึกไม่มีสิทธิ์ออกความเห็นใดๆ ทั้งสิ้น พวกเขาไม่สนใจกฎระเบียบ ไม่มีสัมพันธภาพ ยกเว้นกับคณะสงฆ์ของพวกเดียวกันเองและไม่มีหน้าที่อื่นใดนอกจากการแผ่ขยายอำนาจของตน (โปรดดูภาคผนวก) ข่าวประเสริฐของพระคริสต์ทำให้ผู้เชื่อเผชิญกับภัยอันตรายและทนกับความทุกข์ยากได้ ไม่ย่อท้อต่อความหนาวเหน็บ ความอดอยาก ความตรากตรำลำบากและความยากจนเพื่อเชิดชูธงแห่งสัจธรรมต่อหน้าเครื่องทรมานดึงแขนขา คุกมืดและการถูกเผาทั้งเป็น เพื่อที่จะสู้กับกลุ่มพลังเหล่านี้ได้นั้น ลัทธิเยสุอิต [Jesuitism] จึงสร้างแรงบันดาลใจแก่ผู้ติดตามของเขาด้วยความคลั่งไคล้ศาสนาเพื่อทำให้พวกเขาสามารถทนต่อภัยอันตรายต่างๆ แบบเดียวกันได้และเพื่อให้ใช้อาวุธทุกชนิดของการหลอกลวงในการต่อต้านกับฤทธานุภาพแห่งสัจธรรม ไม่มีอาชญากรรมใดที่รุนแรงเกินที่พวกเขาจะทำ ไม่มีการล่อลวงใดที่เลวทรามเกินกว่าที่พวกเขาจะปฏิบัติ พวกเขาปฏิญาณที่จะอดอยากและถ่อมตนตลอดไป เป้าหมายที่ตั้งไว้คือเพื่อแสวงหาสมบัติและอำนาจ อุทิศตนในการโค่นล้มลัทธิโปรเตสแตนต์และรื้อฟื้นนำกลับซึ่งความเกรียงไกรของการปกครองในระบบเปปาซี {GC 234.2} GCth17 198.2

เมื่อพวกเขาปรากฏตัวในฐานะสมาชิกของสมณศักดิ์ พวกเขาจะสวมเสื้อคลุมของความน่าเคารพสักการะ ไปเยี่ยมเรือนจำและโรงพยาบาล ดูแลรับใช้คนป่วยและคนยากจน แสดงออกให้เห็นว่าละทิ้งโลกและยึดถือพระนามศักดิ์สิทธิ์ของพระเยซู ออกไปทุกแห่งหนเพื่อประพฤติแต่ความเมตตา แต่เบื้องหลังกริยาท่าทางภายนอกที่ไร้ตำหนินี้ มักปกปิดจุดมุ่งหมายของการก่ออาชญากรรมและอันตรายถึงตายไว้ หลักการขั้นพื้นฐานของคณะสงฆ์นี้คือ บทสรุปสุดท้ายเป็นสิ่งที่พิสูจน์ว่าวิธีปฏิบัติเพื่อไปถึงเป้าหมายนั้นถูกต้อง โดยอาศัยหลักเกณฑ์นี้ การโกหก การลักขโมย การให้คำพยานเท็จ การลอบสังหาร ไม่เพียงเป็นบาปที่อภัยได้แต่ยังเป็นเรื่องที่น่าสรรเสริญยกย่องเมื่อเป็นการรับใช้ผลประโยชน์ของคริสตจักร ภายใต้การอำพราง ปลอมแปลงต่างๆ นานา บรรดาเยสุอิตหาวิธีเจาะเข้าไปจนถึงสำนักงานของรัฐ ไต่เต้าขึ้นไปจนถึงตำแหน่งที่ปรึกษาของพระราชาและมีส่วนในการปรับแต่งนโยบายของประเทศชาติ พวกเขาทำตัวเป็นคนรับใช้เพื่อสอดแนมความลับของเจ้านาย พวกเขาจัดตั้งวิทยาลัยต่างๆ ให้กับบรรดาเจ้าชายและผู้ครองแคว้นทั้งหลายและตั้งโรงเรียนให้กับคนทั่วไป และลูกๆ ของพ่อแม่ที่เป็นชาวโปรเตสแตนต์ถูกชักนำให้เข้ามาสัมผัสกับพิธีกรรมของระบบสันตะปาปา การแสดงออกอย่างมโหฬารตระการตาของพิธีนมัสการของชาวโรมสร้างความสับสนแก่สมองและทำให้จินตนาการพร่ามัวหลงใหลไป และด้วยเหตุนี้ เสรีภาพที่บรรพบุรุษต่อสู้เสียเลือดเนื้อถูกบรรดาลูกๆ หักหลัง นักบวชเยสุอิตขยายตัวไปทั่วยุโรปอย่างรวดเร็วและไม่ว่าจะไปที่ใดจะมีการฟื้นฟูหลักคำสอนและพิธีกรรมของระบอบเปปาซีตามมา {GC 235.1} GCth17 199.1

