สงครามครั้งยิ่งใหญ่

26/45

บท 23 - สถานนมัสการคืออะไร

มีข้อพระคัมภีร์อยู่ข้อหนึ่งที่มีความเป็นเลิศเหนือกว่าข้อพระคัมภีร์ข้ออื่นใดที่เป็นทั้งรากฐานและเสาหลักของความเชื่อเรื่องการเสด็จกลับมาของพระคริสต์ ข้อพระคัมภีร์ข้อนี้ประกาศไว้ว่า “อยู่นานสองพันสามร้อยวัน แล้วสถานบริสุทธิ์นั้นจะได้รับการชำระ” ดาเนียล 8:14 TKJV เป็นพระคำที่คุ้นเคยของผู้เชื่อทุกคนที่เชื่อในการใกล้เสด็จมาในเร็ววันขององค์พระผู้เป็นเจ้า เป็นคำพยากรณ์ติดปากของคนนับพันที่กล่าวย้ำถึงคำพยากรณ์นี้ดุจเป็นคำขวัญของความเชื่อของพวกเขา ทุกคนรู้สึกว่า เหตุการณ์ที่บอกไว้ล่วงหน้าเป็นความคาดหวังที่สดใสที่สุด และเป็นความหวังที่พวกเขาเก็บทะนุถนอมไว้มากที่สุด คำพยากรณ์นี้สิ้นสุดลงในช่วงฤดูใบไม้ร่วงของปี ค.ศ. 1844 ชาวแอ๊ดเวนตีสทั้งหลายก็เชื่อเหมือนกับคริสเตียนอื่นๆ ทั่วทั้งโลกว่า โลกหรือพื้นที่บางส่วนในโลกนี้คือ สถานนมัสการ [Sanctuary ในพระคัมภีร์ภาษาไทยใช้คำว่า สถานนมัสการหรือสถานศักดิ์สิทธิ์หรือสถานบริสุทธิ์ เป็นสถานที่ประทับและนมัสการพระเจ้า ในสมัยพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิมในขณะที่ชนชาติอิสราเอลเดินทางอยู่ในถิ่นทุรกันดารนั้น การสร้างสถานนมัสการจะเป็นในลักษณะของพลับพลา [Tabernacle] หรือเต็นท์นัดพบ [Tabernacle of the tent of the congregation] ซึ่งเคลื่อนย้ายได้ จนเมื่อกษัตริย์ซาโลมอนสร้างเป็นอาคารถาวร จึงเปลี่ยนมาใช้คำว่าพระวิหาร (Temple)] พวกเขาเข้าใจว่าการชำระสถานนมัสการก็คือการทำให้โลกบริสุทธิ์ด้วยไฟซึ่งจะเกิดขึ้นในวันสุดท้ายที่ยิ่งใหญ่ที่สุด และเหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นเมื่อพระเยซูเสด็จมาครั้งที่สอง พวกเขาจึงสรุปว่า พระคริสต์จะเสด็จกลับมายังโลกในปี ค.ศ. 1844 {GC 409.1} GCth17 352.1

แต่เวลาที่กำหนดไว้ผ่านพ้นไป และองค์พระผู้เป็นเจ้าไม่ได้เสด็จมาปรากฏ ผู้เชื่อรู้ดีแก่ใจว่า พระคำของพระเจ้าไม่เคยผิดพลาด การแปลคำพยากรณ์ของพวกเขาคงจะผิด แต่ข้อผิดพลาดอยู่ที่ไหน หลายคนรีบตัดบทต่อปัญหาที่ยุ่งยากนี้ด้วยการปฏิเสธว่า 2300 วันไม่ได้สิ้นสุดลงในปี ค.ศ. 1844 พวกเขาหาเหตุผลให้กับเรื่องนี้ไม่ได้ นอกจากเรื่องเดียวคือพระคริสต์ไม่ได้เสด็จมาตามที่พวกเขาตั้งความหวังไว้ พวกเขาโต้ว่าหากเวลาของคำพยากรณ์นี้สิ้นสุดลงที่ ค.ศ. 1844 แล้ว พระคริสต์ก็ควรจะต้องเสด็จกลับมาชำระสถานนมัสการด้วยไฟเพื่อทำให้โลกบริสุทธิ์ และเมื่อพระองค์ไม่ได้เสด็จมา ช่วงเวลานั้นจึงยังไม่สิ้นสุด {GC 409.2} GCth17 352.2

การยอมรับข้อสรุปเช่นนี้หมายถึงการประกาศไม่ยอมรับวิธีการคำนวณช่วงเวลาของคำพยากรณ์ที่ใช้คำนวณดังที่ผ่านมา ระยะเวลา 2300 วันเริ่มต้นขึ้นเมื่อกษัตริย์อารทาเซอร์ซีสประกาศพระบัญชาให้บูรณะและสร้างกรุงเยรูซาเล็มขึ้นใหม่ในช่วงฤดูใบไม้ร่วงของปี ก.ค.ศ. [ก่อนคริสตศักราช] 457 เมื่อเอาเวลานี้เป็นจุดเริ่มต้น เราจะอธิบายเหตุการณ์ต่างๆ ทั้งหมดที่พระธรรมดาเนียล 9:25-27 บอกไว้ล่วงหน้าได้อย่างคล้องจองสมบูรณ์ที่สุด หกสิบเก้าสัปดาห์หรือช่วงเวลา 483 [69 x 7 = 483] ปีแรกของ 2300 ปีจะรวมเวลายาวนานไปจนถึงพระเมสสิยาห์ผู้ถูกเจิม การรับบัพติศมาของพระคริสต์และได้รับการเจิมโดยพระวิญญาณบริสุทธิ์ในปี ค.ศ. 27 ทำให้คำพยากรณ์นี้เกิดขึ้นจริงตรงตามที่กำหนดไว้ ในช่วงกึ่งกลางสัปดาห์ที่เจ็ดสิบ พระเมสสิยาห์ [ท่านผู้ถูกเจิม] จะถูกตัดออก ในฤดูใบไม้ผลิของปี ค.ศ. 31 พระคริสต์ทรงถูกตรึงบนกางเขนภายหลังจากที่พระองค์ทรงรับบัพติศมาแล้วเป็นเวลาสามปีครึ่ง สำหรับช่วงเวลาเจ็ดสิบสัปดาห์หรือ 490 ปีนั้นเป็นเวลาที่จัดให้แก่ชนชาวยิวโดยเฉพาะ เมื่อเวลานี้สิ้นสุดลง ชนชาตินี้ได้ประทับตราการปฏิเสธพระคริสต์ของตนเองโดยการกดขี่ข่มเหงสาวกของพระองค์ อัครสาวกจึงหันไปหาคนต่างชาติในปี ค.ศ. 34 ดังนั้นช่วง 490 ปีแรกจากระยะเวลา 2300 ปีได้ผ่านพ้นไป จึงคงเหลือ 1810 ปี เมื่อเริ่มนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 34 ไปอีก 1810 ปี ระยะเวลานี้จะไปสิ้นสุดที่ ค.ศ. 1844 ทูตสวรรค์กล่าวว่า “แล้วสถานบริสุทธิ์นั้นจะได้รับการชำระ” รายละเอียดเฉพาะเจาะจงของคำพยากรณ์ที่ผ่านมาทั้งหมดเกิดขึ้นสำเร็จจริงตรงตามเวลาที่กำหนดไว้อย่างไม่มีข้อสงสัย {GC 410.1} GCth17 353.1