เพื่อเพิ่มอำนาจแก่นักบวชเยสุอิตมากขึ้น มีการตราคำสั่งให้รื้อฟื้นศาสนศาลขึ้นมาใหม่อีกครั้ง [Inquisition ศาลพิเศษตั้งขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 13 เป็นศาลที่มีอำนาจสูงสุดในการสอบสวนและพิจารณาโทษคนนอกศาสนาหรือพวกมิจฉาทิฏฐิ] (โปรดดูภาคผนวก) ถึงแม้คนทั่วไปและแม้แต่ในประเทศคาทอลิกจะรังเกียจศาสนศาลนี้ก็ตาม ผู้ปกครองในระบบสันตะปาปาก็ยังจัดตั้งศาลที่น่ากลัวนี้ขึ้นอีกครั้งและความทารุณโหดร้ายอันน่าสยดสยองเกินกว่าที่จะนำมาเปิดเผยก็เกิดขึ้นอีกครั้งในที่ลี้ลับของคุกมืดใต้ดิน ผู้ที่มีแววจะเป็นความหวังของชาติในหลายประเทศจำนวนหลายพันคน ซึ่งใสสะอาดและสูงส่งที่สุด มีสติปัญญาปราดเปรื่องและมีการศึกษามากที่สุด ศาสนาจารย์ผู้เคร่งในศาสนาและน่าศรัทธาเลื่อมใส พลเมืองที่รักชาติและขยัน นักวิชาการที่ปราดเปรื่อง ศิลปินที่มีพรสวรรค์ ช่างฝีมือที่ชำนาญ ถูกสังหารหรือบังคับกดดันให้หลบหนีไปอยู่ต่างประเทศ {GC 235.2} GCth17 199.2

โรมใช้วิธีเหล่านี้เพื่อดับความกระจ่างของการปฏิรูปศาสนาเพื่อดึงคนให้หันออกไปจากพระคัมภีร์และนำความโง่เขลาและความงมงายของยุคมืดกลับคืนมา แต่ภายใต้การอำนวยพรของพระเจ้าและการทำงานของผู้มีศีลธรรมสูงส่งที่พระเจ้าทรงเรียกให้มาสานต่องานของลูเธอร์ นิกายโปรเตสแตนต์ไม่ได้ถูกโค่นทิ้งไป พลังของงานนี้ไม่ได้มาจากความโปรดปรานหรืออาวุธของเจ้าผู้ครองแคว้นทั้งหลาย ประเทศทั้งหลายที่เล็กที่สุด ถ่อมตัวที่สุดและมีพลังน้อยที่สุด กลายมาเป็นป้อมค่ายอันแข็งแกร่ง เจนิวานครน้อยๆแห่งนี้ตั้งอยู่ท่ามกลางศัตรูมหาอำนาจที่วางแผนทำลายเธอ ประเทศฮอลลันดาที่ตั้งอยู่บนหาดทรายริมฝั่งทะเลทางภาคเหนือดิ้นรนต่อสู้กับเผด็จการของประเทศสเปนซึ่งในขณะนั้นเป็นอาณาจักรยิ่งใหญ่และมั่งคั่งที่สุด แต่ประเทศสวีเดนที่สิ้นหวังไร้ผลกลับเป็นผู้กำชัยชนะมาสู่การปฏิรูปศาสนา {GC 235.3} GCth17 199.3