ด้วยวิธีการคำนวณเวลาเช่นนี้ ทุกอย่างก็กระจ่างและประสานเข้ากันเป็นอย่างดี ยกเว้นยังมองไม่เห็นว่ามีเหตุการณ์ใดที่จะนำมาตอบคำถามเรื่องการชำระสถานนมัสการซึ่งเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1844 หากจะปฏิเสธว่าวันที่พยากรณ์ไว้ไม่ได้สิ้นสุดในช่วงเวลานั้น จะทำให้ปัญหาทั้งหมดสับสนมากยิ่งขึ้น และเป็นการปฏิเสธไม่ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตรงตามที่พยากรณ์ไว้อย่างไม่ผิดพลาด {GC 410.2} GCth17 353.2

แต่พระเจ้าทรงนำประชากรของพระองค์ในขบวนการยิ่งใหญ่แห่งการประกาศข่าวการเสด็จกลับมาของพระเยซู ฤทธานุภาพและพระรัศมีของพระองค์ร่วมสถิตอยู่กับขบวนการนี้ และพระองค์จะไม่ทรงปล่อยให้เรื่องนี้จบลงด้วยความมืดมนและความผิดหวัง หรือให้คนประณามว่าเป็นการตื่นตูมและความงมงาย พระองค์จะไม่ทรงปล่อยให้ความสงสัยและความไม่แน่นอนเกิดขึ้นกับพระคำของพระองค์ ถึงแม้มีคนจำนวนมากละทิ้งวิธีการคำนวณเวลาของคำพยากรณ์ที่แล้วมาและไม่ยอมรับที่มาของขบวนการนี้ว่าถูกต้อง แต่ยังมีคนอีกมากมายที่ไม่ยอมละทิ้งข้อเชื่อและประสบการณ์ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยพระคัมภีร์และคำพยานของพระวิญญาณของพระเจ้า พวกเขาเชื่อว่า พวกเขาใช้หลักการการแปลความหมายที่ถูกต้องในการศึกษาคำพยากรณ์ต่างๆ และเป็นหน้าที่ของพวกเขาที่จะต้องยึดความจริงที่ได้มาแล้วให้มั่นคง และดำเนินการศึกษาค้นคว้าพระคัมภีร์ในแนวทางเดียวกันต่อไป พวกเขาอธิษฐานอย่างร้อนรน ทบทวนจุดยืน และศึกษาพระคัมภีร์เพื่อค้นหาข้อผิดพลาดของพวกเขาเอง เนื่องจากพวกเขามองไม่เห็นข้อผิดพลาดในการคำนวณเวลาของคำพยากรณ์ พวกเขาจึงใส่ใจศึกษาเรื่องราวของสถานนมัสการมากยิ่งขึ้น { GC 410.3} GCth17 353.3

ในการศึกษาพระคัมภีร์ พวกเขาไม่พบหลักฐานใดที่สนับสนุนแนวคิดซึ่งเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่าโลกนี้คือสถานนมัสการ แต่พวกเขาพบคำอธิบายที่สมบูรณ์ที่สุดในพระคัมภีร์เกี่ยวกับเรื่องราวของสถานนมัสการ รวมถึงสภาพ ที่ตั้ง และพิธีการต่างๆ ของสถานนมัสการ คำพยานของผู้เขียนพระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์จารึกไว้อย่างชัดเจนและมีอยู่มากมายเกินกว่าที่จะเกิดคำถามใดๆ อัครทูตเปาโลกล่าวไว้ในจดหมายที่เขียนถึงชาวฮีบรูว่า “แม้แต่พันธสัญญาเดิมนั้นก็ยังมีกฎเกณฑ์ต่างๆ สำหรับศาสนพิธีและสำหรับสถานนมัสการในโลก เพราะว่าพลับพลาจัดเตรียมเสร็จแล้ว ในห้องชั้นนอกนั้น มีคันประทีป โต๊ะ และขนมปังเฉพาะพระพักตร์ ห้องนี้เรียกว่าวิสุทธิสถาน และข้างหลังม่านชั้นที่สองมีห้องซึ่งเรียกว่าอภิสุทธิสถาน ห้องนั้นมีแท่นทองคำสำหรับเผาเครื่องหอม และมีหีบพันธสัญญาหุ้มด้วยทองคำทุกด้าน ภายในนั้น มีโถทองคำบรรจุมานา มีไม้เท้าของอาโรนที่ออกดอกตูม และมีแผ่นศิลาจารึกพันธสัญญา เหนือหีบนั้นมีตัวเครูบแห่งพระสิริ กางปีกคลุมพระที่นั่งกรุณานั้น สิ่งเหล่านี้เราไม่อาจพรรณนาให้ละเอียดตอนนี้ได้” ฮีบรู 9:1-5 {GC 411.1} GCth17 354.1

สถานนมัสการที่เปาโลกล่าวถึงนี้หมายถึงพลับพลา [Tabernacle] ที่โมเสสสร้างขึ้นตามพระบัญชาของพระเจ้า เพื่อเป็นที่ประทับในโลกขององค์ผู้สูงสุด “ให้พวกเขาสร้างสถานนมัสการสำหรับเรา เพื่อเราจะอยู่ท่ามกลางพวกเขา” อพยพ 25:8 นี่คือพระบัญชาที่ประทานให้แก่โมเสสขณะที่เข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่บนภูเขา ชนชาติอิสราเอลเดินทางอยู่ในป่ากันดารและพลับพลานี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อให้เคลื่อนย้ายจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งได้ แต่ถึงกระนั้น พลับพลานี้ก็ยังมีโครงสร้างที่สง่างามยิ่ง ฝาผนังของพลับพลาเป็นแผ่นไม้เรียบที่หุ้มด้วยทองคำอย่างหนาและวางอยู่ในเบ้าข้อต่อที่ทำด้วยเงิน หลังคาพลับพลาทำด้วยผ้าม่านหรือผ้าคลุมหลายชั้น ชั้นนอกสุดทำด้วยหนังสัตว์ ชั้นในสุดทำจากผ้าป่านเนื้อดี มีภาพปักตัวเครูบอันสวยงาม บริเวณลานพลับพลามีแท่นเครื่องบูชาเผาทั้งตัววางอยู่ ภายในตัวพลับพลามีม่านอย่างดีและสวยงามกั้นพลับพลาออกเป็นสองส่วน เรียกว่าวิสุทธิสถานกับอภิสุทธิสถาน และม่านชนิดเดียวกันนี้ก็ใช้ปิดทางที่เข้าไปสู่ห้องแรก {GC 411.2} GCth17 354.2

ภายในวิสุทธิสถานมีคันประทีปอยู่ทางทิศใต้ของพลับพลา คันประทีปนี้มีตะเกียงเจ็ดดวงที่ส่องสว่างในสถานนมัสการทั้งกลางวันและกลางคืน ทางทิศเหนือมีโต๊ะขนมปังเฉพาะพระพักตร์ และด้านหน้าม่านที่กั้นระหว่างวิสุทธิสถานและอภิสุทธิสถานมีแท่นทองคำสำหรับเผาเครื่องหอม ทุกวันควันหอมจากแท่นบูชานี้จะลอยขึ้นไปยังเบื้องพระพักตร์พระเจ้าพร้อมกับคำอธิษฐานของชนชาติอิสราเอล {GC 412.1} GCth17 355.1

ภายในอภิสุทธิสถานมีหีบซึ่งทำจากไม้มีค่าห่อหุ้มด้วยทองคำ เป็นที่เก็บแผ่นศิลาสองแผ่นที่พระเจ้าได้ทรงจารึกพระบัญญัติสิบประการของพระองค์ไว้ เหนือหีบซึ่งเป็นฝาปิดหีบศักดิ์สิทธิ์คือพระที่นั่งกรุณา เป็นผลงานงามสง่ายิ่ง เหนือพระที่นั่งกรุณามีเครูบอยู่ 2 รูปปกคลุมไว้ เครูบแต่ละรูปจะอยู่ที่ปลายของพระที่นั่งและทั้งหมดนี้ทำด้วยทองคำบริสุทธิ์ สิ่งที่แสดงให้เห็นว่าพระเจ้าสถิตร่วมอยู่ด้วยในห้องนี้ คือ เมฆแห่งพระสิริที่อยู่ระหว่างเครูบทั้งสอง {GC 412.2} GCth17 355.2

หลังจากที่ชาวฮีบรูตั้งถิ่นฐานอยู่ในแผ่นดินคานาอันแล้ว พระวิหารที่กษัตริย์ซาโลมอนสร้างได้มาแทนที่พลับพลาหลังนี้ ถึงแม้ว่าพระวิหารนี้จะเป็นโครงสร้างถาวรและมีขนาดใหญ่กว่า แต่ก็ยังคงสัดส่วนเดียวกันไว้ และตกแต่งด้วยเครื่องใช้ที่เหมือนกัน รูปแบบของสถานนมัสการคงอยู่ในรูปแบบนี้จนถึงช่วงของการทำลายโดยชาวโรมันในช่วงปี ค.ศ. 70 ยกเว้นแต่ในช่วงของดาเนียลที่สถานนมัสการเป็นเพียงซากปรักหักพัง {GC 412.3} GCth17 355.3

นี่เป็นสถานนมัสการในโลกเพียงหลังเดียวที่พระคัมภีร์ให้รายละเอียดไว้ ซึ่งเปาโลกล่าวไว้ว่า เป็นสถานนมัสการแห่งพันธสัญญาเดิม แล้วในพันธสัญญาใหม่ไม่มีสถานนมัสการหรือ {GC 412.4} GCth17 355.4

เมื่อผู้ที่แสวงหาความจริงเปิดพระธรรมฮีบรูอ่านอีกครั้งหนึ่ง พวกเขาพบสถานนมัสการหลังที่สองหรือสถานนมัสการแห่งพันธสัญญาใหม่ เปาโลกล่าวว่า “แม้แต่พันธสัญญาเดิมนั้นก็ยังมีกฎเกณฑ์ต่างๆ สำหรับสถานนมัสการในโลก” การใช้คำว่า “ก็ยังมี” หมายความว่าเปาโลเคยอ้างถึงสถานนมัสการหลังนี้มาก่อน เมื่อเราพลิกพระคัมภีร์กลับไปยังข้อแรกของบทก่อน จะพบว่า “เรื่องที่เราพูดอยู่นี้คือ เรามีมหาปุโรหิตอย่างนี้ ผู้ประทับเบื้องขวาพระที่นั่งของพระเจ้าในสวรรค์ เป็นผู้ปฏิบัติกิจในสถานศักดิ์สิทธิ์และในพลับพลาแท้ที่องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงตั้งไว้ ไม่ใช่มนุษย์ตั้ง” ฮีบรู 8:1, 2 {GC 413.1} GCth17 356.1

ข้อพระคัมภีร์นี้เปิดเผยให้เห็นสถานศักดิ์สิทธิ์ [สถานนมัสการ] แห่งพันธสัญญาใหม่ สถานนมัสการแห่งพันธสัญญาเดิมนั้นถูกตั้งขึ้นโดยมนุษย์ ถูกสร้างขึ้นโดยโมเสส ส่วนสถานนมัสการหลังนี้ถูกตั้งขึ้นโดยองค์พระผู้เป็นเจ้า ไม่ใช่มนุษย์ ในสถานนมัสการหลังแรกนั้น ปุโรหิตในโลกเป็นผู้ประกอบพิธี แต่ในสถานนมัสการหลังนี้ พระคริสต์ผู้ทรงเป็นมหาปุโรหิตของเราทรงเป็นผู้ปฏิบัติกิจที่เบื้องขวาพระหัตถ์ของพระเจ้า สถานนมัสการหลังหนึ่งอยู่บนโลก ส่วนอีกหลังหนึ่งอยู่ในสวรรค์ {GC 413.2} GCth17 356.2

นอกจากนี้ โมเสสได้สร้างพลับพลาตามแบบอย่าง องค์พระผู้เป็นเจ้าตรัสสั่งโมเสสให้ “สร้างพลับพลาและเครื่องใช้ไม้สอยทุกชิ้นของพลับพลานั้นตามแบบที่เราแจ้งแก่เจ้าทุกประการ” และพระองค์ตรัสกำชับอีกว่า “จงระวังทำสิ่งเหล่านี้ตามแบบอย่างที่เราแจ้งแก่เจ้าบนภูเขา” อพยพ 25:9, 40 และเปาโลกล่าวว่าพลับพลาหลังแรก “เป็นเครื่องหมายของยุคปัจจุบัน การนำของถวายและเครื่องบูชามาถวายตามแบบ” นั่นคือบริเวณที่บริสุทธิ์ต่างๆ ภายในสถานนมัสการเป็น “แบบจำลองของสวรรค์” ปุโรหิตผู้ประกอบพิธีถวายตามบัญญัติปฏิบัติกิจเป็น “แบบจำลองและเงาของสิ่งที่อยู่ในสวรรค์” และ “พระคริสต์ไม่ได้เสด็จเข้าในสถานศักดิ์สิทธิ์ที่สร้างขึ้นด้วยมือมนุษย์ซึ่งถอดแบบจากของจริง แต่พระองค์เสด็จเข้าไปในสวรรค์นั้นเอง เพื่อทรงปรากฏตัวต่อพระพักตร์พระเจ้าเพื่อพวกเรา” ฮีบรู 9:9; 23; 8:5; 9:24 {GC 413.3} GCth17 356.3