เป็นเวลาเกือบสามสิบปีที่คาลวินทำงานในกรุงเจนิวา ช่วงแรกเพื่อก่อตั้งโบสถ์ที่ยึดถือคุณค่าฝ่ายศีลธรรมของพระคัมภีร์และต่อมาเพื่อความก้าวหน้าของการปฏิรูปศาสนาตลอดทั่วทวีปยุโรป วิถีของเขาในฐานะผู้นำสาธาณชนนั้นไม่ใช่ไร้ตำหนิ หรือคำสอนของเขาไม่ใช่ไร้ข้อผิดพลาด แต่เขาเป็นเครื่องมือเพื่อขยายความจริงที่สำคัญในสมัยของเขาให้กว้างไกลออกไป เพื่อถนอมรักษาหลักการของโปรเตสแตนต์ในการต้านคลื่นของหลักคำสอนและพิธีกรรมของระบอบเปปาซีที่กำลังพัดกลับมาอย่างแรง และเพื่อส่งเสริมในคริสตจักรที่รับการปฏิรูปแล้วให้ดำเนินชีวิตที่เรียบง่ายและบริสุทธิ์ แทนความหยิ่งจองหองและความเสื่อมโทรมที่คำสอนของชาวโรมฟูมฟักไว้ {GC 236.1} GCth17 200.1

จากกรุงเจนิวา สื่อสิ่งพิมพ์และครูสอนออกไปประกาศหลักคำสอนของการปฏิรูป ผู้ถูกกดขี่ในทุกดินแดนต่างมองไปยังจุดนี้เพื่อขอคำแนะนำ คำปรึกษาและกำลังใจ เมืองของคาลวินกลายเป็นสถานที่ลี้ภัยแก่นักปฏิรูปศาสนาของยุโรปตะวันตกทั้งหมดที่ถูกตามล่า ผู้ลี้ภัยหนีออกจากพายุน่ากลัวที่พัดเป็นเวลาหลายศตวรรษมายังประตูของกรุงเจนิวา ในสภาพที่อดอยาก บาดเจ็บ สูญเสียบ้านและญาติสนิท พวกเขาได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นและดูแลด้วยความเอาใจใส่และเมื่อได้พบบ้านใหม่ที่นี่แล้ว พวกเขาเป็นพระพรแก่กรุงนี้โดยการใช้ทักษะ ความรู้และความเคร่งครัดในศาสนาของพวกเขาเป็นการตอบแทน หลายคนที่มาหลบภัยที่นี่แล้วเดินทางกลับไปยังประเทศของตนเพื่อต่อต้านเผด็จการของโรม จอห์น น็อกซ์ [John Knox] นักปฏิรูปผู้กล้าหาญชาวสก็อตแลนด์ พวกพิวริตัน [Puritans สมาชิกโปรเตสแตนต์นิกายหนึ่งที่ยึดถือหลักความเคร่งครัดในศาสนา] จำนวนไม่น้อยจากประเทศอังกฤษ ชาวโปรเตสแตนต์ของประเทศฮอลลันดาและของประเทศสเปนและพวกฮิวโกน็อทส์ [Huguenots สมาชิกโปรเตสแตนต์ชาวฝรั่งเศสในยุคสมัยก่อน] จากประเทศฝรั่งเศส ได้นำคบเพลิงแห่งสัจธรรมจากกรุงเจนิวาไปส่องสว่างในดินแดนบ้านเกิดของพวกเขาที่ยังตกอยู่ในความมืด {GC 236.2} GCth17 200.2

*****