สถานศักดิ์สิทธิ์ [สถานนมัสการ] ในสวรรค์ที่พระเยซูทรงปฏิบัติพระราชกิจเพื่อเราอยู่นั้นเป็นต้นแบบที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งสถานนมัสการที่โมเสสสร้างนั้นได้จำลองแบบมา พระเจ้าประทานพระวิญญาณของพระองค์ให้แก่ผู้สร้างสถานนมัสการในโลก ความสามารถทางศิลปะที่แสดงออกให้เห็นในการสร้างเป็นการแสดงออกถึงพระปรีชาสามารถของพระเจ้า ฝาผนังมีลักษณะเป็นทองคำขนาดใหญ่ สะท้อนแสงรอบทิศจากตะเกียงเจ็ดดวงของคันประทีปทองคำ โต๊ะขนมปังและแท่นเผาเครื่องหอมเปล่งประกายระยิบดังทองคำขัดเงา ม่านขนาดใหญ่ที่รวมตัวเป็นเพดานมีภาพทูตสวรรค์ที่ทอด้วยด้ายสีฟ้า สีม่วงและสีแดงเข้มเพิ่มความงามให้กับภาพนั้น และเลยผ้าม่านชั้นที่สองเข้าไปมีแสงสว่างเจิดจ้า [holy Shekinah] ปรากฏอยู่เหนือพระที่นั่งกรุณา ซึ่งเป็นการสำแดงถึงพระสิริของพระเจ้าที่สามารถมองเห็นได้ ไม่มีใครนอกจากมหาปุโรหิตเพียงผู้เดียวเท่านั้นที่จะเข้าไปยืนอยู่ต่อหน้าแสงสว่างนั้นและยังคงมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ {GC 414.1} GCth17 357.1

ความงดงามยิ่งใหญ่ของพลับพลาในโลกสะท้อนให้สายตาของมนุษย์มองเห็นพระสิริของพระวิหารในสวรรค์ ที่ซึ่งพระคริสต์ผู้ทรงนำหน้าเสด็จเข้าไปก่อนเราเพื่อปฏิบัติพระราชกิจต่อเบื้องบัลลังก์ของพระเจ้าเพื่อเรา เป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์เหนือกษัตริย์ทั้งหลาย ที่ซึ่งคนนับแสนๆ ปรนนิบัติพระองค์ คนนับล้านๆ เข้าเฝ้าพระองค์ (ดาเนียล 7:10) พระวิหารหลังนั้นซึ่งเปี่ยมล้นด้วยพระสิริของบัลลังก์นิรันดร์ เป็นที่ซึ่งมีเสราฟิมทูตผู้ปกป้องที่เต็มด้วยสง่าราศี ปกคลุมใบหน้าในขณะที่สรรเสริญพระองค์ นี่เป็นผลงานยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่ฝีมือมนุษย์เคยทำ แต่ผลงานนี้เป็นเพียงเงาที่เลือนรางของความยิ่งใหญ่และสง่างามของพระวิหารในสวรรค์ แต่กระนั้นความจริงที่สำคัญเรื่องสถานนมัสการในโลกและพิธีการต่างๆ สอนเราถึงสถานนมัสการในสวรรค์และพระราชกิจยิ่งใหญ่ที่กำลังดำเนินอยู่เพื่อความรอดของมนุษย์ {GC 414.2} GCth17 357.2

สถานนมัสการในโลกมีห้องอยู่สองห้องซึ่งจำลองมาจากบริเวณที่บริสุทธิ์ภายในสถานนมัสการบนสวรรค์ ในนิมิต อัครทูตยอห์นได้รับอนุญาตให้เห็นภาพพระวิหารของพระเจ้าในสวรรค์ เขาเห็น “คบเพลิงเจ็ดอันจุดอยู่ตรงหน้าพระที่นั่ง” วิวรณ์ 4:5 เขาเห็นทูตสวรรค์องค์หนึ่ง “ถือกระถางไฟทองคำออกมาและยืนอยู่ที่แท่นบูชา พระเจ้าประทานเครื่องหอมมากมายแก่ทูตองค์นั้น เพื่อให้ถวายร่วมกับคำอธิษฐานของธรรมิกชนทั้งหมดบนแท่นบูชาทองคำที่อยู่หน้าพระที่นั่งนั้น” วิวรณ์ 8:3 ในที่นี้ผู้เผยพระวจนะได้รับอนุญาตให้มองเห็นห้องแรกของสถานนมัสการในสวรรค์ และเขาเห็น “คบเพลิงเจ็ดอัน” และ “แท่นบูชาทองคำ” ซึ่งเทียบได้กับคันประทีปทองคำและแท่นเผาเครื่องหอมในสถานนมัสการบนโลก อีกครั้งหนึ่ง “พระวิหารของพระเจ้าในสวรรค์ก็เปิดออก” วิวรณ์ 11:19 และเขามองผ่านเข้าไปในม่านไปยังอภิสุทธิสถาน ณ ที่นี่ เขามองเห็น “หีบพันธสัญญาของพระองค์” ซึ่งเทียบได้กับหีบศักดิ์สิทธิ์ที่โมเสสสร้างขึ้นเพื่อใช้บรรจุพระบัญญัติของพระเจ้า {GC 414.3} GCth17 357.3

ด้วยประการฉะนี้ ผู้ที่ศึกษาเรื่องเหล่านี้พบข้อพิสูจน์ที่ไม่อาจโต้แย้งได้ว่ามีสถานนมัสการอยู่ในสวรรค์จริง โมเสสสร้างสถานนมัสการในโลกตามแบบที่พระเจ้าทรงเปิดเผยให้เห็น เปาโลสอนว่าแบบที่ใช้สร้างนั้นมาจากสถานนมัสการหลังแท้ในสวรรค์ และยอห์นยืนยันว่าเขาเห็นสถานนมัสการในสวรรค์ {GC 415.1} GCth17 358.1

พระวิหารในสวรรค์เป็นที่ประทับของพระเจ้า บัลลังก์ของพระองค์ถูกสถาปนาด้วยความชอบธรรมและการพิพากษา ในอภิสุทธิสถานเป็นพระบัญญัติของพระองค์ เป็นกฎบัญญัติยิ่งใหญ่ชอบธรรมที่ใช้ทดสอบมนุษยชาติทั้งปวง เหนือหีบพันธสัญญาที่ใช้บรรจุแผ่นพระบัญญัติมีพระที่นั่งกรุณาปกคลุมอยู่ พระคริสต์ทรงทูลแก้ต่างคนบาปด้วยพระโลหิตของพระองค์เองที่หน้าพระที่นั่งนี้ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการประสานความยุติธรรมเข้ากับความเมตตาในแผนการช่วยมนุษย์ให้รอด การประมวลสองสิ่งนี้มีเพียงพระปัญญาที่ไร้ขอบเขตเท่านั้นที่สามารถคิดขึ้นมาได้ และพระอำนาจที่ไม่มีขีดจำกัดสามารถทำให้สำเร็จ การประมวลนี้สร้างความฉงนและความเทิดทูนให้กับทั่วทั้งสวรรค์ เสราฟิมในสถานนมัสการบนโลกมองดูพระที่นั่งกรุณาด้วยความเคารพยำเกรง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าชาวสวรรค์ใส่ใจต่อพระราชกิจของการไถ่ให้รอด นี่เป็นความลี้ลับของพระเมตตากรุณาซึ่งเหล่าทูตสวรรค์ปรารถนาที่จะเห็น คือการที่พระเจ้ายังทรงยุติธรรมในขณะที่ทรงทำให้คนบาปที่กลับใจกลายเป็นผู้ชอบธรรม และทรงเริ่มต้นการติดต่อสัมพันธ์กับมนุษยชาติที่ล้มลงในบาปใหม่อีกครั้งหนึ่ง คือการที่พระคริสต์ทรงถ่อมตัวเพื่อช่วยฝูงชนนับไม่ถ้วนขึ้นมาจากเหวแห่งความหายนะและเอาเสื้อแห่งความชอบธรรมของพระองค์ที่ไร้ตำหนิสวมใส่ให้แก่พวกเขานั้น เพื่อให้พวกเขาเข้ามาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับทูตสวรรค์ที่ไม่เคยล้มลงในบาป และอาศัยอยู่เบื้องพระพักตร์พระเจ้าตลอดไปเป็นนิตย์ {GC 415.2} GCth17 358.2

พระราชกิจของพระคริสต์ในฐานะผู้ไกล่เกลี่ยของมนุษย์ถูกเสนอไว้ให้เห็นอย่างงดงามในคำพยากรณ์ของเศคาริยาห์ที่กล่าวถึงพระองค์ว่า พระองค์ทรงเป็น “ชายผู้ที่มีชื่อว่าพระอังกูร” ผู้เผยพระวจนะกล่าวว่า “ท่านผู้นี้แหละจะเป็นผู้สร้างพระวิหารของพระยาห์เวห์และจะรับเกียรติศักดิ์และจะนั่งและปกครองอยู่บนราชบัลลังก์ของท่านและจะมีปุโรหิตผู้หนึ่งอยู่ข้างบัลลังก์ของท่าน และมีการประสานงานกันอย่างดีระหว่างท่านทั้งสอง” เศคาริยาห์ 6:12, 13 {GC 415.3} GCth17 358.3

“ท่านผู้นี้แหละจะเป็นผู้สร้างพระวิหารของพระยาห์เวห์” ด้วยการถวายบูชาและการเป็นผู้ไกล่เกลี่ยของพระคริสต์ พระองค์จึงทรงเป็นทั้งรากฐานและผู้สร้างคริสตจักรของพระเจ้า อัครทูตเปาโลเน้นว่า พระองค์ “เป็นศิลาหัวมุม ในพระองค์นั้นทุกส่วนของโครงสร้างถูกเชื่อมต่อกันและเจริญขึ้นเป็นวิหารอันบริสุทธิ์ในองค์พระผู้เป็นเจ้า และในพระองค์นั้น พวกท่านก็กำลังถูกก่อสร้างขึ้นด้วยกันให้เป็นที่สถิตของพระเจ้าโดยพระวิญญาณ” เอเฟซัส 2:20-22 {GC 416.1} GCth17 359.1

พระองค์ “จะรับเกียรติศักดิ์” เศคาริยาห์ 6:13 พระเกียรติของการไถ่มวลมนุษย์ที่ล้มในบาปให้รอดนั้นเป็นของพระคริสต์ นี่คือบทเพลงของผู้ที่ได้รับการไถ่ที่จะถวายไปตลอดชั่วนิรันดร์ “พระองค์ทรงรักเรา ทรงปลดปล่อยเราจากบาปของเราด้วยพระโลหิตของพระองค์.....ขอพระเกียรติและอานุภาพจงมีแด่พระองค์สืบๆ ไปเป็นนิตย์” วิวรณ์ 1:5, 6 {GC 416.2} GCth17 359.2

พระองค์ “จะนั่งและปกครองอยู่บนราชบัลลังก์ของท่านและจะมีปุโรหิตผู้หนึ่งอยู่ข้างบัลลังก์ของท่าน” ในเวลานี้อาณาจักรแห่งพระสิริยังไม่ได้ถูกนำเข้ามาตั้งอยู่ “บนพระที่นั่งอันรุ่งโรจน์ของพระองค์” มัทธิว 25:31 ตราบจนกระทั่งพระราชกิจของพระองค์ในฐานะผู้ไกล่เกลี่ยจะสิ้นสุด เมื่อ “พระเจ้าจะประทานบัลลังก์ของดาวิดบรรพบุรุษของท่านให้แก่ท่าน” เป็นอาณาจักรที่ “ไม่มีวันสิ้นสุดเลย” ลูกา 1:32, 33 ในฐานะปุโรหิต บัดนี้พระคริสต์ประทับอยู่บนบัลลังก์ร่วมกับพระบิดา วิวรณ์ 3:21 พระองค์จะประทับบนบัลลังก์ร่วมกับพระเจ้าผู้ทรงดำรงอยู่เป็นนิตย์และทรงดำรงอยู่ด้วยพระองค์เอง พระองค์ทรง “แบกความเจ็บไข้ของพวกเราและหอบความเจ็บปวดของเราไป” พระองค์ “ทรงเคยถูกทดลองใจเหมือนเราทุกอย่าง ถึงกระนั้นพระองค์ก็ยังปราศจากบาป” “พระองค์จึงทรงสามารถช่วยผู้ที่ถูกทดลองได้” “ถ้าใครทำบาป เราก็มีผู้ช่วยทูลขอพระบิดาเพื่อเรา” อิสยาห์ 53:4 ฮีบรู 4:15; 2:18 1 ยอห์น 2:1 การทูลขอของพระองค์ก็คือ ด้วยพระวรกายที่ถูกแทงและแตกหัก และด้วยชีวิตที่ไร้ตำหนิ พระหัตถ์ที่มีบาดแผล สีข้างที่ถูกแทงและพระบาทที่เสียรูปอ้อนวอนเพื่อมนุษย์ผู้ล้มลงในบาป การไถ่บาปของมนุษย์ถูกซื้อด้วยราคาที่ประเมินค่าไม่ได้เช่นนั้น {GC 416.3} GCth17 359.3

“และมีการประสานงานกันอย่างดีระหว่างท่านทั้งสอง” ความรักของพระบิดาซึ่งมีไม่น้อยไปกว่าของพระบุตรเป็นบ่อน้ำพุแห่งการช่วยให้รอดสำหรับมวลมนุษย์ที่หลงหายไป พระเยซูตรัสกับสาวกก่อนเสด็จไปจากพวกเขาว่า “เราจะอ้อนวอนพระบิดาเพื่อท่าน เพราะว่าพระบิดาเองก็ทรงรักพวกท่าน” ยอห์น 16:26, 27 “พระเจ้าทรงให้โลกนี้คืนดีกันกับพระองค์โดยพระคริสต์” 2 โครินธ์ 5:19 และพระราชกิจของพระองค์ในสถานนมัสการเบื้องบนนั้นจะมี “การประสานงานกันอย่างดีระหว่างท่านทั้งสอง” “พระเจ้าทรงรักโลกดังนี้ คือได้ประทานพระบุตรองค์เดียวของพระองค์เพื่อทุกคนที่วางใจในพระบุตรนั้นจะไม่พินาศ แต่มีชีวิตนิรันดร์” ยอห์น 3:16 {GC 416.4} GCth17 359.4

คำถามที่ว่า สถานนมัสการคืออะไรนั้น พระคัมภีร์ตอบไว้อย่างชัดเจน คำว่า “สถานนมัสการ” ตามที่พระคัมภีร์ใช้นั้น ประการแรกหมายถึงพลับพลาที่โมเสสสร้างตามต้นแบบที่มีอยู่ในสวรรค์ และประการที่สองหมายถึง “พลับพลาแท้” ในสวรรค์ ฮีบรู 8:2 ซึ่งสถานนมัสการในโลกนี้ชี้เล็งไปถึง เมื่อพระคริสต์ทรงสิ้นพระชนม์ พิธีจำลองที่เป็นสัญลักษณ์ก็สิ้นสุดลง “พลับพลาแท้” ในสวรรค์คือสถานนมัสการแห่งพันธสัญญาใหม่ และในขณะที่คำพยากรณ์ในพระธรรมดาเนียล 8:14 สำเร็จตามนี้ สถานนมัสการที่กล่าวถึงในข้อนี้จะต้องเป็นสถานนมัสการแห่งพันธสัญญาใหม่ เมื่อ 2300 วันสิ้นสุดลงในปี ค.ศ. 1844 นั้น ไม่มีสถานนมัสการอยู่บนโลกมาหลายศตวรรษแล้ว ด้วยเหตุนี้ คำพยากรณ์ที่ว่า “อยู่นานสองพันสามร้อยวัน แล้วสถานบริสุทธิ์นั้นจะได้รับการชำระ” จึงชี้ไปยังสถานนมัสการในสวรรค์อย่างไม่ต้องสงสัย {GC 417.1} GCth17 360.1

แต่คำถามสำคัญที่สุดที่ยังต้องการคำตอบคือ การชำระสถานนมัสการคืออะไร การชำระนี้เป็นพิธีกรรมหนึ่งของสถานนมัสการบนโลกตามที่พระคริสตธรรมคัมภีร์เดิมบันทึกไว้ แต่มีอะไรที่อยู่ในสวรรค์ที่ต้องการการชำระ พระธรรมฮีบรูบทที่ 9 สอนเรื่องการชำระสถานนมัสการทั้งบนโลกและของสวรรค์ไว้อย่างชัดเจนว่า “เกือบทุกสิ่งได้รับการชำระให้บริสุทธิ์ได้ด้วยเลือดและถ้าไม่มีโลหิตไหลออกแล้วก็จะไม่มีการยกโทษบาปเลย เพราะฉะนั้น แบบจำลองของสวรรค์จึงจำเป็นต้องถูกชำระให้บริสุทธิ์โดยใช้เครื่องบูชาเช่นนี้ แต่ว่าของจริงจากสวรรค์นั้นต้องชำระให้บริสุทธิ์ด้วยเครื่องบูชาอันประเสริฐกว่านั้น” ฮีบรู 9:22, 23 ซึ่งคือพระโลหิตอันล้ำค่าของพระคริสต์ {GC 417.2} GCth17 360.2

การชำระทั้งในพิธีจำลองบนโลกและพิธีจริงในสวรรค์ต้องใช้เลือด ในพิธีจำลองใช้เลือดของสัตว์และในพิธีจริงใช้พระโลหิตของพระคริสต์ เปาโลกล่าวถึงเหตุผลของการชำระที่ต้องใช้เลือดว่า ถ้าไม่มีโลหิตไหลออกแล้วก็จะไม่มีการยกโทษบาปเลย การยกโทษบาปหรือการลบบาปทิ้งไปเป็นพระราชกิจที่ต้องทำให้สำเร็จ แต่บาปเข้ามาเกี่ยวข้องกับสถานนมัสการทั้งในสวรรค์และในโลกได้อย่างไร เราจะเรียนรู้เรื่องนี้ได้ด้วยการศึกษาพิธีกรรมที่เป็นสัญลักษณ์ เพราะปุโรหิตในโลกประกอบกิจ “ที่เป็นแต่แบบจำลองและเงาของสิ่งที่อยู่ในสวรรค์” ฮีบรู 8:5 {GC 417.3} GCth17 360.3

การประกอบพิธีในสถานนมัสการบนโลกประกอบด้วยสองส่วน ปุโรหิตทำพิธีในวิสุทธิสถานทุกวัน ส่วนมหาปุโรหิตจะประกอบพิธีพิเศษในการลบมลทินบาปในอภิสุทธิสถานปีละหนึ่งครั้งทั้งนี้เพื่อเป็นการชำระสถานนมัสการ วันแล้ววันเล่าคนบาปที่กลับใจจะนำเครื่องบูชาถวายมายังประตูพลับพลา สารภาพบาปของเขาพร้อมกับวางมือลงบนหัวของเหยื่อ นี่เป็นสัญลักษณ์ของการถ่ายโอนบาปจากตัวเขาไปยังเครื่องถวายบูชาที่ไร้บาป จากนั้นก็จะฆ่าสัตว์ตัวนั้น อัครทูตกล่าวไว้ว่า “ถ้าไม่มีโลหิตไหลออกแล้วก็จะไม่มีการยกโทษบาปเลย” “ชีวิตของสัตว์ทุกตัวอยู่ในเลือด” เลวีนิติ 17:11 พระบัญญัติของพระเจ้าที่ถูกละเมิดร้องทวงหาชีวิตของผู้ล่วงละเมิด เลือดเป็นสัญลักษณ์ของชีวิตที่เป็นค่าปรับ โดยที่เหยื่อนั้นแบกรับบาปของเขาแทน ปุโรหิตเอาเลือดนี้ไปยังวิสุทธิสถานและพรมใส่หน้าผ้าม่าน ด้านหลังม่านนั้นเป็นที่ตั้งของหีบซึ่งบรรจุพระบัญญัติที่คนบาปได้ล่วงละเมิด พิธีการนี้จึงเป็นสัญลักษณ์ของการโอนย้ายบาปไปสู่สถานนมัสการ แต่ในบางกรณีจะไม่มีการนำเลือดเข้าไปในวิสุทธิสถาน แต่ปุโรหิตจะรับประทานเนื้อสัตว์นั้นแทน ตามที่โมเสสได้ชี้แนะบุตรของอาโรนว่าพระเจ้าทรงให้ท่าน “แบกรับความผิดของชุมนุมชน” เลวีนิติ 10:17 พิธีทั้งสองเป็นสัญลักษณ์ของการโยกย้ายบาปจากผู้ที่กลับใจไปสู่สถานนมัสการ {GC 418.1} GCth17 361.1

พิธีเช่นนี้เกิดขึ้นวันแล้ววันเล่าตลอดทั้งปี บาปของชนชาติอิสราเอลจึงถูกถ่ายโอนไปสู่สถานนมัสการ และจึงจำเป็นต้องมีพิธีพิเศษเพื่อกำจัดบาปเหล่านี้ออกไป พระเจ้าทรงบัญชาให้ลบมลทินบาปออกไปจากห้องบริสุทธิ์แต่ละห้อง “เขาจะทำการลบมลทินของอภิสุทธิสถาน เพราะเหตุมลทินของคนอิสราเอล เพราะเหตุการณ์ล่วงละเมิด เพราะบาปทั้งสิ้นของพวกเขา และอาโรนจะทำต่อเต็นท์นัดพบซึ่งอยู่กับเขาท่ามกลางมลทินของพวกเขา” จะต้องทำการลบมลทินบาปให้กับแท่นบูชาด้วยเพื่อ “ชำระแท่นให้บริสุทธิ์พ้นมลทินของคนอิสราเอล” เลวีนิติ 16:16, 19 {GC 418.2} GCth17 361.2

ปีละครั้ง ในวันยิ่งใหญ่ของการลบมลทินบาป ปุโรหิตจะเข้าไปยังอภิสุทธิสถานเพื่อชำระสถานนมัสการ การประกอบพิธีนี้เป็นการปิดรอบของการประกอบพิธีที่ทำมาตลอดทั้งปี ในวันลบมลทินบาป มหาปุโรหิตนำแพะสองตัวมายังประตูหน้าพลับพลาและจับฉลากแพะสองตัวนั้น “ฉลากหนึ่งตกเป็นของพระยาห์เวห์ อีกฉลากหนึ่งเพื่ออาซาเซล” เลวีนิติ 16:8 แพะที่ตกเป็นของพระยาห์เวห์จะถูกฆ่าเพื่อเป็นเครื่องถวายบูชาไถ่บาปของประชาชน และมหาปุโรหิตจะนำเลือดแพะเข้าไปในม่านและพรมลงบนพระที่นั่งกรุณาและบนแท่นเผาเครื่องหอมที่อยู่หน้าม่าน {GC 419.1} GCth17 361.3

“อาโรนจะเอามือทั้งสองวางบนหัวแพะที่มีชีวิตนั้น สารภาพบาปต่างๆ ของคนอิสราเอล การล่วงละเมิดของพวกเขาทั้งหมดและให้บาปทั้งสิ้นของพวกเขาตกลงบนหัวแพะนั้น จากนั้นจงปล่อยมันเข้าไปในถิ่นทุรกันดารโดยมือของคนที่เลือกไว้ แพะนั้นจะบรรทุกความผิดทั้งหมดไปยังที่เปลี่ยว แล้วเขาก็ปล่อยให้มันเข้าถิ่นทุรกันดารไป” เลวีนิติ 16:21, 22 แพะของอาซาเซล [Scapegoat] จะไม่กลับเข้ามายังค่ายของอิสราเอลอีกต่อไป และคนที่นำแพะนี้ไปปล่อยจะต้องชำระตนเองและเสื้อผ้าของเขาด้วยน้ำก่อนที่จะกลับมายังค่าย {GC 419.2} GCth17 361.4

พิธีทั้งหมดนี้มีเป้าหมายเพื่อให้ชนชาติอิสราเอลซาบซึ้งว่าพระเจ้าทรงบริสุทธิ์ศักดิ์สิทธิ์ และพระองค์ทรงเกลียดชังบาป และยิ่งกว่านั้นเพื่อแสดงให้เห็นว่าเป็นไปไม่ได้ที่เราจะเข้าสัมผัสกับบาปโดยไม่ทำให้ตนเองเปรอะเปื้อน ในขณะที่พิธีลบมลทินบาปกำลังดำเนินอยู่ ทุกคนจะต้องถ่อมจิตใจ ธุรกิจทุกชนิดจะต้องถูกเลื่อนออกไป และชนชาติอิสราเอลทุกคนต้องใช้เวลาในวันนั้นถ่อมใจต่อเบื้องพระพักตร์พระเจ้าด้วยการอธิษฐาน อดอาหารและตรวจสอบจิตใจอย่างถี่ถ้วน {GC 419.3} GCth17 361.5

พิธีจำลองซึ่งเป็นสัญลักษณ์นี้ได้สอนบทเรียนแห่งความจริงที่สำคัญของการลบมลทินบาป มีตัวแทนหนึ่งเข้ามารับผิดแทนคนบาป แต่บาปไม่ได้ถูกลบทิ้งไปโดยเลือดของเหยื่อนั้น ด้วยวิธีนี้ หนทางหนึ่งได้ถูกจัดเตรียมไว้เพื่อโยกย้ายบาปนั้นไปยังสถานนมัสการ ด้วยการถวายเลือดเป็นเครื่องบูชาเช่นนี้ คนบาปได้ยอมรับอำนาจของธรรมบัญญัติ สารภาพความผิดในการล่วงละเมิดของตนเองและแสดงออกถึงความปรารถนาที่จะได้รับการอภัยผ่านทางความเชื่อในพระผู้ไถ่ที่จะเสด็จมา แต่เขายังไม่ได้หลุดพ้นจากการปรับโทษของพระบัญญัติโดยสิ้นเชิง ในวันลบมลทินบาป มหาปุโรหิตนำของถวายบูชาจากที่ชุมนุมชนเข้าไปยังอภิสุทธิสถานพร้อมกับเลือดสำหรับถวายบูชาและประพรมเลือดนั้นลงบนพระที่นั่งกรุณาซึ่งตั้งอยู่เหนือพระบัญญัติเพื่อเป็นการตอบสนองตามข้อเรียกร้องต่างๆ ของพระบัญญัติ หลังจากนั้นมหาปุโรหิตผู้อยู่ในฐานะของผู้ไกล่เกลี่ยจะเอาบาปมาวางบนตัวเขาเองและนำออกไปจากสถานนมัสการ เขาวางมือลงบนหัวแพะของอาซาเซล และสารภาพบาปทั้งหมดลงไปยังแพะตัวนั้น ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการโอนถ่ายบาปจากมหาปุโรหิตไปสู่แพะนั้น แล้วแพะจะนำบาปนั้นไปเสียและถือว่าบาปนั้นหมดสิ้นไปจากประชาชนตลอดกาล {GC 420.1} GCth17 362.1

พิธีดำเนินไปในลักษณะเช่นนี้เพื่อเป็น “แบบจำลองและเงาของสิ่งที่อยู่ในสวรรค์” และการปฏิบัติใดๆ ในแบบจำลองของการประกอบพิธีในสถานนมัสการบนโลกก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในการประกอบพิธีของสถานนมัสการบนสวรรค์ด้วย ภายหลังจากที่พระคริสต์เสด็จกลับไปยังสวรรค์ พระผู้ช่วยให้รอดของเราทรงเริ่มปฏิบัติพระราชกิจในฐานะมหาปุโรหิตของเรา เปาโลกล่าวว่า “เพราะว่าพระคริสต์ไม่ได้เสด็จเข้าในสถานศักดิ์สิทธิ์ที่สร้างขึ้นด้วยมือมนุษย์ซึ่งถอดแบบจากของจริง แต่พระองค์เสด็จไปในสวรรค์นั่นเอง เพื่อทรงปรากฏตัวต่อพระพักตร์พระเจ้าเพื่อเรา” ฮีบรู 9:24 {GC 420.2} GCth17 362.2

การประกอบพิธีตลอดทั้งปีของปุโรหิตในห้องแรกของสถานนมัสการ “ข้างหลังม่าน” ซึ่งใช้เป็นประตูและแยกวิสุทธิสถานออกจากลานวิหารส่วนนอกนั้น เป็นการแสดงถึงพระราชกิจการประกอบพิธีที่พระคริสต์จะทรงเข้าไปปฏิบัติภายหลังจากที่พระองค์เสด็จกลับไปยังสวรรค์แล้ว มันเป็นหน้าที่ของปุโรหิตที่ต้องปรนนิบัติอยู่ทุกวันเพื่อทูลถวายต่อเบื้องพระพักตร์พระเจ้าด้วยเลือดซึ่งเป็นเครื่องบูชาไถ่บาป และด้วยเครื่องหอมที่ลอยขึ้นไปพร้อมกับคำอธิษฐานของชนชาติอิสราเอล พระคริสต์ก็เช่นเดียวกันได้ทรงวิงวอนต่อพระบิดาเพื่อคนบาปด้วยพระโลหิตของพระองค์เอง และทรงถวายต่อพระองค์ด้วยเครื่องหอมล้ำค่าแห่งความชอบธรรมของพระองค์เองและคำอธิษฐานของผู้เชื่อที่กลับใจ นี่คือ พระราชกิจในห้องแรกภายในสถานนมัสการบนสวรรค์ {GC 420.3} GCth17 362.3

จนกว่าจะถึงเวลานั้น ความเชื่อของบรรดาสาวกของพระคริสต์ได้ติดตามพระองค์ไปในขณะที่เสด็จขึ้นสวรรค์จนเลือนหายไปจากสายตา ความหวังทั้งหลายของพวกเขารวมอยู่ที่นี่ดังที่เปาโลกล่าวว่า “ความหวังที่เรายึดนั้นเป็นเสมือนสมอที่แน่นอนและมั่นคงของจิตใจ เป็นความหวังที่นำไปสู่อภิสุทธิสถานข้างหลังม่าน ที่ที่พระเยซูทรงนำหน้าเสด็จเข้าไปก่อนแล้วเพื่อเรา เพราะพระองค์ทรงเป็นมหาปุโรหิตชั่วนิรันดร์” พระองค์ “เสด็จเข้าไปในสถานศักดิ์สิทธิ์ครั้งเดียวเป็นพอ และพระองค์ไม่ได้ทรงนำเลือดแพะและเลือดลูกวัวเข้าไป แต่ทรงนำพระโลหิตของพระองค์เองเข้าไป จึงได้มาซึ่งการไถ่บาปชั่วนิรันดร์” ฮีบรู 6:19, 20; 9:12 {GC 421.1} GCth17 363.1

พระราชกิจการประกอบพิธีในห้องแรกของสถานนมัสการได้ดำเนินอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลาสิบแปดศตวรรษแล้ว พระโลหิตของพระคริสต์ที่ถูกนำมาวิงวอนถวายเพื่อผู้เชื่อที่กลับใจได้นำมาซึ่งการให้อภัยพวกเขาและการยอมรับพวกเขาของพระบิดา แต่ถึงกระนั้น บาปทั้งหลายของพวกเขายังคงอยู่ในสมุดบันทึก เช่นเดียวกับในพิธีจำลองซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่มีงานของการลบมลทินบาปในช่วงปิดท้ายของปี ดังนั้นก่อนที่พระราชกิจของพระคริสต์เพื่อไถ่มนุษย์ให้รอดจะสำเร็จ จึงต้องมีการลบมลทินบาปเพื่อกำจัดบาปออกไปจากสถานนมัสการด้วย นี่คือพระราชกิจที่จะเริ่มต้นขึ้นเมื่อระยะเวลา 2300 วันสิ้นสุดลง ตามที่ผู้เผยพระวจนะดาเนียลกล่าวไว้ล่วงหน้าว่า ในเวลานั้น มหาปุโรหิตของเราจะเสด็จเข้าไปในอภิสุทธิสถานเพื่อปฏิบัติพระราชกิจสุดท้ายที่สำคัญยิ่งคือการชำระสถานนมัสการ {GC 421.2} GCth17 363.2

ดั่งในสมัยโบราณ บาปทั้งหลายของประชาชนถูกโอนไปยังเครื่องบูชาไถ่บาปด้วยความเชื่อ และผ่านทางเลือดของสัตว์ที่เป็นเครื่องบูชานั้น บาปได้ถูกโอนถ่ายไปยังสถานนมัสการบนโลก พิธีในพันธสัญญาใหม่ก็เช่นกัน โดยความเชื่อบาปของผู้ที่กลับใจจะถูกนำไปวางไว้กับพระคริสต์และจะโอนถ่ายไปสู่สถานนมัสการในสวรรค์ และเช่นเดียวกับที่พิธีชำระจำลองในโลกจะเสร็จสิ้นได้ด้วยการกำจัดบาปที่ทำให้สถานนมัสการเปรอะเปื้อนออกไปฉันใด การชำระจริงที่มีขึ้นในสถานนมัสการบนสวรรค์ก็จะเสร็จสิ้นได้ด้วยการกำจัดหรือลบบาปออกจากสมุดบันทึกฉันนั้น แต่ก่อนที่จะลบบาปเหล่านี้ทิ้งไปได้สำเร็จนั้น จะต้องมีการตรวจสอบสมุดบันทึกเพื่อดูว่าผู้ใดกลับใจจากบาปและเชื่อในพระคริสต์ พวกเขาจึงจะได้รับประโยชน์จากการลบมลทินบาปของพระองค์ ดังนั้น การชำระสถานนมัสการจึงมีความเกี่ยวพันกับการพิจารณาไต่สวนซึ่งเป็นพระราชกิจของการพิพากษา พระราชกิจนี้จะต้องทำให้เสร็จสิ้นก่อนพระคริสต์เสด็จมาเพื่อไถ่ประชากรของพระองค์ เมื่อพระองค์เสด็จมา พระองค์จะนำบำเหน็จมาเพื่อตอบแทนการกระทำของทุกคน วิวรณ์ 22:12 {GC 421.3} GCth17 363.3

ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่ติดตามแสงสว่างของผู้เผยพระวจนะจะพบว่า เมื่อ 2300 วันสิ้นสุดในปี ค.ศ. 1844 พระคริสต์ไม่ได้เสด็จกลับมายังโลก แต่พระองค์เสด็จเข้าไปในอภิสุทธิสถานภายในสถานนมัสการบนสวรรค์ เพื่อปฏิบัติพระราชกิจสุดท้ายแห่งการลบมลทินบาป เพื่อเตรียมการเสด็จกลับมาของพระองค์ {GC 422.1} GCth17 364.1

เป็นที่ประจักษ์ด้วยว่า ในขณะที่เครื่องถวายบูชาไถ่บาปชี้ไปยังพระคริสต์ในฐานะเป็นเครื่องบูชา และมหาปุโรหิตเป็นตัวแทนของพระคริสต์ในฐานะผู้ไกล่เกลี่ย แพะของอาซาเซลเป็นสัญลักษณ์ของซาตานผู้เป็นต้นเหตุแห่งบาป ซึ่งในที่สุดแล้ว บาปต่างๆ ของผู้ที่กลับใจอย่างแท้จริงจะถูกนำไปไว้บนมัน โดยอาศัยเครื่องบูชาไถ่บาป มหาปุโรหิตเอาบาปออกไปจากสถานนมัสการและนำไปไว้บนแพะของอาซาเซล เมื่อพระคริสต์ทรงลบบาปของประชากรของพระองค์ด้วยฤทธิ์อำนาจของพระโลหิตของพระองค์ออกจากสถานนมัสการในสวรรค์ในวันเสร็จสิ้นพระราชกิจของพระองค์แล้ว พระองค์จะทรงนำบาปเหล่านั้นไปไว้บนซาตาน ผู้ซึ่งในการดำเนินการพิพากษาจะเป็นผู้ที่ต้องรับโทษในตอนสุดท้าย แพะของอาซาเซลจะถูกนำไปปล่อยยังถิ่นที่ไม่มีผู้คนอาศัย มันจะไม่หวนกลับมาสู่ชุมนุมชนอิสราเอลอีกเลย เช่นเดียวกัน ซาตานจะถูกขับไปจากเบื้องพระพักตร์พระเจ้าและจากประชากรของพระองค์ตลอดชั่วนิรันดร์ และจะถูกทำลายทิ้งไปพร้อมกับบาปและคนบาปทั้งหลายในการทำลายครั้งสุดท้าย {GC 422.2} GCth17 364.2

*****